พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ…เจ๊าหรือเจ๊ง โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ผลการประชุมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา รวม 13 ฉบับ สัปดาห์ที่แล้ว เป็นไปตามคาดหมายจริงๆ ครับ

ผ่านความเห็นชอบเพียงแค่ฉบับเดียว หลักการให้เปลี่ยนวิธีการเลือกตั้งจากใช้บัตรใบเดียว เลือกทั้งพรรค เลือกทั้งคน กลับมาเป็น 2 ใบ เลือกคนหนึ่งใบ เลือกพรรคหนึ่งใบ

อีก 12 ฉบับที่เหลือตกหมด เพราะวุฒิสมาชิกที่เห็นด้วยไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด จะผ่านได้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามหรือ 84 เสียง

สรุปรวมคือคว่ำไม่เป็นท่า โดยเฉพาะฉบับที่ 4 สุดแสบในสายตาวุฒิสมาชิก เพราะหลักการให้ตัดอำนาจโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรี มีวุฒิสมาชิกเห็นด้วยแค่ 20 คน จาก 250 คน

Advertisement

ผลที่ปรากฏสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการคงอำนาจโหวตหาตัวนายกรัฐมนตรียังเป็นความจำเป็น ภายใต้ข้ออ้างเอาไว้ถ่วงดุลกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่ตัวเองมาจากการแต่งตั้งล้วนๆ

อ้างตลอดมาว่า ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติรับรองจากประชาชนกว่า 15 ล้านเสียง โดยไม่ยอมรับความจริงในขั้นตอนการสรรหาแบบเฉไฉ ไม่ตรงไปตรงมา ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

มาตรา 269 (1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่งซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบสองคน

ประเด็นความเป็นกลางทางการเมืองนี่แหละ วิญญูชนคนไม่ได้กินแกลบรับรู้กันอยู่ กรรมการสรรหาล้วนมาจาก คสช. แถมได้รับการแต่งตั้งเข้าไปเป็นวุฒิสมาชิกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เข้าทำนอง ชงเอง กินเอง จึงถูกวิจารณ์มาตลอด ความเป็นกลางอยู่ตรงไหน มีจริงหรือไม่

ข้อแก้ตัวก็อ้ำอึ้งๆ ไปว่า เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ห้ามกรรมการสรรหาเป็นเองได้ ย่อมไม่ผิด แต่จะรู้สึกตะขิดตะขวงอยู่ในใจหรือไม่ ทุกคนรู้ใจตัวเองดีที่สุด

หลักความชอบธรรม ถูกต้อง เหมาะสม พ่ายแพ้ต่อหลักกฎหมายแบบตีความตามตัวอักษรอย่างสิ้นเชิง การเมืองเรื่องต่อท่ออำนาจจึงยังหาความสงบไม่ได้มาจนถึงวันนี้ 7 ปีกว่าแล้ว

เมื่อที่มา โครงสร้าง องค์ประกอบของวุฒิสมาชิกเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการลงมติออกมาอย่างที่รับรู้กัน ส่วนใหญ่ยังต้องคงอำนาจไว้ ประชาธิปไตยเต็มใบเมืองไทยต้องร้องเพลงรอกันต่อไป

ฉะนั้น ป่วยการที่จะร้องขอ อ้อนวอนกับเรื่องของอำนาจอันหอมหวน มาคุยกันเรื่องที่มีสาระกว่าดีกว่า

ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ซึ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาแล้ว รอการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา มีสัญญาณว่าจะเป็นปัญหาร้อนแรงระลอกใหม่

เกิดความเคลื่อนไหวในวงการครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีจดหมายเชิญชวนให้ลงชื่อคัดค้าน ขอให้ถอนออกไปเพื่อยกร่างฉบับใหม่

ประเด็นที่คัดค้านแตกต่างกันไป ส่วนของครู ว่าด้วยเรื่องใบรับรองความเป็นครูกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คำเรียกหัวหน้าสถานศึกษากับผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการยอมถอย รับข้อเรียกร้องแล้ว

ส่วนที่ทำท่าจะเป็นปัญหาต่อมาคือ ข้อเรียกร้องที่ให้กำหนดโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการไว้ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่

ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับบทเฉพาะกาลมาตรา 106 วรรคท้ายที่ว่า ทั้งนี้ ให้การบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

หากการออกกฎหมายใหม่มาเช่นนี้ บทบาท อำนาจ ของปลัดกระทรวงศึกษาธิการจะเหนือกว่าหัวหน้าแท่งอำนาจอื่น ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

บรรดาครู ผู้บริหาร ข้าราชการซึ่งอยู่ภายใต้สังกัดแท่งเหล่านี้ จึงเกิดความหวั่นไหว ไม่มั่นใจว่าอนาคตความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานของพวกตนต่อไปจะเป็นเช่นไร

ครับ ในการประชุมรัฐสภา ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจกันอีกครั้งใหญ่ ระหว่างหลักการบริหารแบบรวมศูนย์ ซิงเกิลคอมมานด์ ผ่านปลัดกระทรวงก่อนชงไปถึงรัฐมนตรีตามหลักการบริหารแนวดิ่ง กับการบริหารในรูปคณะกรรมการ ตามหลักการบริหารแนวระนาบ

ข้อดี ข้อด้อย ของแนวทางการบริหารสองรูปแบบนี้มีอย่างไร รูปแบบใดเหมาะสมกับการบริหารจัดการการศึกษา มีงานศึกษาวิจัยใดรองรับหรือไม่ สมาชิกรัฐสภาต้องมีข้อมูล และไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

ผลจะออกมาเช่นเดียวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกตีตกไปอย่างไม่เป็นท่าอีกหรือไม่

ก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนอื่นคือ ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ นักเรียนและสังคมได้อะไร เป็นหัวใจ ต้องมาก่อนอำนาจและผลประโยชน์ของบุคคล ไม่ว่าครู ผู้บริหาร หรือใครก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image