หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์ผู้เปี่ยมล้นเมตตาธรรม

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นศิษย์พระกรรมฐาน ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ ท่านอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโร และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นหนึ่งในกองทัพธรรม อันมีท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นหัวหน้าตามคำสั่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ให้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่ธรรมภาคปฏิบัติ หรือทางด้านวิปัสสนากัมมัฎฐาน โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั่นคือ สาระสำคัญเบื้องต้นที่ผู้เขียนมีความสนใจ

ครั้งหนึ่งเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย ได้ไปกราบนมัสการ “หลวงพ่อ” และได้หนังสือ “ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร” พระผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมอันหาประมาณมิได้ จัดทำโดยมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543 เมื่อมีโอกาสอ่าน หลายรอบแล้วเห็นว่ามีคุณค่าแก่การเผยแพร่ให้อนุชนรุ่นหลังๆ ได้รู้จักพระอริยสงฆ์ ในอดีต อันควรแก่การกราบไหว้บูชา ผู้มีนามว่า พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ชาติตระกูล : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันอาทิตย์ 20 สิงหาคม 2442 ณ บ้านม่วงไข่ ตําบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านเป็นบุตรชายคนที่สองของจ้าวไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของคุณพระเสนาณรงค์ (นวล) อดีตเจ้าเมืองพรรณานิคม ฝ่ายมารดาของท่านชื่อนุ้ย เป็นบุตรีของคุณหลวงประชานุรักษ์ จะเห็นว่าท่านพระอาจารย์จึงเป็นเชื้อสายขุนนางทั้งทางฝ่ายบิดาและมารดา คงจะเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง ท่านพระอาจารย์จึงเป็นผู้รักชาติบ้านเมืองและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์มากเป็นพิเศษ

Advertisement

ตระกูลของพระอาจารย์ เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน เรียกว่า “ภูไท” หรือ “ภูไทย” ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งแรกได้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนครจ้าวไชยกุมารบิดาของพระอาจารย์เป็นผู้ที่มีคนนับหน้าถือตามาก จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ ต่อมาบิดาของท่านได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใหม่ที่บ้าน
บะทอง ซึ่งห่างจากที่เก่าไม่มากนัก และก็ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านอีก ท่านได้ดำรงตำแหน่งอยู่จนสิ้นชีพ

ชีวิตในเพศฆราวาส : พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้มีลักษณะดี มีความประพฤติเรียบร้อยและมีน้ำใจโอบอ้อมอารีมาตั้งแต่เด็ก ท่านเป็นนักเรียนเรียนดี ครั้นเรียนจบท่านคิดจะทำราชการจึงได้ติดตามพี่เขยไปยังจังหวัดขอนแก่น ซึ่งพี่เขยของท่านรับราชการในตำแหน่งปลัดขวาที่อำเภอเมืองขอนแก่น ระหว่างที่อยู่ขอนแก่นนี้ พระอาจารย์ได้สังเกตเห็นทางการทำการปราบปรามโจรผู้ร้าย มีการฆ่าฟันกัน ได้เห็นการประหารชีวิตนักโทษ ได้เห็นเจ้าเมืองกลับกลายเป็นนักโทษ ครั้นพี่เขยย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเลย พระอาจารย์ก็ติดตามไปด้วย ก็ได้เห็นเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนั้นอีก ท่านได้สติบังเกิดความเบื่อหน่ายในความยุ่งเหยิงวุ่นวายชีวิตในทางโลก ไม่แน่ไม่นอน จึงเลิกคิดที่จะทำงานรับราชการ ตัดสินใจบวชเพื่อสั่งสมบุญบารมีในทางพุทธศาสนาต่อไป

ชีวิตในเพศบรรพชิต : พ.ศ.2461 บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพนทอง บ้านบะทอง อ.พรรณนิคม จ.สกลนคร พ.ศ.2462 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายมหานิกาย ณ วัดสิทธิบังคม บ้านไร่ อ.พรรณานิคม โดยมีพระครูป้องเป็นอุปัชฌาย์ และเริ่มหัดพระกรรมฐานทันที พ.ศ.2463 ได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นครั้งแรก ประมาณเดือน 3 ข้างขึ้น ณ บ้านม่วงไข่ ได้ขอปาวารณาเป็นศิษย์พร้อมกับท่านอาญาครูดี และท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน และได้เริ่มฝึกหัดปฏิบัติพระกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์มั่นตั้งแต่บัดนั้น

