ภาษีที่หายไป ใครว่าไม่น่าห่วง?

ปี 2563 เป็นปีพิเศษที่ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยมากที่สุด ทำให้คนไม่มีงานทำนับล้านคน ธุรกิจหลายประเภทต้องหยุดประกอบกิจการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดการระบาดของเชื้อโรค และยังส่งผลกระทบต่อการคลังของรัฐบาลด้วย ในโอกาสนี้ขอนำสถิติการจัดเก็บรายได้จากภาษีอากรของกรมสรรพากรมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมข้อสังเกตและวิจารณ์ตามสมควร
กรมสรรพากร เป็นหน่วยงานหลักจัดเก็บภาษีและหารายได้เข้ารัฐ ในปีงบประมาณ 2562 จัดเก็บรายได้ 1.69 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้มีภาษีสำคัญสี่ประเภท คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ รูปภาพที่ 1 แสดงสถิติย้อนไปถึงปีงบประมาณ 2550-2563 โดยทั่วไปมีอัตราเพิ่มขึ้น 3-4% ต่อปี มีบางช่วงเวลาติดลบหรือชะลอตัว เช่นปี 2552 เพราะเศรษฐกิจซบเซาสืบเนื่องจากวิกฤตซับไพรม์ของสหรัฐ เฉพาะปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เราสนใจเป็นพิเศษ รายได้ภาษีลดลง 6.3% ระบุตัวเลขปี 2562 รายได้จัดเก็บเท่ากับ 1,692,518 ล้านบาท ในปี 2563 เหลือ 1,585,799 ล้านบาท ติดลบ 106,719 ล้านบาท

รูปภาพที่ 1 รายได้จากภาษีอากรจัดเก็บโดยกรมสรรพากร

ภาษี 4 ชนิดที่สร้างรายได้เข้ารัฐสูงที่สุดคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (CIT) และธุรกิจเฉพาะ (SBTAX) ดังแสดงในรูปภาพที่ 2

รูปภาพที่ 2 รายได้ภาษี 4 ชนิดที่กรมสรรพากรจัดเก็บในช่วง 2561-2563

Advertisement

ข้อสังเกตที่น่าจะอภิปรายคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังเป็นบวกหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ที่เป็นเช่นนี้พอมีคำอธิบายได้ดังนี้ ก) คนที่ยื่นแบบเสียภาษีตามกฎหมายมีจำนวนเกือบสิบล้านคน แต่ไม่ได้เสียภาษีทุกราย เพราะว่ารายได้สุทธิต่ำกว่าเกณฑ์ได้รับการยกเว้น รวมทั้งหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้วเสียภาษีอัตราศูนย์ ข) ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 3-4 ล้านคน เป็นกลุ่มรายได้ปานกลางหรือสูง ส่วนใหญ่มีอาชีพและการทำงานที่มั่นคง กลุ่มนี้ไม่ถูกกระทบมากนัก อาจจะด้วยเหตุนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บในปี 2563 ยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แตกต่างจากภาษี 3 รายการที่เหลือซึ่งถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำดังได้ตั้งข้อสังเกตข้างต้น
กรมสรรพากร มีวิวัฒนาการอันยาวนานควบคู่กับรัฐไทยตลอดมา ในประวัติศาสตร์ภาครัฐการบริหารบ้านเมืองภายใต้หลักจตุสดมภ์ เวียง-วัง-คลัง-นา ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้ปฏิรูปการบริหารราชการให้ทันสมัยและเป็นสากล จึงปฏิรูปหน่วยงานด้านภาษีเป็นกระทรวงพระคลังมหาสมบัติในปี พ.ศ.2435 พร้อมว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญขาวต่างประเทศมาช่วยวางระบบ การบริหารของกรมสรรพากรในปัจจุบันได้กระจายหน่วยงานสาขา 850 แห่ง ภายใต้ 119 พื้นที่ สังกัด 12 ภาค เพื่อช่วยการบริหารจัดการเก็บอย่างทั่วถึง ใกล้ชิดให้บริการและคำแนะนำกับผู้เสียภาษีได้ ยังเกิดผลดีทางอ้อมด้านข้อมูลสนเทศ กลายเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการวิจัย สามารถวิเคราะห์กิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับพื้นที่ จากตัวเลขภาษีที่จัดเก็บในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ต่อการวิจัย โดยเฉพาะการวิเคราะห์อัตรากระจุกตัวของภาษี และความเหลื่อมล้ำด้านการคลัง รวมทั้งการคลังท้องถิ่น (หมายเหตุ ภาษีมูลค่าเพิ่มถือเป็นภาษีฐานร่วม หมายถึงการแบ่งกันระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น) ในรูปภาพที่ 3 แสดงตัวอย่าง 20 จังหวัดที่สร้างรายได้เข้ารัฐผ่านกรมสรรพากร

รูปภาพที่ 3 จังหวัดสร้างรายได้เข้ากรมสรรพากรสูงที่สุด

หมายเหตุ ในรูปภาพข้างบนที่ไม่แสดงกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในลำดับที่หนึ่ง จังหวัดลำดับที่ 2-5 ได้แก่ ชลบุรี สมุทรปราการ ระยอง นนทบุรี ตามลำดับ ข้อมูลภาษีนับว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับภาครัฐ เพราะรัฐต้องมีทรัพยากรเพื่อการทำงาน โครงการวิจัยการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจังหวัดและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ได้นำข้อมูลภาษีมาวิเคราะห์ควบคู่กับเศรษฐกิจจังหวัด ได้เผยแพร่ผลงานในวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา
จั่วหัวว่า ภาษีที่หายไป เพื่อชวนให้คิดหรือการอภิปรายกันต่อ หนึ่ง ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ปี 2565 ได้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีขั้นตอน 3 วาระ โดยรัฐบาลประมาณการว่ารายได้เข้ารัฐเท่ากับ 2.4 ล้านล้านบาท ด้านรายจ่าย 3.1 ล้านล้านบาท จะขาดดุลงบประมาณ 7 แสนล้านบาท – คำถามและข้อน่าเป็นห่วงคือ ถ้าหากรายได้จัดเก็บจริงต่ำกว่าเป้า เช่น 2.2 หรือ 2.3 ล้านล้านบาท การขาดดุลงบประมาณจะกลายเป็น 8-9 แสนล้านบาท และเสี่ยงต่อการขาดวินัยทางการคลัง สอง ในวาระ 2-3 การพิจารณาปรับลดรายจ่ายรัฐบาลอาจจะมีเหตุมีผล เชื่อว่า ส.ส.และพรรคการเมืองจะช่วยกันทำการบ้าน พิจารณาปรับลดรายจ่ายส่วนที่ไม่ค่อยจำเป็นหรือไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้คือทางสายกลาง พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

Advertisement

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์
วสุ สุวรรณวิหค
เมรดี อินอ่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image