คนไทยเป็นเจ้าของอธิปไตยและประเทศ โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

“พรรคการเมือง” เป็นสถาบันการเมืองที่มีความสำคัญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

เมื่อเข้าสู่ยุคมีการเลือกตั้ง การหาเสียง สร้างคะแนน สร้างคุณค่า สร้างความนิยม พรรคตนเองทุกพรรค ด้วยการชูนโยบายต่างๆ มากมาย แต่ที่สำคัญที่หนีไม่พ้น คือ การกำจัดวงจรอุบาทว์ “เจ็บ จน โง่”

ในอดีตหลายท่านคงเคยได้ยิน สโลแกน “ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์” กาลต่อมาถึงยุคพัฒนามุ่งให้ “คนเป็นศูนย์กลาง” และปัจจุบัน เข้าสู่ยุคเทคโนโลยี นวัตกรรม และที่สำคัญ คือ New Normal อันเกิดจากสงครามโรค ซึ่งมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

ประเทศไทยเราก็เกิดระบาดต่อเนื่อง เข้าสู่ระลอกที่ 4 ผลกระทบด้านสุขภาพ รุนแรงสุดบรรยาย ตัวเลขผู้ป่วยทะยานแตะหลักหมื่นต่อวัน ในขณะที่คนเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่วิกฤตไม่ต่างกัน ส่งผลต่อสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และแน่นอน ผลที่เกิดขึ้นย่อมกระทบไปถึง “การเมือง” อย่างเลี่ยงไม่ได้ และสุดจะปัดให้พ้นตัว และสถานการณ์ที่ปรากฏอยู่จะจบเมื่อใด ก็สุดที่จะคาดเดา

Advertisement

ประเทศไทยเรามีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คนเป็นศูนย์กลาง วิทยาการเทคโนโลยี นวัตกรรม เกือบทุกด้านที่กล่าวแล้วนั้นไม่สามารถจะดำเนินไปได้โดยสะดวก ถ้าขาดการ “พัฒนาการเมือง” ตัวแปรที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสรีภาพทางการเมือง ระบบการเมือง ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม รวมสรรพกำลัง ทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อพัฒนาอันจะนำไปสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความเสมอภาคทางสังคม การพัฒนาสิทธิเสรีภาพ และประชาธิปไตยเป็นตัวแปรที่สำคัญ รวมทั้งการเตรียม “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ให้มาสนใจทางการเมืองไทยให้มากขึ้น ลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกัน คิดริเริ่มเรื่อง “แปลก ใหม่ ใหญ่ ดัง” สร้างผลผลิตให้ชาติ ซึ่งมีผลต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศชาติและสังคม เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศในสังคมนานาชาติ

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการมองข้ามตัวแปรทางการเมือง เชื่อว่าเศรษฐกิจและสังคมดีแล้วก็ตาม แต่หากหลายคนมองข้ามความจริงที่ว่า ถ้าการเมืองไม่มีเสรีภาพ ด้วยกรณีใดๆ รวมทั้งเกิดความขัดแย้งโดยใช้ความรุนแรงจนนำไปสู่การ “ไร้เสถียรภาพของรัฐบาล” ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อ ระบบทาง “เศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นเพราะว่า ผู้บริหารประเทศมุ่งเน้นไปเรื่องปากท้องของประชาชน จึงวางแผนดังกล่าว “โดยนักเศรษฐกิจ” ซึ่งก็คงไม่ผิดเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว จับต้องได้รู้ผลเร็วและประโยชน์ก็ตอนนั้น เทใจให้ด้วยการเลือกท่านเหล่านั้นเป็น ส.ส. หรือเลือกพรรคการเมืองนั้นๆ หากแต่ดุลยภาพและสมดุลระหว่าง “การพัฒนาเศรษฐกิจสังคม” และ “ทางการเมือง” จำต้องมีและเกิดขึ้น ซึ่งเราก็จะพบอยู่เนืองๆ ว่าสุดท้ายก็นำไปสู่ “ความเสียหายอย่างหนักต่อสังคมโดยรวม”

นักรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือ แซมมูเอล ฮันติงตัน (Samunel Huntington) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า การขยับตัวของสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงของสังคม อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากเกษตรไปสู่กึ่งเกษตรกึ่งอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เช่น เน้นเป็นการพัฒนาการศึกษา การขยายตัวของสื่อมวลชน โดยเฉพาะความเจริญทางด้านเทคโนโลยี และ Social Media ต่างๆ โดยรวมแล้ว เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว ความจำเริญด้านเทคโนโลยีที่เกิดในชุมชนเมืองมากขึ้นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ คือ “ความตื่นตัวทางการเมือง” (Political Consciousness) เมื่อความจำเริญทางการเมืองเกิดขึ้นเนื่องจาก การขยับตัวของสังคม (Social Mobilization) จำเป็นอย่างยิ่งต้องสร้าง “สถาบันการเมืองที่เป็น
รูปธรรมยั่งยืน” และกระบวนการที่สามารถปรับเปลี่ยนแปลง หรือตอบสนองพลวัตรใน “มิติทางการเมือง” ดังกล่าวได้แก่ “การพัฒนาการเมือง” (Political Development) อันได้แก่ “การมีรัฐธรรมนูญ” ที่เปิดโอกาสให้ประชาชน เจ้าของประเทศมีส่วนร่วมมากที่สุด มีระบบการเลือกตั้งโดยมีกฎหมายเลือกตั้ง และการจัดตั้งพรรคการเมืองไทยสะดวก ประชาชนมีโอกาสแสดงประชาพิจารณ์ การแสดงความคิดเห็น การคัดค้านการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง มีการกระจาย
อำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการปกครองบ้านเมืองด้วย “ระบบธรรมาภิบาล”

