เรียนออนไลน์มีปัญหา…ครูเอกชัย มีคำตอบ โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

สัปดาห์นี้ร่างกฎหมายสำคัญจะเข้าสู่การประชุมรัฐสภาคือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตราหลายฉบับ โดยเฉพาะร่างให้ยกเลิกอำนาจวุฒิสมาชิกในการร่วมโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อพิจารณาโดยหลักคิด มองอะไรอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น เลยต้องทำใจ

ถึงอย่างไร ส.ว.ที่จะเห็นด้วยกับหลักการยกเลิกอำนาจนี้มีไม่ถึงหนึ่งในสามหรือ 84 เสียงอย่างแน่นอน ขณะที่ส่วนใหญ่ยังยินดีกับอำนาจต่อไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

หลักการที่ควรจะเป็นสำหรับประชาธิปไตยไทย คงเป็นฝันกลางวันต่อไปเช่นกัน

Advertisement

ถ้าอย่างนั้น หันมาคุยกันเรื่องการศึกษา เกิดประโยชน์กว่า เสวนากับอำนาจนิยม

เหตุจากผลสำรวจความคิดเห็น เรื่อง “หัวอกครู ผู้ปกครอง นักเรียน” กับการเรียนออนไลน์ ผลงานของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

กลุ่มตัวอย่าง 3,749 คน ระหว่างวันที่ 14-17 มิถุนายน 2564 พบว่า ประชาชนมองว่า ยังไม่พร้อมถึงร้อยละ 51.35 และการศึกษาไทยก็ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ ร้อยละ 63.30

Advertisement

สิ่งที่ครูกังวลคือ อุปกรณ์ไม่พร้อม อินเตอร์เน็ตช้า ร้อยละ 77.18 ผู้ปกครองกังวลว่าบุตรหลานจะไม่มีสมาธิ ขาดความกระตือรือร้น ร้อยละ 66.16 ตัวนักเรียนกังวลว่าจะเรียนไม่เข้าใจ ร้อยละ 74.25 และประชาชนมองว่าการเรียนออนไลน์ ผู้เรียนไม่มีสมาธิเท่าที่ควร ร้อยละ 65.80

สิ่งที่อยากให้ภาครัฐ/สถานศึกษาช่วยเหลือ คือ สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับเรียนออนไลน์ ร้อยละ 62.22 ทั้งนี้ มองว่าการเรียนออนไลน์จะกระทบต่อการศึกษาระดับชั้นปฐมวัยมากที่สุด ร้อยละ 35.57 และจะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยแย่ลง ร้อยละ 68.52

เมื่อการเรียนออนไลน์ต้องมาเป็นทางเลือกหลัก แต่ยังมีสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่มีความพร้อม จึงทำให้การเรียนออนไลน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ครั้งนี้กลับกลายเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้น

ครับ อ่านผลสำรวจแล้วสะอึก ตีแผ่ความจริงอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาอยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องยอมรับหรือไม่ แม้ว่าข้อดีก็มี แต่ข้อน่าวิตกก็ไม่น้อย ทุกฝ่ายจะหาทางแก้อย่างไร

พอดีได้อ่านมุมมองของ รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สะท้อนแนวคิด เรื่องความไม่พร้อมของสถานศึกษา เลยขออนุญาตคว้ามาแชร์ต่อ

ครูเอกชัยบอกว่า ความไม่พร้อมสำหรับการเรียน Online, On air, On demand มีอย่างน้อย 7 เรื่องที่ต้องคำนึงถึง คือ

1 อุปกรณ์การเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ทั้งหลายไม่พร้อมหรือขาดแคลนทั้งระดับสถานศึกษา ครูผู้สอน ผู้เรียนและระดับผู้ปกครอง

2 เทคนิคการสอนแบบ Online, On air, On demand ไม่ใช่ทำเหมือนการยกห้องเรียนไปไว้ที่บ้าน แล้วครูสอนแบบเหมือนสอนในห้องเรียน

3 นักเรียนที่ผู้ปกครองมีภาระทำมาหากิน ทำการค้า หรือไม่ได้ทำงานที่บ้าน จะไม่สามารถดูแลสนับสนุนบุตรหลานในการเรียนรู้แบบ Online, On air, On demand ได้เลยโดยเฉพาะนักเรียนระดับอนุบาลหรือประถมศึกษา จะเป็นภาระและความกังวลของผู้ปกครองอย่างมาก

