วัคซีนโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในข้อเท็จจริง

วัคซีนโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำในข้อเท็จจริง

วัคซีนโควิด-19
ความเหลื่อมล้ำในข้อเท็จจริง

ธรรมชาติหนึ่งในโลกของเรานี้ก็คือ สิ่งใดที่หายาก มีผู้ใช้เสพบริโภคหรือต้องการในจำนวนคนที่มาก ราคาและสินค้าย่อมมีมูลค่าเพิ่มตามระบบของตลาดแห่งธุรกิจทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม ในสังคมนิยมที่ผู้คนต้องการใช้สินค้าประเภทนั้น โดยเฉพาะภาวะแห่งความวิกฤตของการระบาดแห่งโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นรายวัน สิ่งนั้นก็คือ ยา เวชภัณฑ์ที่ราคาถูกต่อรองในระบบแห่งการตลาดและภาวะของการเมือง

สถานการณ์ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ณ วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2564 มีผู้ป่วยทั่วโลก 177,345,523 ราย ได้รับการรักษาและได้กลับไปพักฟื้นที่บ้านแล้ว จำนวน 161,782,064 ราย มีการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล จำนวน 11,727,899 ราย และมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเสียชีวิตไปแล้ว จำนวน 3,836,260 ราย นับว่าการระบาดของโรคดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่ครอบครัว ญาติพี่น้องที่ต้องสูญเสียชีวิตของคนในครอบครัวไปในจำนวนโรคระบาดที่เกิดขึ้นในโลกเรา ในรอบห้าหรือหกทศวรรษที่ผ่านมา

ในทางระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา หรือวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นักวิชาการต่างๆ ทั่วโลกต่างตั้งข้อสมมุติฐานถึงที่มาของโรคดังกล่าว การระบาดที่ดูเสมือนว่ายังไม่พบหนทางที่จะยุติโรคดังกล่าวให้หายขาดได้ ขณะเดียวกันการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคโดยมีการตั้งชื่อทั้งที่เป็นประเทศและทวีป หรืออื่นๆ ก็มีความหลากหลาย สิ่งสำคัญยิ่งในเวลานี้ก็คือ วัคซีนโควิด-19 ที่มีบริษัทยาหรือเวชภัณฑ์ที่ได้ทำการผลิตเพื่อป้อนสู่ระบบการตลาดอย่างหลากหลาย คำถามหนึ่งที่ตรงไปยังบริษัทที่ผลิตวัคซีนเหล่านั้นก็คือ คุณภาพของวัคซีนและราคาที่ประชาชนหรือประเทศชาติต้องจ่ายไป มีความเป็นเหตุเป็นผลในภาวะแห่งความจำเป็นในเวลานี้หรือไม่…

Advertisement

สำหรับรายชื่อวัคซีนโควิด-19 ที่ปรากฏชื่อของหน่วยงานรัฐในเมืองไทยเราอนุมัติแล้ว อาทิ ASTRAZENECA, Sinovac, Johnson & Johnson, MODERNA, และ Sinopharm รวมถึงวัคซีนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ อาทิ Pfizer, Sputnik V, Covaxin รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้จัดตั้งหน่วยงานเป็นการเฉพาะกิจที่ชื่อว่า ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ได้ทำหน้าที่เพื่อค้นหาตัวเลขของผู้ติดเชื้อ การระวังป้องกัน การดูแลรักษาและมาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการโรคดังกล่าวได้

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในสื่อต่างๆ เป็นรายวันก็คือ การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เพื่อที่จะไปสู่การป้องกันการระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในหลากหลายบริบท อาทิ วาระแห่งวัคซีนแห่งชาติจักเป็นการเอื้อต่ออำนาจและผลประโยชน์ต่างตอบแทนระหว่างบริษัทผู้ผลิต จำหน่ายส่ง หรือผลประโยชน์ที่ทับซ้อนของภาครัฐ นักการเมืองจักบริหารจัดการระบบ
วัคซีนเพื่อไปสู่ประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและความเป็นธรรมที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกันได้หรือไม่…

ผู้เขียนใคร่ขอนำตัวเลขของบางประเทศในโลกที่ได้รับปริมาณของวัคซีน อาทิ 1.จีน จำนวนวัคซีนที่ฉีด 845,299,000 2.สหรัฐอเมริกา 306,509,795 3.EU 292,019,666 4.อินเดีย 249,316,572 สำหรับเมืองไทยเรา จำนวนที่ฉีดไปแล้ว 5,667,058 หรืออัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีน/ประชากร 100 คน ในตัวเลข 4.1 หรือจำนวนวัคซีนที่ฉีดแล้วเฉลี่ยต่อวัน 6 (travel.trueid.net)

ข้อมูลตัวเลขหนึ่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีนประจำวัน รวม 47,599 โดส โดยแบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 26,611 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 20,948 ราย โดยมีผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสมทั้งสิ้น 4,190,503 ราย ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของประชากรทั้งประเทศในสิ้นปี พ.ศ.2564 ซึ่งตัวเลขของประชากรไทยทั้งประเทศตัวเลข ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก็คือจำนวน 66,186,727 คน…

