วิชาที่ประเสริฐที่สุด คือ วิชาธรรม โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“ปัญญา” หรือความรอบรู้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ปัญญา “ทางโลก” อย่างหนึ่ง กับปัญญาใน “ทางธรรม”

ปัญญาในทางโลก ได้แก่ ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ นิติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิชาที่สามารถประกอบและทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นเพื่อความสะดวกสบายในการเป็นอยู่ของบุคคลในโลกนี้ เกิดผลแก่ผู้รู้ศาสตร์นั้นๆ คือ ได้ลาภ ยศ ชื่อเสียง ตามความสามารถแก่ความรู้ของตน แต่ไม่สามารถที่จะทำให้ “พ้นทุกข์” ได้ แม้จะรู้มากมายหลายประการที่คิดสูงสุดสุด จากวิชาการทำระเบิดนิวเคลียร์ หรือทำดาวเทียมได้ แม้ปัจจุบันเป็นอยู่ ไอที ดิจิทัล โซเชียลมีเดีย ฆ่าคนด้วย “ข้อมูล” ก็ตาม ถึงอย่างนั้นผู้รู้ อย่าง สตีฟ จ๊อบส์ ฯลฯ ก็ยังพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะความรู้ทั้งหลายหรือที่เราเรียกว่า ปัญญาที่รู้ออกคือรู้ออกนอกในจากตัวเรา เพราะความรู้ทั้งหลายเหล่านี้เป็นความรู้ หรือวิชาภายใต้ “อวิชชา”

ส่วนปัญญาที่รู้เข้า คือ รู้เข้ามาในตัวเรา รู้สภาพความเป็นจริงในตัวตนของเรานี้เอง เป็นความรู้ของสภาวธรรมตามความเป็นจริงของมันเป็นอย่างไร โดยเฉพาะก็คือ รู้ในกองสังขารของเรานั้นเอง ซึ่งพูดง่ายๆ เราจะได้ยินบ่อยคำว่า “ยาววา หนาคืบ กว้างศอก” พร้อมทั้งสัญญาและใจนี้ รู้แน่แก่ใจตนเองว่าในตัวเรานี้มีแต่การ “เกิดดับ” เท่านั้น หาอะไรเป็นแก่นสารที่ควรยึดถือแม้แต่น้อย
หนึ่งไม่ ทั้งมีความเข้าใจชัดว่าตัวเรานี้เป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้น และปรุงขึ้นด้วยธาตุทั้งหก เป็นต้น และในที่สุดก็หามีตัวตนไม่

วิชาทางโลกมีมากมายเหลือคณานับ ตามความเจริญของโลกสูงขึ้นด้วย “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี” แต่ดูเหมือนยิ่งเรียนยิ่งไม่รู้อะไรเลย สับสนซับซ้อน และที่สำคัญคือ ไม่มีทางที่จะประสบความสุขอย่างแท้จริงโดยปราศจากความทุกข์ได้

Advertisement

วิชาทางธรรมนั้นเป็นวิชาที่ “ประเสริฐ” เป็นวิชาที่เรียนจนได้เพราะที่สุดของวิชาคือ ทำให้ “ผู้รู้” แล้วพ้นจากทุกข์โดยไม่ต้องเรียนอะไรจึงจัดเป็นวิชาที่ดีเลิศ และเป็นวิชาที่ทุกคนควรเร่งศึกษาให้จนจบถึงที่สุดเสียโดยเร็ว เพราะถ้าเรียนวิชาทางธรรมจบแล้ว วิชาทางโลกก็ไม่มีความหมาย รู้สึกว่าจะเป็นเรื่อง “เล็กที่สุด” ตามคติธรรมที่ว่า…

วิชาโลก เรียนเท่าไร ไม่รู้จบ
เพราะพิภพ กลมกว้างใหญ่ ลึกไพศาล
วิชาธรรม เรียนแล้วทำ จนชำนาญ
ย่อมพบพาน จุดจบ สบสุขเอยฯ

