สุรชาติ บำรุงสุข : ดอกประดู่ร่วงโรยจากใจคน!

เอกสารของกองทัพเรือที่ถูกเปิดเผยโดยพรรคฝ่ายค้านเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และน่าสนใจอย่างมากว่า กองทัพเรือจะตอบสังคมไทยในเรื่องนี้อย่างไร?

ในทางการเมืองนั้น เอกสาร “ลับ” ทางทหารที่ถูกเปิดเผย และกลายเป็นความสั่นสะเทือนทั้งในทางการเมืองและการทหารอย่างมาก คือ “เอกสารลับเพนตากอน” หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “เพนตากอนเปเปอร์” (The Pentagon Paper) ซึ่งเป็นเอกสารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาว่าด้วยเรื่องของการที่สหรัฐฯ เข้าสู่สงครามเวียดนาม ดังนั้น จึงอดคิดไม่ได้ว่า เอกสารของกองทัพเรือไทยในครั้งนี้จะกลายเป็นดังเอกสารเพนตากอนที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยหรือไม่ ซึ่งคงต้องติดตามดูกันต่อไปว่ากระบวนการทางรัฐสภาจะสามารถ “เปิดโปง” ความไม่ชอบมาพากลในเรื่องนี้ได้เพียงใด!

เอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามของผู้นำกองทัพเรือที่ต้องการให้ฝ่ายจีนในฐานะผู้ขายเรือดำน้ำ ลงนามก่อนวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อเป็นการผูกมัดให้รัฐบาลและกองทัพเรือต้องจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ซึ่งเอกสารนี้ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า เจ้าหน้าที่ในระดับสูงของกองทัพเรือสามารถตัดสินใจลงนามเองอย่างเป็นเอกเทศ เพื่อสร้างผลผูกมัดในทางกฎหมายกับประเทศไทยได้หรือไม่

แต่คงต้องถือว่าเป็นความโชคดี ที่ทางฝ่ายจีนไม่ได้ส่งผู้แทนในระดับใดมาลงนามตามคำขอ คำขอดังกล่าวจึงไม่เกิดผลในทางปฎิบัติ มิฉะนั้นแล้ว การจัดซื้อเรือดำน้ำจะเป็นปัญหาอย่างมากในการเมืองไทย จากข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนี้ คงต้องถือว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำของไทยมีลักษณะเป็น “ความอื้อฉาวด้านอาวุธ” (arms scandal) และกลายเป็นประเด็นที่สังคมมีความกังขาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ เรื่องของผลประโยชน์บางประการของผู้นำทหาร โดยเฉพาะคำถามสำคัญว่า ทำไมต้องก่อน 30 กันยายน 2563 และก่อน 30 กันยายนนี้เพื่อใคร

Advertisement

แน่นอนว่า ความต้องการอาวุธของกองทัพเป็นปัญหาสากลในการเมืองของทุกประเทศ และประเด็นเช่นนี้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามสำคัญอีกส่วนที่มากับความต้องการอาวุธก็คือ ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของรัฐ เพราะการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา ย่อมจะทำให้กองทัพตกเป็นเป้าหมายของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า งบทหารกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” อย่างหนักสำหรับรัฐบาลและกองทัพ และผู้นำทหารจะต้องเรียนรู้อย่างสำคัญว่า ประเทศเล็กในยามวิกฤตไม่ได้มีทรัพยากรอย่างเหลือเฟือที่จะเอื้อให้กองทัพจัดหายุทโธปกรณ์ได้ตามต้องการเสมอไป เพราะการใช้งบประมาณของประเทศในวิกฤตมีความสำคัญอย่างมากต่อการพลิกฟื้นชีวิตของคนและของสังคมในอนาคต

กองทัพไทยนับจากการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา มีการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่เป็นอาวุธหนักจำนวนมาก โดยเฉพาะอาวุธจากจีน การจัดซื้อเหล่านี้อยู่ภายใต้คำอธิบายที่สำคัญคือ เพื่อปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ แต่ในสถานการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างรุนแรงจาก “สงครามโรคระบาด” นั้น โอกาสที่สังคมจะมีความรู้สึกเห็นคล้อยตามไปกับความต้องการของฝ่ายทหารดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ซึ่งการจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ จนสังคมมีคำถามอย่างมากในสถานการณ์โรคระบาดปัจจุบันว่า อะไรคือเหตุผลของความต้องการเรือดำน้ำที่แท้จริง

Advertisement

สังคมไทยอยากรู้อย่างมากว่า เรือดำน้ำเป็นความต้องการทางยุทธศาสตร์จริงหรือไม่ หรือที่ต้องมีเพราะเป็นความต้องการของผู้นำทหารบางคน โดยมีการประดิษฐ์ “วาทกรรมยุทธศาสตร์ทางทะเล” เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรมสำหรับการจัดซื้อ อีกทั้งต้องยอมรับว่า การออกมากล่าวถึง “ผลประโยชน์ทางทะเล” อย่างเลื่อนลอยนั้น ทำให้คำกล่าวอ้างในเรื่องนี้เป็นวาทกรรมที่ขายไม่ออกในยามที่ประเทศเผชิญกับโรคระบาดใหญ่ เพราะสังคมต้องการเห็นรัฐบาลทำสงครามกับโรคระบาดมากกว่าสงครามทางทหาร

ประเด็นสำคัญอีกประการคือ ปัญหามูลค่าของเรือดำน้ำทั้งสองลำมากกว่า 2 หมื่น 2 พันล้านบาท ซึ่งในยามที่สังคมต้องเผชิญกับการตกงานและความยากจนในวงกว้างนั้น คนส่วนใหญ่ในสังคมย่อมมีความรู้สึกไปในทางเดียวกันว่า งบประมาณการซื้ออาวุธของกองทัพเป็นสิ่งที่ “เกินความจำเป็น” และในขณะเดียวกันสังคมตอนนี้ ไม่มีความกังวลกับปัญหา “ภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางทหาร” เช่นในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ หรือในยุคสงครามกัมพูชา กล่าวคือ มองไม่เห็นว่า ประเทศไทยจะต้องทำสงครามกับใครในยามนี้ แต่มองว่าศัตรูที่น่ากลัวและกำลังคุกคามอย่างมากคือ ข้าศึกที่ไม่มีตัวตนและเป็นเชื้อโรค และอาวุธที่ไทยต้องการในสงครามโรคระบาดคือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาชีวิตของผู้คนในสังคม

ดังนั้น ความต้องการที่จะต้องสร้าง “ศักยภาพทางทหาร” ของประเทศ จึงไม่ใช่ทางเลือกในภาวะปัจจุบัน แต่ความต้องของคนในสังคมในฐานะผู้เสียภาษีคือ ต้องการเห็นรัฐบาลใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของพวกเขาอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดใหญ่ และผู้นำรัฐบาลที่เข้าใจวิกฤตจะต้องจัด “ลำดับความเร่งด่วน” ของการใช้งบประมาณให้ถูกต้อง ทั้งอาจต้องควบคุมการใช้งบภาครัฐ โดยเฉพาะการปรับลดงบประมาณทหาร และ “ยุติการซื้ออาวุธชั่วคราว” และถึงเวลาที่ต้องเอาสตางค์ซื้อปืน มาซื้อยาแล้ว

การนำเสนอของกองทัพเรือที่มีทั้งรายการทั้งเรือดำน้ำ โดรน และเรือยกพลขึ้นบก จึงกลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การนำเสนอเช่นนี้เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงกลาโหม แต่กระสุนจาก “อารมณ์ของสังคม” ก็ตกใส่กองทัพเรือที่เดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ต้องตอบคำถามนี้ด้วยความรับผิดชอบคือ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” … กระสุนตกแต่ที่วังเดิม ไม่ตกที่สนามไชย ราวกับรัฐมนตรีกลาโหมไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

อารมณ์สังคมวันนี้สวนทางกับกองทัพเรืออย่างมากจนเสมือน ดอกประดู่ร่วงโรยไปจากใจของคนไทยแล้ว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image