ผู้เขียนและท่านผู้อ่านบางท่านอาจจักมีประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวเนื่องกับวาระแห่งชาติของวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนทุกๆ คนได้เข้าถึงวัคซีนดังกล่าว การลงทะเบียนเพื่อจองหรือการได้รับวัคซีนในระบบของรัฐที่ได้เปิดในช่องต่างๆ ไว้เป็นระบบที่สร้างปัญหาและความยุ่งยากให้แก่ประชาชนชาวบ้าน การรอคอยเพื่อตนจักได้รับสิทธิพื้นฐานแห่งการมีชีวิตเป็นการรอคอยที่มิทราบถึงวัน เวลาที่แน่ชัด การบริหารจัดการหรือการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน

กรณีการเวียนเสื้อวินรถจักรยานยนต์สาธารณะเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน เป็นก้อนน้ำแข็งเล็กๆ ก้อนหนึ่งที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา…

การจัดสรรลำดับความสำคัญในการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของหน่วยงานองค์กรบางแห่งมีความไม่โปร่งใส ลูกท่านหลานเธอ ใครเส้นสายจะใหญ่กว่ากัน คนที่ควรได้รับกลับไม่ได้ คนที่ไม่ควรได้กลับได้รับวัคซีน ผู้เขียนเข้าใจว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือนายกรัฐมนตรีที่ทำงานบนหอคอยงาช้าง คงจักมิได้รับทราบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว เนื่องด้วยสังคมไทยเราบางบริบทถูกปิดบังไว้ด้วยใช่ครับท่าน ดีครับผม เหมาะสมครับนาย วาระวัคซีนแห่งชาติก็มิต่างไปจากการทุจริต คอร์รัปชั่น ความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การขาดธรรมาภิบาล ที่รัฐบาลมีความพยายามที่จะทำฝันให้เป็นความจริง…

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ในจำนวน 279 มาตรา โดยเฉพาะในมาตรา 27 ที่กล่าวถึง บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิแลเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมือง อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้…

และในมาตรา 53 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงมาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และส่งเสริม สนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด…

วันเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่สังคมไทยเราและสังคมโลกที่ประชาชนชาวบ้านต่างรับเชื้อโควิด-19 กันอย่างทั่วถึง ความเดือดร้อนทั้งมาตรการป้องกันการระบาดของรัฐ ชาวบ้านประชาชน ภาคธุรกิจหลายรายต้องปิดกิจการค้าขาย คนตกงาน มีหนี้สินรายวัน ปัญหาการฆ่าตัวตายที่อยู่ในรายวัน ปัญหาอาชญากรรม ฆ่า ปล้น ชิง จี้ ยาเสพติดที่ระบาดทั่วบ้านทั่วเมือง นักการเมืองบางคนฉกฉวยโอกาสของวาระวัคซีนแห่งชาติเป็นการเมืองท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนในชาติ

รัฐนาวาของนายกรัฐมนตรีที่ปกครองเมืองไทยเราหลังทำการรัฐประหารมาเป็นเวลาเจ็ดปีเศษ วาทกรรมหนึ่งของผู้นำก็คือจักปฏิรูปประเทศในบริบทต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา เทคโนโลยี เศรษฐกิจพอเพียง วาทกรรมการขอเวลาอีกไม่นานอาจจักรวมถึง “การขอโทษ” ที่มีบ่อยครั้งดูเสมือนว่าจักเป็นการแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้มลายหายไปในวาระแห่งความเป็นชั่วคราว…

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเรามีความหลากหลายที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีได้รับจากบทเรียนของชีวิตมาจนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งความเหลื่อมล้ำในการศึกษา เพศ การแสดงความคิดเห็นทั้งภาวะปกติและภาวะแห่งการเมือง ฐานะทางเศรษฐกิจ โอกาสอาจจักรวมถึงความเหลื่อมล้ำในสิทธิ หน้าที่ อำนาจทางสังคม การเข้าถึงระบบสุขภาพพื้นฐาน การรักษาพยาบาล สินค้าสาธารณะ และความเหลื่อมล้ำในกระบวนการของกฎหมาย ศีลธรรมจริยธรรมและมโนธรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง…

การมีชีวิตลมหายใจของผู้คนทั้งในสังคมไทยเราและสังคมโลก สิ่งหนึ่งที่ถูกยึดถือเชื่อมั่นแห่งความเป็นมนุษย์ที่จักอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขก็คือ ความเป็นธรรม ความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม ความเท่าเทียม อาจจักรวมถึงความคาดหวังจากรัฐบาล หรือจากรัฐที่คาดว่าจักทำงานรับใช้ประชาชนอย่างมีจิตแห่งความเป็นมนุษย์รับใช้มนุษย์ด้วยกัน ความเหลื่อมล้ำกรณีวัคซีนโควิด-19 เป็นเพียงบททดสอบหนึ่งแห่งความเป็นคนในยุคสมัยนี้นั่นแล…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image