ภาพเก่าเล่าตำนาน : ใครคิด…ใครเริ่ม…ประเดิมใช้เข็มฉีดยา โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เมื่อคมเขี้ยวของสัตว์ร้าย…กลายเป็น “แนวคิด” …การฉีดยา

ชาวกรีกและโรมันโบราณ เฉลียวฉลาดล้ำ ชอบคิดค้น เก่งในศิลปวิทยาการจนเกือบจะครองโลก

นับพันปีมาแล้ว…มนุษย์เฝ้าสังเกต… “งูและสัตว์มีพิษ” ทั้งหลาย กัดแล้วส่งผ่านพิษเข้าไปในร่างกายเหยื่อ

สัตว์มีพิษ… ฝังเขี้ยว ปล่อยของเหลว ปล่อยเหล็กใน ทำให้คู่ต่อสู้ที่เป็นคน เป็นสัตว์ด้วยกัน หมดสติ ตายช้า ตายฉับพลัน

Advertisement

เมื่อทหารต้องรบกัน…ท่อเป่าลูกดอกอาบยาพิษ คือวิธีการส่ง “สารพิษ” เข้าสู่ร่างกายของข้าศึก…

ล้วนเป็นแนวคิดที่จะทำให้ “ยา” ไหลเข้าสู่ร่างกายมนุษย์

มนุษย์โบราณ “ให้ยา” ต้องผ่าน “ทางปาก” และ “ทางทวารหนัก” …โดยทดลองให้กับสัตว์นานาชนิด…

ข้อมูลของผู้เขียน…คุณแม่จะนำผ้าก๊อซพันปลายนิ้วชี้ไปชุบยาน้ำสีม่วงๆ แล้วเอานิ้วแหย่ลงไปกวาดถูบริเวณลำคอ แถวๆ ลิ้นไก่…ยาก็คือยา…แต่นิ้วของแม่..ไม่ปล่อยพื้นที่ส่วนใดของลำคอพ้นจากยา

น้ำตาไหลพราก… จะอาเจียน แสบลำคอ…แต่หายในเร็ววัน

ถ้า “ท้องผูก” มีลูกยางสีแดง สวนทวารหนัก ที่นำของเหลวอุ่นๆ ฉีดอัดเข้าไป…สักพัก…ของแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว …ทุกอย่างก็เป็นไปตามประสงค์

กระบอกฉีดยายุคแรก…สามารถดัน “ของเหลว” เข้าไปในช่องปาก และทวารหนักเท่านั้น ยังไม่มีเข็ม …ไม่กล้าเจาะผิวหนัง

ในศตวรรษที่ 9 ชาวอียิปต์ได้สร้างกระบอกฉีดยาจริงโดยใช้หลอดกลวงและเพื่อการดูด เป็น “ที่ดึงหนอง” เพื่อทำความสะอาดบาดแผลที่ติดเชื้อเพื่อล้างบาดแผลและฝี

นักรบทั้งหลายที่มีแผล มีหนอง ต้องใช้กระบอกดูดออก

ชาวอียิปต์ใช้ของเหลวฉีดเข้าไปในศพ เพื่อทำเป็น “มัมมี่”

ประมาณ พ.ศ.1943 มีหลอดฉีดยาทำด้วยทองเหลือง

ศตวรรษที่ 17 หลอดฉีดยาทำด้วยดีบุกผสมตะกั่วหรือเงิน แต่เกิดปฏิกิริยาทางเคมี

เข็มฉีดยา…ยังเป็นเรื่องที่คิด “ผลิต” ยากเย็นเข็ญใจ จึงใช้ขนห่านทำหน้าที่เหมือนเข็ม เช่น ฉีดน้ำยาฝิ่นเข้าเส้นเลือดให้สุนัข

