เดินหน้าชน : แก้หนี้ครู โดย นายด่าน

กว่า 20 ปีที่ผ่านมาการ “แก้ปัญหาหนี้สินครู” เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาล จากมูลค่าหนี้รวม 1.2 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2558 ขยับมาเป็น 1.4 ล้านล้านบาท
ในปัจจุบัน

ตัวเลขหนี้ที่สูงขึ้นทุกๆ ปี เป็นภาพสะท้อนว่านโยบายที่ผ่านมามีความล้มเหลวมากน้อยแค่ไหนในการแก้หนี้สินครู

ในรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพิ่งเห็นความชัดเจนที่จะแก้หนี้สินครู ในช่วงปีสุดท้ายก่อนครบวาระ 4 ปี

โดยได้มอบ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและ รมว.พลังงาน เป็นหัวเรือใหญ่เข้ามาดูแลเรื่องนี้

Advertisement

ซึ่งขณะนี้นายสุพัฒนพงษ์ จัดทำโมเดลแก้หนี้ครูไว้แล้ว แต่ยังต้องหารือกับกระทรวงศึกษาฯ ก.การคลัง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยโมเดลการแก้หนี้ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา แต่เบื้องต้นตามที่ “ครูเหน่ง” น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าไว้นั้น สรุปได้ 2 แนวทาง

1.ศธ. กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา บูรณาการร่วมกันโดยนำรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ครูที่มีอยู่มากาง และวิเคราะห์ว่าแนวทางไหนเหมาะสมและเป็นไปได้มากที่สุด

Advertisement

2.เจรจาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในฐานะเจ้าหนี้หลักของครูเพื่อขอลดดอกเบี้ย

เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะต้องเสนอไปให้ “บิ๊กตู่” พิจารณาอีกครั้ง

แต่ยังไม่มีกรอบเวลาที่แน่ชัดว่าจะต้องแล้วเสร็จภายในกี่เดือน จะทันก่อนครบวาระรัฐบาลชุดนี้ที่เหลือเวลาอีกกว่าปีหรือไม่

หากแนวทางการเจรจาขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ลดดอกเบี้ยตามที่ “ครูเหน่ง” ระบุไว้ทำได้จริงก็จะช่วยบรรเทาหนี้สินครูได้ระดับหนึ่ง

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะสหกรณ์ส่วนใหญ่ได้ไปกู้แบงก์มาปล่อยกู้ด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญแนวคิดนี้เคยพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็แท้งทุกรอบ ไม่มีสหกรณ์ไหนจะลดดอกเบี้ยให้

ปัจจุบันดอกเบี้ยที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูปล่อยกู้นั้นจะอยู่ระหว่างร้อยละ 5.70-7.75 ต่อปี โดยประมาณ

การปล่อยกู้จะมีหลักเกณฑ์ที่คล้ายกัน เช่น จะต้องมีเงินเดือนคงเหลือเท่าไร การกำหนดผู้ค้ำประกัน การหักหนี้ผ่านบัญชีเงินเดือน เป็นต้น

แต่ส่วนใหญ่แล้วกู้ง่าย แค่มีคนค้ำประกันเท่านั้น

ครูผู้ช่วยใน จ.นครราชสีมา คนหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า บรรจุเป็นครูผู้ช่วยได้ไม่กี่เดือนก็สมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และยื่นกู้เงินมาเกือบ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือครอบครัว ก็เหลือเงินราว 9,000 กว่าบาท จากนั้นทางสหกรณ์ฯก็มีโครงการให้กู้อีกจึงไปกู้เพิ่มมาอีกจำนวนหนึ่ง หักหนี้สินแต่ละเดือนแล้วก็จะเหลือเงินไม่มาก ก็ต้องบริหารจัดการให้พอใช้จ่าย

“สหกรณ์ฯจะมีโครงการให้กู้อยู่เรื่อยๆ อย่างช่วงโควิด-19 ก็ปล่อยกู้ช่วยเหลือ 1-2 แสนบาทต่อคน หรืออยากจะมีรถ มีบ้านก็ไปยื่นกู้ได้” ครูผู้ช่วยกล่าว

นอกจากการเจรจาลดดอกเบี้ยกับสหกรณ์แล้ว คาดว่าน่าจะมีอีกหลายแนวทางที่ออกมา

ทั้งการขอลดดอกเบี้ยแบงก์รัฐที่ครูเป็นลูกหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ในกลุ่มครูที่มีหนี้วิกฤตที่มีจำนวนหลักหมื่นคน โดยกลุ่มนี้ไม่สามารถส่งคืนเงินกู้ได้ปกติ

อีกทั้งยังมีกลุ่มที่เป็นหนี้กำลังถึงขั้นวิกฤต คือ ส่งคืนได้ปกติทุกเดือน แต่ไม่มีเงินเหลือเพียงพอที่จะใช้จ่ายแต่ละเดือน

ไม่นานเกินรอการแก้หนี้สินครูน่าจะได้ข้อสรุป ช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้

แนวทางที่จะคลอดออกมานอกจากการสะสางหนี้สินแล้ว ควรต้องปลูกฝังสร้างวินัยทางการเงิน ลดการสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น

ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่ายิ่งแก้หนี้สินยิ่งพอกพูน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image