เดินหน้าชน : แก้รธน.วนลูป โดย จตุรงค์ ปทุมานนท์

รัฐสภามีมติรับหลักการ 1 ใน 13 ร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ 2560 แบบรายมาตรา หลังจากอภิปรายกันกว่า 18 ชั่วโมง

รวมทั้งขานชื่อสมาชิกเรียงตามตัวอักษร ลงมติกันมาราธอนนานกว่า 6 ชั่วโมงครึ่ง จนสุดท้ายที่ประชุมรัฐสภา

มีมติ 552 เสียง แบ่งเป็น ส.ส. 342 เสียง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 210 เสียง ส่วนไม่เห็นชอบ 24 เสียง และงดออกเสียง 130 เสียง

ให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งในมาตรา 83 และมาตรา 91 กลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

Advertisement

กำหนดให้มี ส.ส.แบบเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน โดยหัวหน้าพรรค ปชป.ออกมาขอบคุณที่สมาชิกรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบร่างของพรรค ปชป.

พร้อมกับระบุว่า ถือเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่อาจนำไปสู่การแก้ไขในประเด็นสำคัญอื่นๆ ได้มากขึ้น เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นได้ในอนาคต

แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชป. ทำท่าว่าจะมีปัญหา เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งของพรรค ปชป. มีเพียงแค่ 2 มาตรา

Advertisement

แต่ยังมีอีก 6 มาตราของรัฐธรรมนูญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง ประเด็นนี้หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย รวมทั้ง ส.ส.จากหลายพรรคการเมือง

เกิดข้อกังวลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงแค่ 2 มาตราของพรรค ปชป. อาจจะมีปัญหาไปขัดกับรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องได้ เพราะไม่ได้มีการเสนอแก้ไขเข้ามา

อย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตั้งข้อสังเกตว่า

เมื่อสมาชิกรัฐสภาโหวตรับเพียงร่างเดียว จะเกิดปัญหาว่า เนื้อหาข้อความในร่างที่เสนอไม่ครบถ้วน แล้วไปปรากฏในเนื้อหาที่แตกต่างในมาตราอื่นๆ อีกอย่างน้อย 5-6 มาตรา

ปัญหาของสภาต้องดูว่าการแปรญัตติ ทำได้เฉพาะในร่างที่รับหลักการ ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของมาตราที่ไม่ได้รับหลักการได้

เช่น ในมาตราที่ 86(1) (4) มีเขียนไว้เรื่องการคำนวณ ส.ส.เขต ที่แต่ละจังหวัดพึงมี หากใช้ร่างใหม่จะต้องเปลี่ยนเป็น 400 คนแทน

แต่สมาชิกรัฐสภาไม่ได้รับหลักการในเรื่องนี้ก็ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเป็นโจทย์ที่ทำให้คณะกรรมาธิการพิจารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทำงานลำบาก

เพื่อแปรญัตติในวาระที่ 2 ว่าจะตกแต่งเฉพาะมาตรา 83 และมาตรา 91 ให้สอดคล้องกับมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้รับหลักการได้หรือไม่

แม้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย จะออกมายืนยันว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชป.ยังไปได้

ในที่สุดที่สำคัญกว่านั้นคือการทำกฎหมายลูก เพราะหลายอย่างไปเขียนรายละเอียดไว้ในกฎหมายลูก เป็นเทคนิคของการเขียนกฎหมาย

มีการเขียนกฎหมายขยายอีก 4 มาตราสามารถทำได้ และไม่กระทบอะไร เพราะไปเขียนในบทเฉพาะกาล มีวิธีเขียน มีนักกฎหมายที่เก่งหลายคนและมีวิธีเขียน

แต่อาจมีอีกฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมแล้วเถียงว่าไม่ได้ แล้วก็ดึงไปศาลรัฐธรรมนูญ เลยอาจทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้นอีก

แน่นอนในเมื่อยังเกิดความเห็นต่างในแนวทางการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ปชป.ว่าจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ย่อมต้องจบที่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ได้ข้อสรุปและเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าทำได้ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าต่อไป

หากผลออกมาเป็นลบว่าไม่สามารถแก้ไขได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่วงจร “วนลูป” มาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้งว่าสุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 จะแก้ไขได้เมื่อใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image