สะพานแห่งกาลเวลา : ยารักษาโควิด-19 โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-pixabay)

โควิด-19 เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการขึ้นกับหลายระบบในร่างกาย ในทางการแพทย์เรียกว่าเป็น “มัลติ-ซิสเต็ม ดิซีส” (multi-system disease)

เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ เรื่อยไปจนถึงปอดอักเสบ ปอดบวมแล้ว โควิดยังก่อให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นแล้ว ส่งผลให้เกิดอาการ สโตรก ที่อันตรายถึงเสียชีวิตเฉียบพลันขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนั้น โควิด-19 ยังสามารถก่อให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันตอบสนองเกินพิกัด อย่างที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ไซโตไคน์ สตอร์ม” ซึ่งส่งผลให้เซลล์ หรือเนื้อเยื่อปกติของอวัยวะ เช่น ปอด ถูกทำลายไปพร้อมกับเชื้อได้อีกด้วย

ความเป็นจริงที่ว่า วัคซีนทุกตัวที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้อยู่ในเวลานี้ ไม่มีตัวใดสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ “ยา” และ “กระบวนการรักษา” ผู้ป่วยโควิด ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ คิดค้น ปรับปรุง พัฒนา อย่างรีบเร่งไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาวัคซีนเช่นเดียวกัน

Advertisement

ขณะนี้ในวงการแพทย์ทั่วโลกมียารักษาโควิด-19 ให้เลือกใช้ได้เพียง 2-3 ตัวเท่านั้น แรกสุดคือ ฟาวิพิราเวียร์ ที่เดิมขึ้นทะเบียนเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ แต่ด้วยการออกฤทธิ์กว้าง ทำให้สามารถนำมาใช้กับโรคติดเชื้ออื่นๆ รวมทั้งโควิด-19 ได้ด้วย โดยให้ยาต่อเมื่อเริ่มมีอาการ ไม่ใช่ยาเพื่อป้องกันการเกิดอาการ

ในกรณีที่อาการหนักขึ้น อาจเลือกใช้ยา “เรมเดซิเวียร์” ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับโรคอีโบลา แต่นำมาปรับใช้กับโควิด-19 สามารถลดการแพร่ขยายเชื้อในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง สุดท้ายในกรณีที่อาการหนักมาก ยาที่ให้ผลดีไม่น้อยในการป้องกันระบบภูมิคุ้มกัน “โอเวอร์ รีแอ๊กชัน” กลับเป็น “เดกซาเมทาโซน” ยาสเตียรอยด์สำหรับผู้ป่วยโรคข้ออักเสบราคาไม่แพง ให้ผลดีในการลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาการหนักลงได้ถึง 1 ใน 3

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานทางวิชาการระดับโลกและบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนายารักษาโควิด-19 อยู่ในเวลานี้

Advertisement

ยากลุ่มแรกเป็นยาประเภท ภูมิคุ้มกันสังเคราะห์ หรือ “โมโนโคลนัลส์” (monoclonals) ที่เป็นการสร้างสารเลียนแบบภูมิคุ้มกันในร่างกายขึ้นมา สำหรับทำลายเชื้อโควิดในร่างกาย เป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันโควิดให้กับร่างกายโดยตรงนั่นเอง

ปัญหาของยาประเภทนี้ก็คือ มันให้ผลดีในผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มแสดงอาการ แต่ในเวลาเดียวกัน การให้ยาต้องฉีดเข้าเส้นและใช้เวลานาน ซึ่งจำเป็นต้องทำในโรงพยาบาล ซึ่งขัดกับลำดับกระบวนการรักษาในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย

ในขณะที่ ยักษ์ใหญ่ในวงการเภสัชกรรมของโลกอย่าง ไฟเซอร์ กับ เมิร์ค (เอ็มเอสดี) กำลังอยู่ระหว่างการทดลองยาเม็ดสำหรับใช้ต่อต้านเชื้อโควิด-19 โดยตรงอยู่ในเวลานี้

“โมลนูพิราเวียร์” ของเมิร์ค พุ่งเป้าไปที่การตัดกระบวนการแบ่งตัวของเชื้อโควิด-19 ในร่างกาย แต่ดูเหมือนยังคงมีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ ยาจะให้ผลดีมากเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อมาไม่เกิน 5 วันเท่านั้น

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังมีทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียกับสหรัฐอเมริกา กำลังศึกษาวิจัยการใช้ “อนุภาคในระดับนาโน” ที่นำส่งโดยตรงเข้าสู่ปอด เพื่อทำหน้าที่ “ค้นหาแล้วทำลาย” เชื้อโควิด-19 ในทำนองเดียวกับ “จรวดแสวงเป้าด้วยความร้อน” ยังไงยังงั้น

ทั้งหมดนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองอยู่ในหลายระดับ โดยที่ผลการทดลองเบื้องต้นที่เร็วที่สุดน่าจะได้รับรู้กันในปลายปีนี้

เพื่อจะได้รู้กันว่า เราจะมีอาวุธสำหรับการต่อกรกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นหรือไม่ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image