พ.ศ.2464-2467 ได้พบกับท่านอาจารย์ดูลย์อตุโล ไปกราบท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโร ในรายนี้บางครั้งก็ติดตามพระอาจารย์มั่น บางครั้งก็ไปกับหมู่เพื่อนธุดงค์ ปฏิบัติพระกรรมฐานตามป่าเขาทั้งในเขตประเทศไทยและลาว ในปี พ.ศ.2468 ได้ทำการญัติกรรมเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตนิกาย ที่วัดโพธิสมกรณ์อุดรธานี เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2468 โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จุม พันธโล) เป็นอุปัชฌาย์

พรรษาที่ 1 (พ.ศ.2468) จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดอรัญวารี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย พรรษาที่ 2 (พ.ศ.2469) จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์กู่และท่านพระอาจารย์กว่า ณ บ้านดอนแดง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม พรรษาที่ 3 (พ.ศ.2470) จำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง ต.หัวตะบาบ จ.อุบลราชธานี พรรษาที่ 4 (พ.ศ.2471) จำพรรษาที่บ้านห้วยทราย อ.คำชะอี จ.นครพนม พรรษที่ 5-6 (พ.ศ.2472-2473) จำพรรษาที่ป่าช้าบ้านผือ อ.โนนทับ จ.ขอนแก่น พรรษาที่ 7 (พ.ศ.2474) จำพรรษาที่บ้านภูระงำ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น กับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ พรรษาที่ 8 (พ.ศ.2475) จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา พรรษาที่ 9-10 (พ.ศ.2476-2477) จำพรรษาที่บ้านมะรุม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา พรรษาที่ 11-19 (พ.ศ.2478-2486) จำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ต.หัวทะเล จ.นครราชสีมา พรรษาที่ 20 (พ.ศ.2487) จำพรรษาที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี พรรษาที่ 21-29 (พ.ศ.2488-2496) จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนาเวง (ปัจจุบัน คือ วัดป่าภูธรพิทักษ์ จ.สกลนคร) พรรษาที่ 30-31 (พ.ศ.2497-2498) จำพรรษาที่วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร พรรษาที่ 32 จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนางเว จ.สกลนคร พรรษาที่ 33-38 (พ.ศ.2500-2506) จำพรรษาที่วัดป่าถ้ำขาม จ.สกลนคร พรรษาที่ 39 (พ.ศ.2507) จำพรรษาที่วัดป่าธาตุนางเว จ.สกลนคร พรรษาที่ 40-52 (พ.ศ.2508-2519) จำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตราบจนมรณภาพ

กาลซึ่งมรณภาพ : พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคปอดและโรคหัวใจ ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันอังคารที่ 4 มกราคม 2520 เวลา 19.50 น. ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สิริรวมอายุได้ 77 ปี 4 เดือน 15 วัน พรรษาที่ 52

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงคารวะศพ และพระราชทานน้ำอาบศพท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันที่ 5 มกราคม 2520 เวลา 15.30 น.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันที่ 21 มกราคม 2521 เวลา 15.30 น.

และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ ปีพุทธศักราช 2525 เวลา 15.30 น.

พระผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาอันหาประมาณมิได้ : ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หรือ “หลวงปู่ฝั้น” ของบรรดาลูกศิษย์ฯ ทั้งหลายเป็นผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม อันหาประมาณมิได้ หลวงปู่จะมีเมตตาเสมอเหมือนกันหมดตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินลงมาถึงคนยากคนจนธรรมดาสามัญ ไม่ว่าผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ใหญ่ เด็กโต เด็กเล็ก พระภิกษุ สามเณร ชี เมื่อได้มาพบหลวงพ่อแล้วมีแต่ความอิ่มอกอิ่มใจกลับไป เมื่อกลับไปแล้วก็อยากกลับมาอีก ไม่รู้จักเบื่อจักพอ คราวเมื่ออยู่ใกล้หลวงปู่มีแต่ความเย็นจิตเย็นใจ ความทุกข์ความเดือนร้อนวุ่นวายใจไม่รู้ว่าหายไปไหนหมด เมื่อได้ฟังหลวงปู่เทศนา อบรมสั่งสอน ทำให้ใจมีแต่ความสงบชุ่มเย็นเบิกบานนี้เป็นความรู้สึกของบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลาย

