ไทยพบพม่า : Power Game ในยุคหลัง NLD โดย ลลิตา หาญวงษ์

ข้อความสนับสนุน CRPH เห็นได้ทั่วไปตามโซเชียลมีเดียของประชาชนพม่า

เหตุผลที่กองทัพพม่าก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่มักอ้างการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลก่อนภายใต้การบริหารงานของพรรค NLD ดูจะเป็นอะไรที่คลุมเครือ และแทบไม่มีใครในพม่าเชื่อว่าข้อหาเรื่องการทุจริตดังกล่าวจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงที่นำไปสู่รัฐประหาร…รัฐประหารที่เกิดขึ้นในยุคที่พม่ากำลังไปได้สวยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ รัฐประหารในยุคที่ผู้นำกองทัพรู้ทั้งรู้ว่าจะต้องเจอศึกใหญ่เป็นการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ รัฐประหารที่กองทัพรู้เต็มอกว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ที่สุดที่พม่าเคยเผชิญมา แต่แล้วทำไมถึงยังเกิดรัฐประหารขึ้น? กองทัพพม่าไม่ได้ประเมินสถานการณ์ก่อนหรอก? ผู้เขียนคิดว่าผู้นำในกองทัพประเมินมาอย่างดีแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เพราะพวกเขาเป็นทหาร เป็นนายพลในกองทัพ ที่ถูกฝึกฝนให้คิดตามแบบโรงเรียนนายร้อยอันทรงเกียรติแห่งเมืองปยินอูลวิน (Pyin Oo Lwin) นับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชมาเมื่อ 73 ปีก่อน หลักสูตรในโรงเรียนนายร้อยพม่าไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือแนวคิดที่ว่ากองทัพเป็นเสาหลักของชาติ และกองทัพจะต้องดำรงอยู่เหนือสถาบันอื่นใดของชาติ เพราะพม่าอาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้หากไม่มีกองทัพ หรือ “ตั๊ดม่ะด่อ” อันทรงเกียรติ

แนวคิดนี้ฝังหัวคนในกองทัพมาตั้งแต่ยุคนายพล ออง ซาน วีรบุรุษที่ขึ้นชื่อว่าปลดแอกพม่าจากการปกครองของอังกฤษ และผู้สร้างรัฐพม่ายุคใหม่ที่เป็นปึกแผ่นขึ้นมา อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงนายพล ออง ซาน คนในกองทัพพม่าก็จะแสลงใจทันที เพียงเพราะว่านายพล ออง ซาน คือพ่อบังเกิดเกล้าของด่อ ออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำพม่าและหัวหน้าพรรค NLD ที่กองทัพมองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจแลยังเป็นภัยคุกคามความสมัครสมานสามัคคีในชาติอีกด้วย ในช่วง 7 ทศวรรษมานี้ โลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก จากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าสู่ยุคสงครามเย็น ต่อด้วยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต มาจนถึงยุคที่จีนกำลังครองความเป็นใหญ่ และเราอาจจะเข้าสู่ยุคที่จีนเป็นชาติมหาอำนาจเพียงชาติเดียวที่มีอำนาจกำหนดความเป็นไปของระเบียบโลก แต่วิธีคิดของคนในกองทัพพม่ายังย่ำอยู่ที่เดิม พวกเขาไม่ได้สนใจนักว่าโลกจะหมุนไปหยุดที่ใด เพราะไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความมั่นคงของชาติอีก แล้วความมั่นคงของชาติคืออะไรกันเล่า?

ผู้เขียนเกริ่นไปบ้างแล้วว่ากองทัพพม่ามักอ้างเรื่องความมั่นคงเป็นเหตุให้รัฐประหาร นับตั้งแต่รัฐประหารครั้งแรกในปี 1962 ที่นายพล เน วิน ก็อ้างว่า อู นุ ในฐานะนายกรัฐมนตรีฝั่งพลเรือนไม่มีอำนาจและพละกำลังเพียงพอที่จะแก้ไขสงครามกลางเมือง แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ สงครามกลางเมืองและความขัดแย้งระหว่างรัฐพม่าที่ถูกครอบงำโดยกองทัพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มที่ต่อสู้ให้กลุ่มของตนสามารถบริหารจัดการงบประมาณและกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ ก็ยังไม่จบไม่สิ้น กองทัพพม่าควรถามตัวเองว่าหากกองทัพมีหน้าที่แก้ไขวิกฤตและมุ่งมั่นจะยุติข้อพิพาทกับกลุ่มชาติพันธุ์จริง เหตุใดความขัดแย้งดังกล่าวจึงดำเนินมากกว่า 7 ทศวรรษแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้