4 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรือพัฒนาทักษะผู้เรียนบางอย่างไม่สามารถทำได้เต็มที่ด้วยระบบการสอนแบบ Online, On air หรือ On demand ถ้าผู้เรียนไม่มีโอกาสได้พบครูเพื่อฝึกจริงๆ

5 การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบองค์รวม ด้วยระบบ Online, On air หรือ On demand ทำได้ยากยิ่ง เพราะครูอาจจะเน้นแต่วิชาที่ตนเองรับผิดชอบ

6 การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ทัศนคติต่างๆ ที่ดีมีเหตุผลครูจะต้องเป็นต้นแบบพฤติกรรมให้ผู้เรียนเห็น ซึ่งการสอนแบบ Online, On air หรือ On demand ไม่สามารถทำไม่ได้เต็มที่อย่างแน่นอน

7 ผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา หรือประถมศึกษาปลายหากขาดทัศนคติหรือแนวทางนำตนเองในการเรียนรู้ Self-Directed Learner หรือ SDL ย่อมไม่สนใจการเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็น Online, On air, On demand หรือแม้กระทั่ง On site ก็ตาม

เรื่องความไม่พร้อมเป็นทั้งระบบครับ ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของสถานศึกษา ของครู ของผู้ปกครอง แม้ของผู้เรียน ดังนั้น สถานศึกษาต้องรีบดำเนินการจัดระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีโอกาสพบครูมากที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุดจากการระบาดของไวรัสโควิด ครูมีข้อเสนอแนะดังนี้ครับ

1 ครูต้องได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยเข็มแรก 100% ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชนทุกประเภท ทั้งครูไทยและครูต่างชาติโดยเร็วที่สุดภายใน 30 วันนับจากเปิดภาคเรียน 14 มิถุนายน มานี้ความหนาแน่นจำนวนนักเรียนในโรงเรียนให้แต่ละระดับสลับมาเรียน แต่ต้องจัดให้ระดับอนุบาล ประถมศึกษามาให้มากที่สุด

3 ครูและนักเรียนทุกคนนำอุปกรณ์ ช้อน ถ้วยน้ำมาเองส่วนตัวโดยเฉพาะเด็กอนุบาล (ซึ่งทำอยู่แล้วเรื่องถ้วยน้ำ ข้าวของเครื่องใช้) และประถมศึกษา มัธยมศึกษาทุกคนต้องนำมาเองจากบ้าน

4 ก๊อกน้ำทั้งหมดถ้าไม่สามารถทำความสะอาดเช็ดแอลกอฮอล์ได้สม่ำเสมอทุกชั่วโมงก็ควรเปลี่ยนเป็นระบบเซ็นเซอร์เปิดปิดหรือระบบใช้เท้าเหยียบเปิดปิดที่จุดสำคัญต่างๆ ที่นักเรียนต้องใช้ล้างมือ ประจำทุกที่ในโรงเรียน

5 ประตูเข้าออกห้องเรียนที่มีการปรับอากาศทุกห้องให้ติดระบบใช้เท้าเหยียบเพื่อเปิดแทนการใช้มือสัมผัส

6 โรงอาหารนักเรียนหรือซุ้มขายอาหาร เครื่องดื่ม คนขาย คนให้บริการทุกคนต้องสวมถุงมือพลาสติกแบบบางๆ ที่เหมือนในห้างจัดไว้ให้

7 ครู นักเรียนทุกคนต้องเข้มงวดปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและห้ามครูรวมกลุ่มทานอาหารกัน 5-6 คน แต่ต้องนั่งทานอาหารส่วนตัวให้มากที่สุด

หวังว่าผลสำรวจของสวนดุสิตกับข้อคิดจากครูเอกชัยจะทำให้กระทรวงศึกษาธิการยอมรับความจริง และเร่งกระตุ้นให้ท่านผู้นำเร่งระดมแก้ปัญหานี้โดยด่วน

ไวรัสโควิด-19 มาแล้วก็มีโอกาสไป แต่เรียนไม่รู้เรื่อง เรียนออนไลน์ล้มเหลว ผลจะติดตัวเด็กไปจนตลอดชีวิตทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image