เมื่อบุคคลทำหน้าที่ของตนเองครบทั้งสองอย่างคือ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตแล้ว ก็คงเหลือหน้าที่อันสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือ ประโยชน์อย่างยิ่งของ “คน” ได้แก่ “ความสุข” เท่านั้น เพราะทุกคนในโลกนี้จะทำอะไรหรือไม่ก็ตาม จะขึ้นเหนือ หรือล่องใต้ก็ตาม จะเป็นพระสงฆ์ หรือคฤหัสถ์ จะเป็นราชา นายกรัฐมนตรี หรือวณิพก ยาจก ข้าทาสหรือมหาเศรษฐี แม้จะเป็นเทวดา หรือสัตว์เดรัจฉาน ล้วนแต่ปรารถนาความสุขอย่างยิ่งด้วยกันทั้งสิ้น ความสุขอะไรที่จัดว่าเป็นความสุขขั้นสุดยอดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ควรจะปรารถนา คำตอบคือ “พระนิพพาน” นั่นเอง เพราะ “นิพพาน” เป็นสุขซึ่งหาอะไรมาเปรียบไม่ได้ แม้พระพุทธองค์ก็ยังตรัสรับรองว่า “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” นิพพานนั่นแหละเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือสุขอย่างยิ่งนั่นแหละคือนิพพาน “หลวงพ่อพุทธทาสภิกษุ” ท่านเคยกล่าวว่า คนส่วนมากพอได้ยินคำว่านิพพานเท่านั้นก็มักส่ายหน้าบอกว่า ไม่ไหวบ้าง ทำไม่ได้บ้าง เป็นของเหลือวิสัยสำหรับคนสมัยใหม่นี้ หนักกว่านั้นคงจะเคยได้ยินว่า “เชย” มาก “โบราณ” มาก

Advertisement

เราคงเคยได้ยินได้ฟังคำสอนของ “บรรพบุรุษโบราณ” ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ นิพพานอยู่ไม่ไกล อยู่ที่ใจเราเอง”

“สวรรค์อยู่ในอก” : เรามาพิจารณาคำว่า “สวรรค์” ก็คือ อารมณ์ที่ดี ความสบาย หรือความสุข คำว่า “นรก” ก็คือ อารมณ์ที่ร้าย ความเดือดร้อน หรือ “ความทุกข์” คำว่า “อก” ก็คือ “ใจ” ส่วนนิพพาน ก็คือ ความดับกิเลสโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะได้แก่ ความดับตัณหา คือความอยากอันเป็นเครื่องร้อยสติ เย็บหัวใจสัตว์ให้ติดอยู่ เวลาใดที่เราทำความดีได้ลาภ ได้ยศ คำสรรเสริญ จากมหาชน เราก็มีความปลื้มอกปลื้มใจเป็นความสุข หรือเวลาที่อารมณ์อันดี คือ รูปที่งาม เสียงไพเราะอ่อนหวาน กลิ่นหอมหวนชนดื่ม รสที่กลมกล่อม สัมผัสถูกต้องนิ่มนวลละมุนละไม เป็นที่ถูกกับความประสงค์ของเรามากระทบเข้าก็ทำให้ใจเราเบิกบาน เป็นความสุขสำราญจัดว่า “สวรรค์เกิดขึ้นในใจของเราแล้ว” หรือใจของเราพองโตเหมือนได้ขึ้นสวรรค์แล้ว เสมือนเป็นวิมานสวยสดงดงามตระการตาเพียบพร้อมไปด้วยเทพบุตร เทพธิดาเป็นบริวาร มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันเป็น “ทิพย์” นานาประการ เมื่อเราได้ประสบแล้ว นั้นก็เป็นเพียงทำใจให้สดชื่นรื่นเริงเบิกบานเช่นเดียวกัน แต่ถ้าเราอยู่ในวิมานเช่นนั้นแล้ว จิตไม่เป็นสุข กระสับกระส่ายดิ้นรน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เราจะเอาหรือไม่เอาก็คงไม่เอาอีกเหมือนกัน