Advertisement

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองเพื่อรองรับความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนอันเกิดจากการตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และค่านิยม อันเป็นความจำเป็นที่มิอาจเลือกได้

นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีของศาสตราจารย์ เอ เอฟ เค ออร์แกนสกี้ (A.F.K Organski) ซึ่งกล่าวถึงความจำเริญเติบโตแห่งชาติและอำนาจแห่งชาติ (National Growth and National Powers) ได้กล่าวว่ามี 5 ตัวแปรสำคัญ คือ

1) จะต้องมีการพัฒนาการเมือง (Political development) โดยมีระบบและกระบวนการที่เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการทางการเมือง และการกำหนดนโยบายสาธารณะ

2) จะต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจ (Economies development) จากเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมของประเทศชาติ คือ ในยุคนั้น ”การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ” ยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่จึงไม่มีการกล่าวถึง ณ ปัจจุบันนี้ โดยระบบหรือขณะที่เป็นยุคไอที เจริญรุ่งเรืองแล้ว จึงนับเป็นตัวแปรที่สำคัญมากอีกด้วย

3) การมีระบบสังคมที่เอื้ออำนวยโอกาสให้มีการขยับชั้นทางสังคม (Social mobilization) ด้วยการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสการว่าจ้างแรงงานด้วยความเสมอภาค

4) ประชากรต้องมีจิตวิทยาที่ทันสมัย (Psychological modernity) มีความคิดแบบวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีเหตุมีผล ไม่หลงงมงาย

5) จำนวนประชากร (population) มีมากพอ ประเทศมหาอำนาจในอดีต เช่น ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน ฯลฯ มีประชากรไม่น้อยกว่า 30 ล้านคน ทั้งนี้ เนื่องจากประชากรที่มีจำนวนมากพอนั้นจะเป็นแรงผลิตทางเศรษฐกิจ จะมีการนำไปสู่อุปสงค์ของตลาดภายในจะทำให้เกิดการผลิต (อุปทาน) ที่มีจำนวนมากพออันจะนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ แต่สำคัญ “ประชากรจะต้องเป็นประชากรที่มีคุณภาพ” อันได้แก่ มีการศึกษาดี มีรายได้เพียงพอ และโครงสร้างประชากรที่มีอายุอยู่ระหว่างช่วงวัยทำงาน สร้างผลผลิต คือ ระหว่างอายุ 16-60 ปี เป็นจำนวนมากพอ

จะเห็นได้ว่านักวิชาการ ให้น้ำหนักต่อ “การพัฒนาการเมือง” ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะคุณสมบัติของ “ทรัพยากรมนุษย์” อย่างกรณีประเทศมหาอำนาจที่กล่าวแล้วที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การมีเจตคติ มีทักษะ มีจิตวิญญาณ รวมทั้งการมีคุณธรรมทางการเมือง โดยเน้นรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมี 4 คุณลักษณะ คือ

ก) มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (Elected government)

ข) มีการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน (rights and freedom)

ค) มีการเปิดโอกาสให้ประชากรมีส่วนพัฒนาทางการเมือง (Participation)

ง) ยึดหลักนิติธรรม (the rule of law)

“ความสำเร็จ” ของการพัฒนาระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ต้องคำนึงอาศัยตัวแปรใหญ่ 3 ตัวแปรที่สำคัญ คือ

1) สภาพสังคมและเศรษฐกิจ (Socio economic condition)

2) โครงสร้างและกระบวนการ (Structure and Process)

3) ที่สำคัญที่สุด การมี “วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย” (Democratic political culture)

การเมืองในยุคนี้ช่วงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีกระแสการปลุกให้ “เยาวชนไทย” และ “คนไทยรุ่นใหม่” ให้ตื่นทางการเมืองแล้วเตรียมตัวต่อสู้กับการอยู่รอดทางบ้านเมืองในโลกยุคใหม่ ที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา ครอบครัว สังคมจะต้องรวมตัวช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจ เตรียมพัฒนาเด็กรุ่นใหม่ “ทรัพยากรมนุษย์” หรือ “กลุ่มดาวรุ่ง” ให้ฝ่าคลื่นกระแสคลื่นโลกาภิวัตน์ เพื่อให้เด็กเกิดการพัฒนาตั้งแต่เด็กจนสู่วัยรุ่น วัยทำงาน ให้สมกับคำที่ว่า “การสาธารณสุข สร้างคน การศึกษาสร้างชาติ” เพื่อ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” มีแนวทางการพัฒนา 10 ประการ คือ