ส่วนหลวงปู่เองก็มีความเมตตาธรรมต่อบรรดาลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่อย่างเหลือล้นไม่มีประมาณ บางครั้งพระอุปัฏฐากก็ต้องการให้หลวงปู่ได้พักผ่อนขอร้องโยมไม่ให้รบกวนหลวงปู่มากนัก แต่หลวงปู่ก็กลัวว่าอย่าไปห้ามเขา เขามาไกล เขาอยากจะมากราบหลวงปู่ให้เขาเข้ามา เป็นต้น บางครั้งหลวงปู่เองพูดว่า อย่ากวนหลวงปู่หลาย หลวงปู่เหนื่อย แต่หลวงปู่ก็ยังเมตตาสงเคราะห์ญาติโยมต่อไป นี่เป็นความเมตตาโดยแท้ของหลวงปู่ไม่ต้องการให้ผู้คนทั้งหลายที่ตั้งใจเดินทางมาหาหลวงปู่แล้วผิดหวังกลับไป

ที่โรงพยาบาลสกลนครมีตึกสงฆ์อาพาธอยู่หลังหนึ่งซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก วันหนึ่งหลวงปู่ได้ไปพบเห็นตึกสงฆ์ดังกล่าว ก็เกิดความเมตตาสงสาร จึงดำริจะสร้างตึกสงฆ์อาพาธหลังใหม่ให้ 1 หลัง ทางโรงพยาบาลได้ทราบข่าวนี้ด้วยความยินดี

วันที่ 20 สิงหาคม 2518 อันเป็นคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ได้ไปประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสงฆ์อาพาธ ณ โรงพยาบาลสกลนคร การดำเนินงานลุล่วงไปด้วยดี เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายได้ยอดเงินทั้งสิ้น 1 ล้าน 5 แสนบาท ยังมีผู้บริจาคซื้ออุปกรณ์อีก 5 แสนบาท และได้ประกอบพิธีเปิด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2519 อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ โดยหลวงปู่ฝั้นเป็นประธานเปิดเอง ตึกสงฆ์อาพาธ “ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร” ของโรงพยาบาลสกลนคร นับเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี และความเมตตาของหลวงปู่ที่มีต่อสังคมส่วนรวมแห่งนี้ตราบเท่าจนทุกวันนี้และสืบต่อไปวันข้างหน้านานเท่านาน

ต่อมาหลวงปู่ยังได้ก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลแห่งใหม่ที่ตัวอำเภอพรรณานิคม โดยหลวงปู่ออกทุนให้ 2.5 ล้านเริ่มต้น และต่อมารัฐบาลให้งบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2519 จำนวน 1,018,000 บาทสมทบ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในความมีเมตตาและเกียรติคุณคุณงามความดีของหลวงปู่ ทางการมีมติเอกฉันท์ตั้งชื่อโรงพยาบาลนี้ว่า “โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พรรณานิคม” งานก่อสร้างโรงพยาบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ หลวงปู่มามรณภาพเสียก่อน (4 มกราคม 2520) แต่บรรดาลูกศิษย์และกำลังศรัทธาของประชาชนร่วมใจ ดำเนินจนสามารถเปิดดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2520 ยอดรวมค่าใช้จ่ายก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นจำนวนเงิน 5,504,019.74 บาท และได้มีพิธีมอบให้ทางราชการรับไปดำเนินการโดยมีพระอาจารย์แปลง สนฺทโร รักษาการเจ้าอาวาส วัดป่าอุดมสมพร เป็นผู้มอบ

ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นพระสุปฏิปันโน ที่น่าเคารพบูชากราบไหว้อย่างยิ่ง เมื่อสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่ ผู้คนทั้งหลายเกือบทุกภาคของประเทศได้หลั่งไหลมาคารวะกราบไหว้เป็นประจำ แม้ล้นเกล้าสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็ทรงให้ความเคารพ เสด็จไปทรงเยี่ยมและทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่ฝั้นหลายครั้ง จึงอาจกล่าวได้ว่า “ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร” เป็นปูชนียบุคคลอันควรค่าแก่ความเคารพนับถืออย่างแท้จริง ดังคำโคลงสี่สุภาพที่ว่า

เมตตา พ่อหว่านให้ ทุกหนแห่งนา
จน หมดเรี่ยวแรงตน ไป่รั้ง
ตัว ไม่หวงกังวล แต่ทุกข์ ศิษย์พ่อ
ตาย แต่ตัว เกียรติยั้ง อยู่สิ้น กาลสมัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image