นรกในใจ : ความสุขในปัจจุบันนี้จึงเป็นความสุขควรปรารถนาหรือทำให้เกิดมีขึ้นก่อนเป็นอย่างยิ่ง ดีกว่าที่จะมัวพะวงถึงสวรรค์วิมานอันจะได้จะถึงต่อเมื่อตายไปแล้วเป็นไหนๆ ส่วนเวลาใดที่เราได้ทำความชั่วแล้ว แม้ยังไม่มีใครรู้หรือเขาจับยังไม่ได้ ใจของเราก็เดือดร้อนกระสับกระส่าย กลัวคนอื่นจะรู้ หรือกลัวเจ้าหน้าที่หรือตำรวจจะจับได้ ไม่เป็นอันกินอันนอน ครั้นผลความชั่วเกิดขึ้นอีกย่อมเป็นเหตุให้เสื่อมจากลาภ จนถึงความวิบัติ ถูกถอดจากยศ ปลดออกจากตำแหน่ง หรือถูกไล่ออก ใจของเราเป็นอย่างไร?

มันจะดิ้นทุรนทุรายยิ่งกว่าเอาปลามาเผาทั้งเป็นเสียอีก หรือเวลาอารมณ์ร้าย คือ รูปที่น่าเกลียด เช่น เป็นโรคเรื้อนเน่าเฟะ เสียงที่ดุร้าย นินทาด่าแช่ง กลิ่นศพ กลิ่นอุจจาระ ที่เหม็นเน่า รสอาหารที่แสบเผ็ด เปรี้ยวจัด ชวนเบื่อและอาเจียน สัมผัสสิ่งที่แข็งกระด้างที่สกปรกที่ร้อนจัดเย็นจัด จิตใจร้อนรุ่มไม่อยู่สุข ไม่สบาย ซึ่งไม่ถูกความประสงค์ของเรามากระทบเข้า เกิดความไม่พอใจ เกิดทุกข์หนัก เคียดแค้น ก็จัดว่านรกได้เกิดขึ้นในใจของเราแล้ว หรือว่าใจของเราได้ตกนรกแล้ว ฉะนั้นความทุกข์ในปัจจุบันนี้เป็นของที่เราควรกลัว ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ทำให้เกิดความทุกข์เดือนร้อนใจ อันเป็นเหตุให้ต้องไปเกิดความเดือดร้อนในนรกภายหน้าอีกเป็นอย่างยิ่ง

นิพพานอยู่ไม่ไกล : ส่วนนิพพานนั้นเมื่อเราเข้าถึง “ใจคน” ดังกล่าวแล้ว จิตใจของเราจะหมดความอยากได้อะไรๆ มาเป็นของตัว เบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง โดยพิจารณาเห็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่โลกเขานิยมว่าดีงาม น่าชม น่าปรารถนาก็ตาม หรือที่ว่าไม่ดี ไม่น่าชม ไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนเป็น “มายา” ทั้งสิ้น เป็นของหลอกลวงโดยสิ้นเชิง

“โลก” ชอบที่จะมีของหลอกลวงเป็นธรรมดา จึงหลงผิดอยู่ในสิ่ง “สมมุติ” กันว่าดีน่าชม น่าปรารถนานั้นตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด ความจริงส่วนที่ไม่ดีเรียกว่า “บาป” หรือ “ความชั่ว” นั้นเรายังละได้ง่าย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกับความประสงค์ของเรา แต่ส่วนที่ดีเรียกว่า “บุญ” หรือ “ความดี” นั่นสิจะได้ยากอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกับความประสงค์ของเรา ผู้ใดประสบแล้วมักจะทำให้ลุ่มหลง หากเราคิดดูให้ดีๆ ก็จะเห็นว่า “ทั้งบุญและทั้งบาป” หรือ “ทั้งดีและชั่ว” นั้นเกิดมาจากสิ่งเดียวกัน คือ เกิดมาจากความอยากหรือที่เรียกตัณหา หรือ “กิเลส” เท่านั้นเอง

