สะพานแห่งกาลเวลา : เดลต้าแวเรียนท์ กรณีศึกษาจากอินเดีย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Reuters)

เชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ในกลุ่ม เดลต้า แวเรียนท์ มีอยู่ด้วยกัน 3-4 ตัว ทั้งหมดพบครั้งแรกในอินเดีย ประกอบด้วย บี.1.617.1, บี.1.617.2, บี.1.617.3 แล้วก็ล่าสุดคือ เดลต้าพลัส (เอวาย.1)

ในจำนวนทั้งหมดนี้ ที่ร้ายกาจที่สุดคือ บี.1.617.2 ซึ่งถูกเรียกกันทั่วไปว่าเป็น เชื้อกลายพันธุ์เดลต้า หลังจากที่ระบาดไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และก่อเหตุวิกฤตด้านสาธารณสุขให้กับหลายชาติในเอเชียอยู่ในเวลานี้

เกาหลีใต้ ติดเชื้อนี้วันละ 800 ราย แต่ที่สำคัญคือยอดติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทุกวันต่อเนื่องกัน 10 วันติด ที่ญี่ปุ่น เชื้อเดลต้าอาจทำให้มหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่นั่นไม่มีคนดู ในออสเตรเลีย นิวเซาธ์เวลส์ทั้งรัฐ ถูกล็อกดาวน์ ในไทยเรา ติดเชื้อเพิ่มวันละเป็นเรือนพัน

ที่หนักหนาที่สุดเป็นในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะบนเกาะชวา ติดเชื้อเดลต้ากันมากกว่าวันละ 2 หมื่นคนอยู่ในเวลานี้

Advertisement

ทั้งหมด ล้วนเป็นประเทศที่อัตราฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสิ้น

แล้วก็ทำให้ทุกคนหวนนึกถึงภาพของอินเดียเมื่อราว 2 เดือนที่ผ่านมา กลัวว่าจะเกิดเช่นนั้นขึ้นในประเทศตน

อย่างที่เรารู้กัน บี.1.617.2 พบที่อินเดียในราวเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พอถึงพฤษภาคม เดลต้าก็อาละวาดสูงสุดเล่นงานระบบสาธารณสุขของอินเดียถึงกับ
พังพาบ

Advertisement

ในช่วงเวลานั้น อินเดียพบผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันเป็นเรือนแสน ทำสถิติวันละกว่า 400,000 คน ทำให้ยอดสะสม 2-3 วันสูงเป็นหลักล้าน เตียงผู้ป่วยขาดแคลน หมอไม่พอ ออกซิเจนขาด ยาไม่มี เสียชีวิตกันเป็นใบไม้ร่วงถึงขนาดล้นฌาปนสถาน

วันนี้ อินเดีย มียอดติดเชื้อสะสม 30.5 ล้าน ยอดเสียชีวิตรวมทะลุ 400,000 คนไปแล้วก็จริง แต่ยอดติดเชื้อใหม่ เหลือเพียงแค่หลักไม่กี่หมื่นคน ลดลง 7-8 เท่าตัวจากยอดพีกสุดในเดือนพฤษภาคมสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน

อินเดีย ทำได้อย่างไร? คือคำถามที่ชวนให้ใช้กรณีของอินเดียเป็นกรณีศึกษา

ระดมฉีดวัคซีน? ไม่ใช่แน่ เพราะว่าจนถึง 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียเพิ่งฉีดวัคซีนให้กับประชากรไปได้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับสถิติของประเทศไทย ที่ฉีดครบ 2 เข็มไปแล้วแค่ 4.2 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารวมที่ฉีดเข็มเดียวเข้าไปด้วย สถิติก็จะอยู่แค่ 11 เปอร์เซ็นต์เศษเท่านั้นเอง

ชุน อึน-มี ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจประจำศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสตรีอีฮวา บอกเอาไว้ว่า เมื่อศึกษาจากกรณีของอินเดีย, อินโดนีเซีย และอังกฤษ ที่เกิดการระบาดหนักของเดลต้าแล้ว คิดว่าทุกประเทศต้องปรับเปลี่ยน “ยุทธศาสตร์วัคซีน” ของตัวเองใหม่หมด

คือคิดจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป รอตลาด รอผลผลิตวัคซีนเหมือนอย่างที่เคยคิดไม่ได้แล้ว

โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เพิ่งบอกกับชาวอินโดนีเซียเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ต้องศึกษาเรียนรู้วิธีการจากอินเดีย

รัฐบาลอินเดียทำอะไร? สิ่งที่ทำก็คือ ประกาศคำสั่งล็อกดาวน์ “เกือบหมดประเทศ” ห้ามการเคลื่อนย้ายผู้คน ห้ามเดินทาง ห้ามออกนอกบ้านอย่างเคร่งครัด

กลับคืนสู่ความเข้มงวดพื้นฐานที่เคยทำมาจนเอาชนะการระบาดระลอกแรกได้

แต่อินโดนีเซียนำมาใช้อย่าง “ห่วงหน้าพะวงหลัง” เพราะกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจ บังคับใช้การล็อกดาวน์แค่เกาะชวากับบาหลี 2 พื้นที่ ซึ่งมี “โพสิทีฟ เรต” คือ มีสัดส่วนพบผู้ติดเชื้อต่อจำนวนการตรวจหาเชื้อถึงระดับหรือเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) บอกว่า พื้นที่ไหนที่มี “โพสิทีฟ เรต” เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ การแพร่ระบาดในพื้นที่นั้น “อยู่นอกเหนือการควบคุม”
แล้ว

นักวิชาการหลายคน รวมทั้ง อีร์วาน มูริยันโต นักระบาดวิทยาของอินโดนีเซียเอง ชี้ว่า ล็อกดาวน์ควรจะเกิดขึ้นก่อนหน้านี้นานแล้ว และควรทั่วถึง ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ 2 พื้นที่เท่านั้น

และควรเข้มงวด ไม่ควรหละหลวมปล่อยปละละเลยเหมือนที่ทำกันอยู่

สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำอย่างจริงจังอีกอย่างในระหว่างการระบาด ก็คือการเพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อ เพื่อแยกออกมาจากคนทั่วไป

ในตอนนั้นอินเดียตรวจหาเชื้อเพิ่มมากกว่าปกติถึง 5 เท่าตัว แล้วจึงค่อยลดลงมาเมื่ออัตราการติดเชื้อลดลง

อินโดนีเซียก็พยายาม แต่ทำได้ดีที่สุดแค่ 1 ใน 3 ของอินเดีย แม้แต่ในตอนนี้ อัตราการตรวจหาเชื้อที่อินเดียก็ยังสูงกว่าอินโดนีเซียถึง 3 เท่าตัว

นักวิชาการอินโดนีเซียบอกว่า คิดน่ะคิดได้ แต่คิดแล้วต้องทำให้ได้ด้วย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการนำมาปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คิด

ถ้าทำได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะครึ่ งๆ กลางๆ ไปด้วย

ไม่รู้ทำไม ฟังแล้วนึกถึงเมืองไทยเราชะมัด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image