ปี พ.ศ.2387 แพทย์ชาวไอริชได้คิดค้นเข็มกลวงและฉีดเข้าใต้ผิวหนังครั้งแรก

พ.ศ.2394 (ตรงกับรัชสมัยในหลวง ร.3) นายแพทย์ อเล็กซานเดอร์ วู้ด (Alexander Wood) แพทย์ชาวสก๊อตสร้างกระบอกฉีดยาที่เป็นแก้วทั้งหมด มีขีด เครื่องหมายบอกระดับของของเหลว

ในปี พ.ศ.2396 วู้ดพัฒนาเข็มฉีดยาใต้ผิวหนังด้วยเข็มที่เล็กและแหลมคมพอที่จะเจาะผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แพทย์คนนี้… ทดลองฉีดมอร์ฟีนเพื่อรักษาตัวเอง และสุดท้ายเขาก็ติดมอร์ฟีน

ต้องเรียนท่านผู้อ่านว่า …มีบันทึก “การฉีดยาครั้งแรก” แตกต่างกันออกไปนะครับ …แย่งเครดิตกัน ความเก่งกัน… เป็นธรรมดา

การทดลองฉีดยาในช่วงแรกๆ ไม่ได้ผล มีคนตายเยอะ การฉีดยาเป็นที่น่ารังเกียจ สยองขวัญ เลยเงียบหายไปเป็นเวลาสองศตวรรษ

คนที่ตาย เพราะในเวลานั้น แทบจะไม่องค์ความรู้ว่าต้องฉีดตรงไหนของร่างกาย ฉีดยาอะไร ฉีดแค่ไหน ?…

มนุษย์…เริ่มกลับมาสนใจการฉีดยาในศตวรรษที่ 19

คำว่า “syringe” มาจากคำภาษากรีกว่า “syrinx” ซึ่งหมายถึง “หลอด”

“กระบอกฉีดยา” เป็นท่อทรงกระบอกที่ติดตั้งลูกสูบที่แน่นพอที่จะป้องกันไม่ให้อากาศหรือของเหลวผ่านเข้าไป เพื่อที่ว่าเมื่อดึง หรือดันลูกสูบ ก็สามารถดึง หรือดันของเหลว หรือก๊าซผ่านช่องเปิดที่ปลายอีกด้านได้ของหลอด

โลกใบนี้…เป็นระบบทุนนิยม…ต้องซื้อ-ขาย

ในปี พ.ศ.2489 พี่น้องตระกูล ช้านซ์ (Chance) ในอังกฤษได้สร้างกระบอกฉีดยาแบบแก้วทั้งหมดขึ้นเป็นครั้งแรก

ใช้กระบอกฉีดและลูกสูบแบบเปลี่ยนได้ ทำให้ส่วนประกอบทั้งหมดปลอดเชื้อโดยไม่ต้องจับคู่ชิ้นส่วนซ้ำ

พ.ศ.2492 Charles Rothauser นักประดิษฐ์ชาวออสเตรเลียได้สร้างกระบอกฉีดยาพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable) เครื่องแรก

กระบอกฉีดพลาสติกต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีก่อนที่จะบรรจุเพื่อขาย แทนที่จะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เพราะมันนิ่มลงหากได้รับความร้อน แต่ต้นทุนวัสดุ การผลิต…ยังราคาสูง

ยุคต่อมา…ใช้ “พอลิโพรพิลีน” ซึ่งเป็นพลาสติกที่ทนความร้อนได้

ในปี พ.ศ.2499 และ 2504 นักประดิษฐ์อีกสองคนได้รับสิทธิบัตรสำหรับหลอดฉีดยาแบบใช้แล้วทิ้ง และฟิล บรู๊คส์ (Phil Brooks) ได้รับสิทธิบัตรของสหรัฐอเมริกาสำหรับหลอดฉีดยาแบบใช้แล้วทิ้งในปี พ.ศ.2507

สิ่งประดิษฐ์คิดค้น …สติปัญญา …คือขุมทรัพย์

นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ ให้เครดิตกับการฉีดยาครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จ เป็นผลงานหลักของนายแพทย์วู้ด ที่ใช้หลอดฉีดยาเป็นแก้ว และมีเข็ม …แน่นอน…ผู้ถูกฉีดเจ็บมาก…มีอาการ