ละกิเลสได้เมื่อไรก็ได้นิพพานเมื่อนั้น : ดังนั้นเราไม่ต้องห่วงในการละทั้งบุญและบาป หรือละทั้งดีและชั่วให้มากเลย เรามาทำความพยายามละ “ความอยาก” นั้นเสียอย่างเดียวเรื่องมันก็จบกันเท่านั้นเอง แต่ด้วยความอยากมันเกิดขึ้นในใจเสียจนสิ้นกลายเป็นนิสัยสันดานของทุกๆ คน แล้วจะละได้อย่างไร ข้อนี้ไม่เถียงแต่เมื่อนิพพานเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดและได้ความสุขที่สุด ทั้งอยู่ใกล้ที่สุด คือ ในใจของเรานี้เองจึงควรพยายามอย่างยิ่ง อันความอยากนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจว่ามันเป็นของไม่ดี หรือเป็นตัณหาไปเสียหมด

ความจริงความอยากที่เป็นภาษาไทยของเรามีความหมายกว้างขวางมาก ถ้าอยากอะไรเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเองหรือพวกพ้องของตัว หรือเรียกว่า “เห็นแก่ตัว” หรือพวกของตัวเองก็เป็นตัณหาของไม่ดี แต่ถ้าเป็นความอยากให้หมดกิเลสนี้เป็นความอยากที่ไม่เห็นแก่ตัวโดยที่ขึ้นชื่อว่า “กิเลส” แล้วไม่พ้นไปจากความโลภ ความโกรธ ความหลง ทั้งสามอย่างนี้ ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี ล้วนแต่เป็นสาเหตุให้ทำอะไรเพื่อประโยชน์แก่ตัวโดยเห็นแก่ตัว หรือพวกของตัวทั้งสิ้น

ฉะนั้น ความอยากให้หมดกิเลสจึงไม่เป็นตัณหา เป็นสิ่งที่ควรกระทำให้มีขึ้น แม้ความอยากได้ “นิพพาน” ก็เช่นเดียวกันไม่เป็นตัณหา เพราะนิพพานก็เป็นการดับกิเลสอย่างสิ้นเชิงอีก ฉะนั้น เราจึงควรตั้งความพยายามอยากได้พระนิพพานอย่างเดียว

กิเลส 4 กอง : คำที่ว่า “ไฟจะดับได้ก็เพราะไม่มีเชื้อ” อะไรเล่าที่เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดี ซึ่งเราคงจะได้ยินคำพ้องบ่อยๆ ว่าเชื้อโรคกองกิเลส มี 4 ก. คือ “กิน กาม เกียรติ โกง”

