สถานีคิดเลขที่ 12 : เชื่อหรือไม่

สถานีคิดเลขที่ 12 : เชื่อหรือไม่ ในบรรยากาศการอภิปรายในรัฐสภา

ในบรรยากาศการอภิปรายในรัฐสภาว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งต่างฝ่ายก็ได้แสดงเหตุผลตามจุดยืน และตามผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้แก้ไข และฝ่ายที่ปกป้องรัฐธรรมนูญเอาไว้อย่างสุดใจ

ในฐานะประชาชนที่นั่งฟัง เกิดคำถามตามมาว่า

เชื่อหรือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้ผ่านประชามติรับรองจากคน 16 ล้านเสียง อย่างถูกต้องชอบธรรมนำมาอ้างอิงได้ว่าไม่ควรแก้

เพราะก่อนการลงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 นั้น คนที่ออกมารณรงค์คัดค้านรัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีด้วยอำนาจรัฐบาล คสช.กันระนาว จนไม่สามารถแสดงข้อมูลอีกด้านให้ประชาชนได้มีโอกาสรับรู้

Advertisement

ทั้งในวันลงประชามติ การตั้งคำถามในประเด็นอำนาจ 250 ส.ว.ทำไมไม่เขียนชัดๆ ตรงๆ

แต่เขียนกำกวมว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

รวมไปถึงยังมีการโหมสร้างกระแส รับๆ ไปก่อนเพื่อให้มีเลือกตั้ง แล้วค่อยไปแก้ทีหลัง

Advertisement

สรุปแล้ว เชื่อหรือไม่ว่า ประชามติดังกล่าว ถูกต้องชอบธรรมเต็มเปี่ยม จนสามารถอ้างอิงได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ ฟังไปฟังมาแล้วเชื่อหรือว่า การเขียนบทเฉพาะกาลให้ 250 ส.ว.ร่วมโหวตตั้งนายกฯนั้น เขียนเอาไว้แค่เพื่อเป็นทางออกหากเกิดปัญหาเท่านั้น และถ้าหาก ส.ส.สามารถตกลงกันได้ รวมกันได้เกิน 375 เสียง ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้ โดย 250 ส.ว.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เพราะเมื่อเกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยใส่ชื่อไว้เป็นแคนดิเดตนายกฯ

บรรดา ส.ส.เก่าๆ โดนดูดมาเข้าพรรคนี้ โดยเชื่อในอุดมการณ์นโยบาย หรือถูกจูงใจว่า มี 250 ส.ว.ตุนเอาไว้ในมือแล้ว อีกแค่ 125 เสียงก็ถึง 375 แล้ว ยังไง พล.อ.ประยุทธ์ต้องเป็นนายกฯแน่ๆ มาพรรคนี้ต้องเป็นรัฐบาลแน่ๆ

ไปจนถึงกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนรับรู้ หรือมีความเข้าใจตั้งแต่ไก่โห่แล้วว่า ฝ่ายนี้มี 250 ส.ว.ปูทางเป็นนายกฯและเป็นรัฐบาลแน่ๆ

ทั้งในขั้นตอนเจรจาพรรคต่างๆ เพื่อตั้งรัฐบาล

เชื่อหรือว่า พรรคที่ถูกดูดไปร่วมนั้น ไม่มีประเด็นคะแนนเสียง 250 ส.ว.นอนรออยู่แล้ว เข้ามาเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อยนิด ในการตัดสินใจจะไปร่วมกับขั้วไหน

สรุปคือ เชื่อหรือว่า การเขียนอำนาจ 250 ส.ว.เลือกนายกฯ ไม่ได้มีผลอะไรทางการเมืองเลย แค่เขียนเอาไว้เผื่อมีปัญหาเท่านั้น

แล้วที่โจ่งแจ้งกว่านั้นคือ การโหวตของ ส.ว.ในวันเลือกนายกฯนั้น

จาก 250 ส.ว.โหวตชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ชื่อเดียวเหมือนกันหมดทั้งสิ้น 249 เสียง มีเพียงประธานวุฒิฯที่งดออกเสียงตามมารยาทเท่านั้น

แล้วที่ ส.ว.พยายามอธิบายว่า บทเฉพาะกาลให้มีวาระอยู่แค่ 5 ปี อำนาจโหวตนายกฯมีแค่ 5 ปี แป๊บๆ เดี๋ยวก็ไปแล้ว

ฟังแล้วเชื่อหรือไม่ว่า นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาอันซ่อนเร้น หลังรัฐบาลแรกอยู่ครบเทอม 4 ปี เลือกตั้งครั้งต่อไป อำนาจ ส.ว.ก็โหวตนายกฯได้อีกหน

สรุปแล้วเชื่อหรือว่า เป็นอำนาจแค่ช่วง 5 ปี ไม่ใช่อำนาจแต่งตั้งนายกฯ เพื่ออยู่ยาวนานถึง 8 ปี

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image