1) คนไทยในโลกยุคโลกาภิวัตน์จะต้องมีการศึกษา ความรู้ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ สมองกล ภาษาจีน ที่ใช้งานได้เป็นอย่างดี

2) เยาวชนไทยและคนไทยต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ มีนิสัยรักการอ่านหนังสือ หรือหาข้อมูลจากสื่ออื่น ในบ้านควรจะมีห้องหนังสือเพื่อสะสมหนังสือที่เป็นประโยชน์ และมีสมองกลเพื่อค้นหาความรู้

3) เยาวชนไทยและคนไทยต้องมีปรัชญาชีวิต มีศรัทธาในศาสนา ไม่หลงงมงาย มีจิตวิทยาศาสตร์ มีระบบการคิดที่มีเหตุผล มีความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรม มีศีลธรรม มีความเมตตากรุณา มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่อคติในเรื่องศาสนา เชื้อชาติและเผ่าพันธุ์

4) เยาวชนไทยและคนไทยต้องผดุงไว้ซึ่ง “วัฒนธรรม” อันดีงามของชาติ แต่ขณะเดียวกันต้องละทิ้งวัฒนธรรมที่ไม่ก่อประโยชน์ เช่น การไร้วินัย ไร้ความรับผิด รักสนุกจนเกินขอบเขต เป็นต้น

5) เยาวชนไทยและคนไทยต้องผดุงไว้ซึ่ง “ภูมิปัญญา” ไม่ดูถูกภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือภูมิหลังของตนเอง หรือภูมิหลังของคนในชาติ

6) เยาวชนไทยและคนไทยจะต้องศึกษาหาความรู้วิทยาการและในทักษะต่างๆ เพื่อสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างขยันขันแข็ง อดทนอดกลั้น และมุมานะบากบั่น

7) เยาวชนไทยและคนไทยต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว อบรมเลี้ยงดูลูกหลานให้เป็นพลเมืองดีของชาติ สร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น

8) เยาวชนไทยและคนไทยต้องมีความรักชาติ มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม มีความภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย

9) เยาวชนไทยและคนไทย ต้องหมั่นออกกำลังกาย รักษาสุขภาพอนามัย ควบคุมการบริโภค ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของสังคมทั้งในด้านการผลิตกำลังความคิด สร้างสรรค์ ป้องกันประเทศ

10) เยาวชนไทยและคนไทยต้องยืนตระหง่านอย่างเชื่อมั่นในความเป็นคนไทยที่เคารพตนเอง มีความซื่อสัตย์สุจริต มีเกียรติและศักดิ์ศรี มีความเป็นประชาธิปไตย มีความกล้าหาญต่อสู้เพื่อความถูกต้อง จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประกอบคุณความดีใช้หนี้แผ่นดิน และพร้อมจะสละชีวิตเพื่อประเทศชาติเมื่อจำเป็น

โดยสรุปกล่าวได้ว่า “ตัวแปรของสภาพสังคมและเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นปัจจัย “หลัก” มีผลกระทบต่อประโยชน์ของ “ประชาชน” เจ้าของประเทศโดยตรงนั้น ก็สอดคล้องกับตัวแปรที่สอง คือ “โครงสร้างและกระบวน” สู่ตัวแปรที่สาม คือ “วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย” ซึ่งสำคัญสุดโดยเฉพาะ “ประชาชน” หรือ “ทรัพยากรมนุษย์” ส่วนใหญ่ มีวัฒนธรรมการเมืองที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันเกิดจากการกล่อมเกลาเรียนรู้จากสถาบันครอบครัว ในสถาบันการศึกษา โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย และในสังคมอย่างต่อเนื่อง จะต้องทำให้สมาชิกในสังคม คือ “ประชาชน” คนไทยทุกรุ่น รวมทั้งเยาวชน “คนรุ่นใหม่” ปลุกกระแสให้เกิดเป็นพลังสำคัญที่ต่อสู้เพื่อเอาชนะ สภาวะการแข่งขันในโลกยุคใหม่

ที่สำคัญที่สุด คือ ฝ่ากระแสคลื่นโลกาภิวัตน์ได้ และยุค “New normal” ด้วยความเชื่อมั่นและเด็ดเดี่ยว โดยเฉพาะประเด็นมีการพัฒนา “อาตมันทางการเมือง” (Political self) แบบประชาธิปไตย กล่าวคือ “ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นเจ้าของประเทศร่วมกันไงเล่าครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image