กิเลสตัวที่ 1 : กิน

4 ก. นี่แหละที่เชื้อโรคหรือเชื้อเพลิงอันสำคัญที่สุดที่ต้องประสบทุกวันต้องใส่เชื้อ เติมเชื้อทุกวัน วันแล้ววันเล่า เมื่อใส่เชื้อมากๆ ไฟก็จะลุกมาก เราก็ร้อนมาก หากใส่แต่น้อยหรือคอยรีบเอาเชื้อออกทีละน้อยๆ เรื่อยๆ จนในไม่ช้าเชื้อก็จะหมด แล้วไฟก็จะมอดดับไปเอง เราก็หมดความร้อน แต่เป็นของที่ทำเร็วไม่ได้ ทำรีบก็ไม่ได้ ต้องทำด้วยความพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยใช้ปัญญาอย่างชนิดพิเศษไม่ใช่ปัญญาอย่างธรรมดาสามัญ จงพยายามคิดดูว่า “การกิน” นี้ เรากินมาตั้งแต่เกิด คือ พอคลอดออกมาจากท้องแม่ก็กินทีเดียวจนกระทั่งถึงบัดนี้ เรากินมากี่สิบปีแล้ว และกินอย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง สมมุติว่าตอนนี้เราอายุ 50 ปี ปีหนึ่งมี 365 วัน 50 ปี เป็น 18,250 วัน กินวันละ 3 เวลา เท่ากับ 54,750 ครั้ง บางคนยังกินถึงวันละ 4-5 ครั้งก็มี คิดน้ำหนักอาหารที่กินเพียงวันละ 1 กก. ก็เป็นน้ำหนักถึง 18,250 กก. ในจำนวนนี้มีซากศพกุ้ง ปลา ไก่ สุกร และสัตว์ทุกชนิด ผักและผลไม้ไม่รู้ว่ากี่ร้อยอย่าง ทั้งเราก็จะต้องกินไปอีกจนกระทั่งตาย ยังไม่รู้จะมากน้อยเพิ่มอีกเท่าไร เมื่อเรากินมากก็เหมือนเอาเชื้อไฟใส่เข้าปาก เราก็ต้องร้อนมาก เรากินมากก็เหมือนเราเติมเอาเชื้อไฟใส่เพิ่มเข้าไปมากอีก เราก็ต้องร้อนมากเรากินมากต้องร้อนมากอย่างไร? ลองคิดดู เรากินไม่เป็นก็ต้องกะเสือกกระสนหามามาก เช่น

1.กินอย่างเหลือเฟือ : เรามักจะไปซื้ออาหารกินตามตลาด จะสั่งๆ อาหารมากมายเต็มโต๊ะ เสร็จแล้วก็กินไม่หมด ต้องจ่ายเงินมากอีกโดยใช่เหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากอวดร่ำรวย อวดเพื่อน อวดตัว นี่คือ ความฉิบหาย เพราะเห็นแก่ตัวโดยกินอย่างเหลือเฟือ 2.กินอย่างสุรุ่ยสุร่าย : คือ เรากินอาหารอิ่มแล้ว แต่พอเห็นเขาขายขนม มีของแปลกๆ เช่น ไอศกรีม บะหมี่ ก๋วยเตี๋ยว เราก็ซื้อกินเล่นๆ เป็นการหมดเปลืองโดยใช่เหตุ 3.กินอย่างฟุ่มเฟือย เช่น ต้องการกินข้าวต้มสักถ้วยความจริงใกล้บ้านเราก็มีขาย หรือทำกินเองก็ได้ แต่กลับจะต้องขึ้นรถไปกินที่ไกลที่อื่นที่คนชอบ เป็นการเสียค่ารถ และซื้อของแพงอีกโดยไม่จำเป็น

4.กินอย่างโก้เก๋ เช่น เลือกไปนั่งร้านใหญ่โตโอ่โถงที่สุดในย่านนั้น เพื่อแสดงความโก้เก๋ หรือใหญ่โตของตน ผลก็คือ ต้องเสียค่าโก้เก๋โดยต้องจ่ายค่าอาหารแพงกว่าซื้อตามร้านธรรมดา หรือบางทีอาหารแต่ละจานกว่าจะได้รับประทานต้องตบแต่งอย่างประณีตวิจิตรคล้ายจะจัดดอกไม้บูชาพระ เช่น ผักต้องแกะสลักเป็นรูปดอกไม้หรือสัตว์อย่างสวยงาม เป็นต้น 5.กินจุบกินจิบ : คือ กินไม่เป็นเวลา กินของหวานนิดหน่อยแล้วกินของเปรี้ยวนิดหน่อย เดี๋ยวกินคาวนิดหน่อย แล้วดื่มไวน์ วิสกี้ นิดหน่อยๆ นอกจากเสียสตางค์โดยไม่รู้จักจบสิ้นแล้วยังทำให้ปวดท้อง อาหารเป็นพิษได้ ท้องเสียงอีกต่างหาก 6.กินอย่างไม่ประหยัด เช่น กินเม็ดข้าวตกหล่นโดยไม่ระมัดระวัง กินข้าวติดเหลือกับชาม กินแบบมักง่าย