กล่าวกันว่ารัฐประหารหรือสงครามก็แล้วแต่คือธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดของกองทัพ เพราะนอกจากเม็ดเงินจากภาษีที่ต้องระดมไปกับการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกทหารจำนวนหลายแสนนายแล้ว สภาวะสงครามยังเอื้อให้กองทัพหาประโยชน์จากตลาดมืดและการค้าผิดกฎหมายได้อีกหลายอย่าง ผ่านการเจรจาและทำข้อตกลงกับกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่รัฐบาลประเทศพันธมิตรที่จ้องจะขายอาวุธกับส่งเสบียงให้ ดังนั้น สภาวะสงครามกลางเมืองในพม่าที่ดำรงอยู่มาเนิ่นนานจึงเป็นแหล่งรายได้ชั้นดีที่สุดของกองทัพ เป็นทั้งรายได้ให้คนในระดับนายพลจนถึงทหารชั้นผู้น้อย ตลอดจนนักธุรกิจที่มีเอี่ยวกับธุรกิจกองทัพ ธุรกิจที่เกิดจากความขัดแย้งจึงมีมูลค่าสูง เพราะไม่มีใครกล้าตั้งคำถาม และผู้ตั้งคำถามต่างถูกไล่ล่า ดำเนินคดี หลายคนกลายเป็นนักโทษหรือผู้ลี้ภัยทางการเมือง

Advertisement

แรงจูงใจด้านธุรกิจที่ทำให้กองทัพพม่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นที่รู้กันในวงกว้างมานานแล้ว แท้จริงแล้วหนึ่งในเหตุผลที่นำไปสู่การตัดสินใจเปิดประเทศในยุคของนายพล เต็ง เส่ง อาจเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความหอมหวานของการทดลองประชาธิปไตยที่จะนำนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่กีดกันธุรกิจของกองทัพพม่าไม่ให้เติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น สำหรับคนในกองทัพ เวลาราว 5 ปีที่พวกเขายอมให้ฝ่ายพลเรือนขึ้นมาควบคุมฝ่ายบริหาร (แม้จะไม่ได้ควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ และยังอยู่ในโอวาทของกองทัพก็ตาม) ชี้ให้เห็นว่ากองทัพไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายพลเรือน โดยเฉพาะพรรคที่มีอำนาจล้นฟ้าอย่าง NLD และด่อ ออง ซาน ซูจี ที่มีบารมีเป็นที่เคารพรักราวเทพเจ้าในวัฒนธรรมการเมืองพม่า ทำอะไรได้ตามใจชอบอีกแล้ว ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นกองทัพทำทุกอย่างเพื่อดิสเครดิตพรรค NLD และใส่ข้อหาทุจริตให้ เพราะเป็นข้อหาพวกเขาคิดว่าจะทำให้ความชอบธรรมของนักการเมืองหายไป และจะนำไปสู่การยุบพรรค NLD ในที่สุด กองทัพยังอ้างตลอดเวลาว่าความยุ่งยากที่กองทัพต้องเจอหลังรัฐประหาร ทั้งคำครหามากมายจากทั่วโลก การประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด และการบีบให้กองทัพต้องใช้กำลังปราบปรามประชาชน ก็มาจากพรรค NLD ทั้งนั้น

ภายใต้คณะรัฐมนตรีที่กองทัพตั้งขึ้นมาชุดปัจจุบัน กฎเกณฑ์หลายอย่างที่ NLD เคยตั้งไว้ก็จะถูกยกเลิก ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างพรรค NLD เคยเปลี่ยนปีงบประมาณใหม่เป็น 1 ตุลาคมถึง 30 กันยายนในปีถัดไป ในปีนี้ คณะรัฐประหารก็จะเปลี่ยนกลับมาใช้ปีงบประมาณที่เริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน และไปจบที่ 31 มีนาคมในปีหน้า และยังมีรายละเอียดอีกมากที่คณะรัฐประหารพยายามทำลายความชอบธรรมของ NLD อย่างต่อเนื่อง เช่นยังยืนยันว่า NLD โกงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 แต่ประชาชนในพม่าต่างรู้ดีว่าแม้ไม่มีการโกงการเลือกตั้ง พรรค NLD ก็จะยังชนะการเลือกตั้งทุกครั้งแบบถล่มทลายอยู่ดี เพราะประชาชนให้ความเชื่อมั่นพรรค และรักด่อ ออง ซาน ซูจี เหมือนเดิม แม้ว่าที่ผ่านมาหลายปีจะมีดราม่าและมีเรื่องที่ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับโรฮีนจา

ในอนาคตกองทัพจะยังคงนำการเลือกตั้งมาใช้ เป็นกลไกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลที่ตนสามารถชักใยอยู่เบื้องหลังได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือกองทัพจะทำลายนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่าง NLD ให้สิ้นซาก และนำนักการเมืองของตนเองหรือคนในกองทัพไปนั่งเป็นหัวโต๊ะในรัฐบาล ตลอดจนนำนักการเมืองในสังกัดตนเองไปควบคุมท้องถิ่นอีกที ตัวแปรสำคัญที่จะมีบทบาทมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กองกำลังของประชาชนที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะเริ่มสร้างสถานการณ์ ก่อวินาศกรรม และลอบสังหารฝั่งที่สนับสนุนกองทัพมากขึ้น และรัฐบาลเงาอย่าง CRPH ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับคณะรัฐประหาร แต่ผู้เขียนเห็นว่า CRPH อาจจะมีบทบาทไม่มาก เพราะคณะรัฐมนตรีในนั้นเกือบทั้งหมดยังอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ผู้ขับเคลื่อนวาระหลักในประเทศจะยังคงเป็นแอคทิวิสต์ทางการเมืองที่ยังหลบซ่อน ยังไม่ถูกจับกุมตัว และกองกำลังของนักศึกษาประชาชนที่ประกาศจะล้มล้างรัฐประหาร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image