การทดลองฉีดยาด้วยเข็มเข้าใต้ผิวหนัง…สัตว์ คือ ผู้ถูกทดลอง

(ข้อมูลที่แตกต่าง…เข็มฉีดยาใต้ผิวหนังอันแรกน่าจะทำโดย Francis Rynd ในเมืองดับลิน ในปี พ.ศ.2387)

พ.ศ.2401 (ตรงกับช่วงในหลวง ร.4) ชาร์ลส์ ฮันเตอร์ ศัลยแพทย์ชาวลอนดอน ให้เครดิตกับการสร้างคำศัพท์ “hypodermic” เพื่ออธิบายการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง …ชื่อนี้มาจากคำภาษากรีกสองคำ: hypo คือ “under” และ derma คือ “skin”

มีแพทย์จำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นแย้ง การฉีดยา เข็ม และยาก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันใน “ผลงานทางวิชาการ”

ข้อถกเถียง ความเห็นต่างจากหลายฝ่าย ทำให้เกิดการพัฒนาเรื่องการฉีดยา และอุปกรณ์ กลายเป็นความก้าวหน้า ได้รับการยอมรับ

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ความรู้ทางการแพทย์และวิชาการทางเคมีได้รับการปรับปรุงให้แม่นยำขึ้น…

โลกนี้…“ของฟรี” ก็พอจะมีบ้าง …แต่เรื่ององค์ความรู้เรื่องการฉีดยาเป็นนวัตกรรมเกิดใหม่ ทำให้ “เกิดการแข่งขัน” อย่างเอาเป็นเอาตาย…เพื่อนำไปสู่ “ธุรกิจหมื่นล้าน แสนล้าน”

ใครคิดได้ก่อน ผลิตได้ก่อน น่าเชื่อถือ…จะครองตลาดโลก

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป (พ.ศ.2482) เข็มฉีดยา ได้รับการปรับแต่งเพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ…

ทหารที่บาดเจ็บ …กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเข็มฉีดยาสำหรับการฉีดมอร์ฟีนและเพนิซิลลินให้ทหารในสนามรบ

“สงครามเกาหลี” เกิดวิกฤต…เลือดไม่มีพอ เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการ “เก็บ-รักษาเลือด”

หลอดยาฉีด เข็ม อุปกรณ์ทางการแพทย์ได้รับการคิดค้น พัฒนาต่อยอด… บางชิ้นใช้แล้วต้องทิ้ง บางชิ้นใช้ต่อไปได้อีก

แพทย์เรียนรู้ “การปนเปื้อน” จากเข็มที่ใช้แล้ว

มนุษย์ไม่เคยหยุดพัฒนา…ลองผิด ลองถูก…มาตลอด…

เกิด “ข้อกำหนดของเข็ม” เรื่องปลอดเชื้อและความปลอดภัยทั่วไปสำหรับการฉีดยา

ในช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้เห็นการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ เกิดความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของการปนเปื้อนข้ามจากเข็มที่ใช้แล้ว

โรคเอดส์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปถึงใบมีดโกนโกนหนวดของผู้ชายที่ร้านตัดผม…ที่ต้องเปลี่ยนใบมีดทุกครั้ง

(ถ้าไม่เปลี่ยนใบมีด… ก็ไม่มีทางรู้ได้)

ราวปี 2551 เข็มพลาสติกแพร่หลายในสถานพยาบาลที่ สามารถมีใช้ได้…

โควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่บานปลายขยายพันธุ์ไปไม่หยุดพรากชีวิตผู้คนไปกว่า 4 ล้านคนทั่วโลก ดูในโทรทัศน์มีแต่ภาพการฉีดยา หลอดฉีดยา เข็ม และขวดแก้วบรรจุวัคซีน

กลายเป็นธุรกิจหมื่นล้าน แสนล้าน

หลอดฉีดยา เข็มฉีดยา นับพันล้านชิ้นกำลังเป็นที่โหยหาและยังต้องการแบบไม่เห็นวันที่จะจบสิ้น… ขายดีแบบถล่มโลก