7.กินโดยไม่รู้จักประมาณ เช่น กินอิ่มมากไป เป็นเหตุให้ท้องเสีย เพราะกลัวจะไม่ช่วยแข็งแรงเต็มที่เป็นเหตุให้ท้องเสียได้ง่าย หรือกินน้อยเกินไปเพราะกลัวว่าถ้ากินมากแล้วรูปทรงจะไม่สวยงามจะอ้วนเทอะทะเกินไป และซื้ออาหารเพื่อสุขภาพแพงเกินจำเป็นและหนำซ้ำกินแล้วแพ้ กินแล้วแสลงต่อร่างกายก็มี 8.กินให้เอร็ดอร่อย คือ เลือกกินอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง เช่น เลือกกินปลาแพงๆ เช่น แซลมอน หูฉลาม ต้มยำกุ้งน้ำจืด ปลาแป๊ะซะ เป็นต้น ล้วนแต่เป็นเรื่องจู้จี้จุกจิกทำให้เกิดความเดือนร้อนตนเองและผู้จัดทำ 9.กินอย่างมัวเมา ได้แก่ กินอย่างเสพติด เป็นผลตื่นเช้าต้องสูบบุหรี่ ก่อนที่จะทำอย่างอื่น มิฉะนั้นจะหงุดหงิด หรือเช้าขึ้นต้องดื่มกาแฟ กินเสพติดกาแฟ เป็นต้น

10.กินอย่างบาป คือ กินโดยชนิดที่ทำให้บาปติดตัวไปในอนาคตข้างหน้าเสียอีก เช่น เมื่อถึงเวลากินแล้วถ้าไม่มีเนื้อสัตว์อะไรเลย ก็ไม่กินข้าว เช่น อยากกินเนื้อเต่า ต้องหามาฆ่ากินจนได้ หาได้เฉลียวใจว่าถ้าเขาฆ่าเราเอาเนื้อตัวเองไปกินบ้าง ตนจะร้องให้ครวญครางหรือไม่ เป็นต้น

กินอย่างไรให้ได้ปัญญา : มีหลัก 3 ประการ คือ “กินอย่างประหยัด” “กินโดยรู้จักประมาณ” และ “กินโดยพิจารณา”

ดังนั้น หากเราพิจารณาอย่างนี้ไปตลอดการกินจนกว่าจะอิ่มย่อมทำให้กินได้เท่าที่จำเป็น เพียงพอกับความต้องการของร่างกายเป็นการลดเชื้อไฟเข้าร่างกายของเรา เป็นการเอาเชื้อไฟออกจากร่างกายของเราเสียบ้าง เมื่อร่างกายได้อย่างพอดีๆๆ ก็จะอบอุ่น พอสบายไม่อึดอัด จิตใจปลอดโปร่ง ทำให้เกิดปัญญาเห็นชัดว่าในร่างกายเรานี้ไม่มีสิ่งใดเป็นภาระพอจะยึดถือเป็นตัวตนได้เลยเป็นของว่างทั้งนั้น จึงสมกับคำที่ว่า “ในคน” นั้นคือ “ในศูนย์ (0)” ซึ่งว่างไม่มีอะไรเลย ถ้ายังมีคนต้องจบหมุนเวียนโดยใจไม่ยึดถืออะไรๆ ว่าเป็นตัวเป็นตนแล้วก็เรียกว่าปลอดโปร่งหมดทั้งสุขและทุกข์เป็นสภาพผ่องใสจัดว่าเป็นนิพพานได้ สมกับที่เรียกว่า “นิพพานไม่ไกล อยู่ที่ใจของเราเอง” เท่านั้น ไงเล่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image