สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” ทรงเป็นลูกชายคนโตในจำนวนลูก 9 คนของนายนับ กับนางตาล ประสัตถพงศ์ ประสูติที่บ้านตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2470 และอีก 2 วันจะถึงวาระเจริญอายุวัฒนมงคลครบรอบ 94 ปี แห่งชาติกาล ผู้เขียนขอนำพระประวัติมาบอกเล่าเพื่อเป็นพุทธบูชา ความว่า(:) ทรงศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จนทรงจบประถมศึกษาที่ 1 และทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนประชาบาลวัดพเนินพลู ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี สำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปี พ.ศ.2480 เมื่อมีพระชนมายุ 13 พรรษา จึงได้ทรงบรรพชา ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อทรงเป็นสามเณร ได้เสด็จไปทรงเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักของพระอธิการโสตถิ์ สุมิตฺโต ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีธรรมานุศาสน์ เจ้าคณะอำเภอราชบุรี จังหวัดราชบุรี ทรงสอบนักธรรมและบาลีประโยคต่างๆ ในสำนักเรียนตรีญาติได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 4 ประโยค พ.ศ.2490 ได้ทรงพบกับพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี ชักชวนให้ทรงเข้ามาพำนักเพื่อทรงศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธสถติมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร ครั้นวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2491 ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทรงได้รับพระสมณฉายาว่า “อมฺพโร” มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ขณะทรงสมณศักดิ์ที่พระเทพโมลีเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีในสำนักเรียนวัดราชบพิธ จนทรงสำเร็จเปรียญธรรม 6 ประโยค

ต่อมาได้ทรงสมัครเข้าศึกษา ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน) ทรงเป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 ทรงสำเร็จปริญญา “ศาสนศาสตรบัณฑิต” เมื่อ พ.ศ.2500 ต่อมา พ.ศ.2509 ได้ทรงเข้ารับการอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ทรงเป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก หลังจากทรงสำเร็จหลักสูตรการอบรมพระธรรมทูตแล้ว ใน พ.ศ.2510 ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) สาธารณรัฐอินเดีย จนทรงสำเร็จการศึกษามหาบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อ พ.ศ.2512

ทรงเอาพระทัยใส่ บุกเบิกกิจการพระธรรมทูตมานับแต่ยุคแรกเริ่ม ทรงเป็นหัวหน้าคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่นครซิดนีย์ รัฐนิวเชาธ์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ.2516 ได้เสด็จไปประทับ ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์ นครซิดนีย์ เพื่อทรงปฏิบัติศาสนกิจด้านการเผยแผ่ อันเป็นช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและทรงสนทนาธรรม ณ วัดพุทธรังษีสแตนมอร์อยู่เป็นประจำ เป็นปฐมเหตุให้ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในสมเด็จพระสังฆราชมานับแต่ยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระปริยัติกวี

Advertisement

สมเด็จพระสังฆราชทรงรับพระภารธุระในด้านการปกครอง ด้วยความเอาพระทัยใส่ในสรรพกิจอย่างใกล้ชิด ทรงเป็นผู้มีความละเอียดรอบคอบและถี่ถ้วนสุขุมคัมภีรภาพ ทำให้กิจการทั้งมวลที่ทรงบริหารจัดการเป็นไปอย่างเรียบ ทรงหยั่งเห็นอุบายโกศลในการบริหารพระศาสนกิจ โดยวิธีจัดสรรบุคลากรภายใต้พระสมณาณัติให้ดำรงอยู่ตามบทบาทและหน้าที่ที่เหมาะสม อันจะช่วยสนองพระภารกิจให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังมีตำแหน่งหน้าที่บางประการที่ทรงดำรง อาทิ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถติมหาสีมาราม ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต แม่กองงานพระธรรมทูต ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) ประธานกรรมการคณะธรรมยุต พระอุปัชฌาย์ นายกกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯลฯ

ทรงเป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรมและแผนกบาลี จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ทั้งปวงในราชอาณาจักร ตลอดจนจัดการธรรมศึกษาสำหรับฆราวาส ทรงพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลบุตร จึงทรงรับโรงเรียนวัดราชบพิธไว้ในพระอุปถัมภ์สืบต่อมาจากพระบูรพาจารย์ทุกยุค ในระดับอุดมศึกษา สมเด็จพระสังฆราชผู้ทรงเป็นศิษย์เก่าและเคยทรงเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมาหามกุฏราชวิทยาลัย ก็ทรงเอาพระทัยใส่พระภารธุระบริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้รุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานควบคุมดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะวัดราชบพิธ ซึ่งเป็นพระอารามประจำรัชกาลที่ 5 ด้วยพระอุตสาหวิริยภาพมาโดยตลอด ทำให้พระอารามมีความสง่างามมั่นคงเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาแห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และเป็นที่ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญศาสนกิจของบรรพชิต และคฤหัสถ์ ทั้งบุคคลภายในและบุคคลภายนอกได้อย่างสมพระบรมราชปณิธาน นอกจากวัดราชบพิธอันเป็นที่ประทับและที่พำนักของพระบุรพาจารย์และของพระองค์แล้ว ยังทรงพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อสำนักอันเป็นที่ทรงเคยศึกษาเล่าเรียนและประทับเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ จึงทรงเป็นประธานจัดหาทุนซ่อมแซมอุโบสถ สร้างศาลาการเปรียญ กุฏิ และเสนาสนะต่างๆ ของวัดตรีญาติ จังหวัดราชบุรี ซึ่งทรงเคยศึกษาพระปริยัติธรรม ณ ที่นั้น รวมถึงวัดอื่นๆ ตามที่ทรงรับไว้ในพระอุปการะอีกหลายแห่ง

Advertisement

ทรงอุปการะกิจการสาธารณสงเคราะห์มหาชนไว้เป็นอันมาก เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศน์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช (วาสนมหาเถระ) และมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

นอกจากพระปฏิปทาด้านคันถธุระที่ทรงบำเพ็ญไว้ด้วยดีแล้ว ยังทรงพอพระทัยในวัตรปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน โปรดที่จะเสด็จไปทรงบำเพ็ญสมณธรรมร่วมกับพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่เสมอ โดยเฉพาะกับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งทรงเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ทำให้ทรงสนิทสนมคุ้นเคยกับพระวิปัสสนาจารย์และพระภิกษุผู้บำเพ็ญสมณธรรมสายพระกรรมฐานสืบมาตราบจนปัจจุบันสมเด็จพระสังฆราช ทรงครองเนกขัมมปฏิปทาพรหมจริยาภิรัตอย่างบริบูรณ์ ปราศจากข้อสงสัยเคลือบแคลง พระองค์มีพระอุปนิสัยเรียบร้อยอ่อนโยน สมถะ สันโดษ เรียบง่าย มักน้อย ไม่ทรงหลงใหลในยศและลาภสักการะ ไม่โปรดลักษณะหรูหราฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ไม่มีพระประสงค์ด้านการตกแต่งประดับประดาที่ประทับและบรรดาสมณบริขาร ด้วยวัตถุอนามาสหรือของวิจิตรอลังการ ไม่โปรดใช้สอยสิ่งของที่มีรูปแบบและสีสันฉูดฉาดบาดตาเกินสมณสารูป ทรงถือข้อวัตรปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ทรงเอาพระทัยใสกวดขันพระภิกษุสามเณรในปกครอง ให้วางตนภายในกรอบของพระธรรมวินัยดุจเดียวกับที่ทรงวางพระองค์ทรงบริหารพระเดชและพระคุณอย่างได้ดุลยภาพลงตัว แม้จะทรงเข้มงวดกวดขันในพระธรรมวินัยกับพระภิกษุสามเณร แต่ก็เป็นไปด้วยน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพรหมวิหาร

สมเด็จพระสังฆราช มีพระคุณลักษณะเด่นอีกประการ คือ ทรงมีจริยาการสดใสเบิกบาน ทรงแย้มพระสรวลละไมเป็นนิจ โปรดมีพระปฏิสันถารโอภาปราศรัยกับผู้คนทั่วไปทุกชั้นทุกวัย ไม่มีพระอาการปั้นปึ่งไว้พระยศ ไม่วางพระรัศมีข่มผู้ใดด้วยพระมานะถือพระองค์ เป็นที่ซาบซึ้งชื่นใจของผู้มีโอกาสได้เฝ้าใกล้ ต่างสัมผัสถึงพระเมตตาการุณยธรรมอันไพศาลได้โดยง่าย

ทรงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ ให้ไพบูลย์งอกงามในสมณฐานันดรเรื่อยมานับแต่พระปริยัติกวี ถึงที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ใน พ.ศ.2552

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ และพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ได้ ทรงรับเป็นพระราชภารธุระในการพิทักษ์รักษาพระบวรพุทธศาสนาอันหมายรวมถึงกิจการคณะสงฆ์ ใด้ดำรงคงมั่นไพบูลย์ในสยามรัฐสีมาตลอดมานับแต่โบราณสมัย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จผ่านพิภพสืบสนองสมเด็จพระบรมชนกาธิราช เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระประมุขแห่งราชอาณาจักร เสด็จดำรงพระราชสถานะทุกประการตามรัฐธรรมนูญแล้ว ทรงดำเนินพระราชจรรยานุวัตรเยี่ยงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชในพระราชกรณียกิจด้านพระพุทธศาสนาสืบไป นับเป็นมิ่งขวัญหลักชัยของสรรพชีวิตทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ในรัฐสีมามณฑล

โดยที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2560 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นในรัชกาลปัจจุบัน มีความมาตรา 7 ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” ปรากฏแจ้งชัดว่า สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้าจักได้ทรงรับพระราชภารธุระในการพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ แก่กิจการคณะสงฆ์โดยตรงตามพระบรมราชวินิจฉัย สอดคล้องสมนัยโบราณขัตติยราชนีติ

ด้วยอานุภาพพระราชศรัทธา เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 จึงมีพระราชโองการโปรดสถาปนาให้ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองงานพระธรรมทูต นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ฯลฯ ดำรงตำแหน่งสกุลมหาสังฆปริณายก พระองค์แรกในรัชกาลปัจจุบัน เป็น สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุตปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมภูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฎ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์พ.ศ.2560

ครั้นวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2560 อันเป็นมงคลสมัยพระชนมายุ 90 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งการบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ 90 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พร้อมพระราชทานน้ำสรงด้วยพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏเป็นกรณีพิเศษ พร้อมด้วยราชสักการะพิเศษ คือ พัดแฉกงาพิเศษประดับพลอย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ นับเป็นพระเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่พระราชทานจำเพาะด้วยพระราชศรัทธา

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ทรงเป็นคารวสถานของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนมหาชนทุกหมู่เหล่า ด้วยทรงมีมหาเถรกรณธรรม มั่นคงในพรหมจรรย์ ทรงสมบูรณ์บริสุทธิ์ด้วยพระกิตติประวัติอันปราศจากมลทินโทษ ทรงถึงพร้อมด้วยพระสุขุมธรรมคัมภีรญาณในฝ่ายคันถธุระ ในขณะเดียวกันก็ทรงใฝ่พระทัยในวิปัสสนาธุระเป็นอย่างเอก ทรงพระจริยาการเรียบร้อยประณีตทุกพระอิริยาบถสมสมณสารูป ทรงผูกประสานน้ำใจสนิทสนมกลมเกลียวเกื้อกูลกิจการพระศาสนา โดยไม่ทรงเลือกคณะนิกายฝ่ายหมู่ ทรงวางพระองค์อยู่ด้วยพระเมตตาธรรมและพระอุเบกขาธรรมสม่ำเสมอ มิทรงไว้พระยศถือพระองค์ ทรงพระวิริยะในเนกขัมมปฏิปทาน่าเลื่อมใส ทรงเปี่ยมด้วยน้ำพระทัยอารีละมุนละม่อม พรั่งพร้อมด้วยพระการุณยธรรมเยือกเย็น เป็นที่สัมผัสซึ้งได้ในหมู่พุทธบริษัทผู้เคยได้เฝ้า ทรงเอาพระทัยใส่สืบสานปณิธานของพระมหาเถระในอดีต เพื่อธำรงพระบวรพุทธศาสนา สมควรแล้วที่จักได้ทรงพระสมณฐานันดรรุ่งเรืองไพโรจน์สูงสุดในพุทธจักร เป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ และเป็นหลักชัยของพุทธบริษัทไทยสืบไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image