จังหวะ การเมือง แยกกันเดิน รวมกันตี ไปยัง ‘ประยุทธ์’

จังหวะ การเมือง แยกกันเดิน รวมกันตี ไปยัง ‘ประยุทธ์’

ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของ “ราษฎร” ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของ “ไทยไม่ทน” ณ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไม่ว่าการปรากฏขึ้นของ “ประชาชนคนไทย” ที่นางเลิ้ง
ให้ความหมายไปยัง “24 มิถุนายน”
แม้ว่าจะยังไม่ก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลง” ได้อย่างฉับพลันทันใด แต่ปรากฏการณ์นี้ดำเนินไปในกระสวนอันเด่นชัดของการเริ่มต้น
เริ่มต้นแห่ง “การเคลื่อนไหว” เริ่มต้นแห่งการ “ปักธง”
จากนางเลิ้งไปยังหน้าโรงเรียนราชวินิตอาจจำเป็นต้อง “สลายตัว” จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปถึงแยกเทวกรรมอาจจำเป็นต้อง “สลายตัว”
เหมือนกับการชุมนุมที่ “สกายวอล์ก” ก็ต้อง “ยุติ”
แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “ประชาชนคนไทย” นัดหมายอย่างไร แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า “ไทยไม่ทน” ต้องการสามัคคีคนไทยอย่างไร
นั่นก็คือ เสาร์ที่ 26 มิถุนายน

สังคมอาจมองไม่เห็นลักษณะเชื่อมโยงระหว่าง “ไทยไม่ทน” กับ “ราษฎร” แต่ที่สัมผัสได้อย่างต่อเนื่องคือการร่วมมือและประสานกับ “ประชาชนคนไทย”
มิใช่วางเป้าอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น
ตรงกันข้าม เหมือนกับ “ประชาชนคนไทย” กับ “ไทยไม่ทน” จะเคลื่อนไหวโดยการแบ่งงานกันทำอย่างเข้าใจและรู้เท่าทัน
“ประชาชนคนไทย” เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน
ขณะที่ “ประชาชนคนไทย” ต่อรองประลองกำลังอยู่หน้าโรงเรียนราชวินิต “ไทยไม่ทน” ปักหลักอยู่บริเวณแยกเทวกรรม
เมื่อสัมผัสได้ในความแข็งกร้าวจาก “หน่วยควบคุมฝูงชน”
ทั้ง “ประชาชนคนไทย” ก็ประกาศยุติการชุมนุม ทั้ง “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ก็ไม่เดินหน้าหากแต่กลับบ้าน
เสาร์ 26 มิถุนายน พร้อมหวนกลับมา

ไม่ว่า นายนิติธร ล้ำเหลือ ไม่ว่า นายจตุพร พรหมพันธุ์ มิได้เป็น “ละอ่อน” อย่างแน่นอนบนเส้นทางแห่งการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ผ่านประสบการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
จากนั้น นายนิติธร ล้ำเหลือ ก็แยกสายไปร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเป็นสารตั้งต้นให้กับมวลมหาประชาชนจากแยกอุรุพงษ์
ความจัดเจนในแบบ “ทนายนกเขา” มิใช่โชคช่วย
เช่นเดียวกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ผาดโผนไปกับพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มีบทบาทเป็นอย่างสูงตั้งแต่ “นปก.” ถึง “นปช.”
สะสมจากเดือนเมษายน 2552 เดือนพฤษภาคม 2553
ทุกอย่างที่ปรากฏผ่านการเคลื่อนไหวในวันที่ 24 มิถุนายน จึงสะท้อนอย่างเด่นชัดถึงยุทธวิธีในแบบ “แยกกันเดิน” และในที่สุดก็ “รวมกันตี”
ตีไปยังขนดหาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากสถานการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน จึงมองทะลุไปยังผลและความต่อเนื่องที่จะตามมา ไม่ว่าจะจาก “ประชาชนคนไทย” ไม่ว่าจะจาก “ไทยไม่ทน”
รวมถึงจังหวะก้าวของ “ราษฎร”
การเมืองนับจากนี้เป็นต้นไป จึงเป็นการเมืองในอีกสถานการณ์หนึ่ง ซึ่งคำประกาศ 120 วัน ทรงความหมายเป็นอย่างสูง
คำตอบจึงอยู่ที่ “เดือนตุลาคม”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image