เดินหน้าชน : อย่ากลัวเสียหน้า โดย นายด่าน

A medical staff member administers a dose of the Covid-19 coronavirus CoronaVac vaccine at a newly-opened vaccine clinic in Central Ladprao shopping mall in Bangkok on May 12, 2021. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดที่ยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สุ่มเสี่ยงต่อระบบสาธารณสุขที่จะรับมือไหว

นับเป็นวิกฤตที่สาหัสที่สุดของรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในตลอดระยะเกือบ 7 ปี นับตั้งแต่รัฐบาล คสช.เลยก็ว่าได้

ตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่จ่อทะลุ 4 แสนราย ยอดผู้เสียชีวิตอีกกว่า 3 พันราย วัคซีนที่จัดหามาฉีดให้กับประชาชนยังมีประสิทธิภาพไม่ดีพอที่จะป้องกันไวรัสโควิด-19

เป็นสิ่งที่สะท้อนผลงาน การบริหารจัดการของรัฐบาลในการสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ต้องต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้ดีแค่ไหน

Advertisement

ความสูญเสียของหลายครอบครัว ที่มีให้เห็นอยู่ทุกวันคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลได้ออกมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาด แต่ก็ยังไม่ดีพอ

โดยเฉพาะเรื่องของการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับประชาชนนั้น

Advertisement

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลที่ใช้วัคซีนหลักเพียง 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค กับแอสตร้าเซนเนก้า เท่านั้น

แม้จะมีเสียงท้วงติงในขณะนั้นให้ใช้วัคซีนในกลุ่ม mRNA ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าด้วย

ส่วนหนึ่งอาจประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ต่ำไป

ไม่คิดว่าจะมีการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิดจนทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนหลักที่ใช้ในไทย เอาไม่อยู่ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดีย ที่เป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในไทย

เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการปรับสูตรการฉีดวัคซีนไขว้ซิโนแวคกับแอสตร้าเซนเนก้า

รวมทั้งการฉีดวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 แก่บุคลากรด่านหน้า เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ ได้

นอกจากการปรับแผนดังกล่าวแล้ว มีคำถามว่ารัฐบาลควรต้องปรับแผนการจัดซื้อวัคซีนที่ผ่านมาด้วยหรือไม่

โดยเฉพาะวัคซีนซิโนแวค ที่ ครม.ได้อนุมัติจัดซื้ออีกราว 10 ล้านโดส ต้องนำกลับมาทบทวน ยกเลิกหรือไม่

เพราะแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น มาเลเซีย จะไม่นำเข้าซิโนแวคเข้ามาฉีดให้กับประชาชน และจะนำเข้ายี่ห้ออื่นที่มีประสิทธิภาพดีกว่าแทน เช่น ไฟเซอร์

ในประเด็นนี้ ขอหยิบยกความเห็นของ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่พูดอย่างชัดเจนผ่านช่องทางคลับเฮาส์ ว่าประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ ดีกว่า ซิโนแวค แต่ตอนแรกที่สั่งวัคซีนซิโนแวคเข้ามานั้น ไม่มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความเห็น

ทั้งที่จริงแล้วควรเริ่มสั่งไฟเซอร์ตั้งแต่ช่วงเฟส 3 เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งประเทศอื่นๆ เริ่มสั่งกัน

แต่ประเทศไทยยังใจเย็น เพราะควบคุมโรคได้ดี จึงยังไม่สั่ง ยืนยันว่าตอนนี้สั่งแล้ว แต่ต้องรอ โดยสรุปเห็นว่า ในอนาคตไม่ควรสั่งวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มอีก

ผลสำเร็จมีให้เห็นในหลายประเทศแล้ว ว่าวัคซีนที่ดีคือคำตอบของการต่อสู้กับโควิด

อย่างเช่น ประเทศอังกฤษที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1โดสได้ 87%ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ ทำให้ควบคุมการระบาดได้ แม้ล่าสุดยอดติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า แต่การฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดน้อยลง มาก

ส่วนสหรัฐฯ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เร่งการฉีดวัคซีนของชาวอเมริกันให้เพิ่มขึ้นทั่วประเทศ จนมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคในหลายรัฐ ส่วนการติดเชื้อรายใหม่ยังคงมีน้อย คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของยอดติดเชื้อรายวันสูงสุดในช่วงการระบาดเดือนมกราคม ส่วนยอดผู้เสียชีวิตนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

การทบทวนปรับแผน จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับประชาชน เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการ อย่ากลัวที่จะเสียหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image