ธุรกิจ…ผลิตเข็มและหลอดฉีดยาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในหลายประเทศ (ผู้เขียนไม่ขอเอ่ยชื่อบริษัท)

อเมริกา คือประเทศที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ เป็นผู้นำตลาดระดับต้นของโลก

ปี 2020 มียอดขายรวมกว่า 17 พันล้านดอลลาร์ และมีพนักงาน 65,000 คน ที่กระจายทำงานใน 50 ประเทศ

บริษัทผลิตเข็มฉีดยา หลอดฉีดยาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตั้งอยู่ในเมืองเมลซุงเกน ทางตอนกลางของเยอรมนี สร้างยอดขายได้มากกว่า 8.75 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2562 และมีพนักงานเกือบ 65,000 คนทั่วโลก

โควิด-19 กลายเป็นโอกาส เป็นธุรกิจการผลิตหลอดฉีดยา เข็มฉีดยา ที่เร่งผลิตกันทั่วโลก

ทุกประเทศทั่วโลกกว้านซื้อหลอดและเข็มฉีดยา ธุรกิจนี้พุ่งเป็นจรวดทะลุฟากฟ้า… เร่งผลิตกันทั้งวันทั้งคืน…

ญี่ปุ่นก็เป็นยักษ์ใหญ่ มีบริษัทอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโตเกียวปัจจุบันเป็นผู้ผลิตเข็มและหลอดฉีดยารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อีก 1 บริษัทของญี่ปุ่น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโอซากา ผลิตเข็มมากกว่า 11 พันล้านชิ้นต่อปี เป็นการยืนยันว่าบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำของโลกในด้านนี้

ในเดือนมีนาคม 2020 รายงานยังรายงานว่าสร้างรายได้ต่อปีประมาณ 4.2 พันล้านดอลลาร์

นี่เป็นข้อมูลที่คนไทยควรทราบ…น่าภูมิใจที่สุด… (ข้อมูลจาก เดลินิวส์ 2 กันยายน 2563 โดย นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้า)

…ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต “เข็มฉีดยาโลหะ” ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน …เป็นอันดับ 6 ของโลก

…ไทยเป็นผู้ผลิตหลอดและเข็มฉีดยาส่งออก เป็นอันดับ 11 ของโลก

…6 เดือนแรกของปี พ.ศ.2563 ไทยส่งออกหลอดและเข็มฉีดยาไปแล้ว 199.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 10.6%

ตลาดที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐ ฝรั่งเศส เยอรมัน และจีน

บริษัทฮินดูสถานไซรินจ์ ของอินเดีย ก็เป็นแหล่งผลิตเข็มฉีดยาระดับโลกนะครับ…

บริษัทประกาศว่า…ในปี 2021 จะผลิตให้ได้ราว 1 พันล้านอัน และยังประเมินต่อไปว่า ถ้าจะฉีดวัคซีนให้กับ 60% ของประชากรโลก จะต้องใช้เข็มราว 1 หมื่นล้านอัน

ปลายปี 2563…องค์กรยูนิเซฟสั่งซื้อเข็มจากบริษัทฮินดูสถานของอินเดียไปแล้ว 140 ล้านอัน เพื่อนำไปใช้ในประเทศยากจนทั่วโลก

ที่นำเสนอข้อมูลตรงนี้ มิใช่ว่าจะไปจับผิด คิดร้ายอะไร …เป็นธุรกิจที่บริษัทเหล่านี้ทั่วโลกดำเนินการมาก่อนโควิด-19

ณ วิกฤตช่วงนี้…เลยกลายเป็น “โอกาส”

ประชากรโลกจำนวนมหาศาล…ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 …ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพูดถึงเข็มที่ 3 กันไปโน่นแล้ว…

มหากาพย์โควิด-19 ยังอีกยาวไกล…ต้องผลิตเข็มและหลอดฉีดยากันอีกเท่าใด…?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image