วัฒนธรรมการลาออก โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

“ผมไม่ทิ้งพวกคุณ คุณจะทิ้งผมหรือ” ปรารภเบาๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีออนไลน์ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ไม่เพียงเพื่อให้ความมั่นใจกับทุกคนว่าจะกอดคออยู่ร่วมกันต่อไป แต่สะท้อนความคิดเบื้องลึกในใจ ยังไม่ถึงเวลาที่จะยอมลาออกจากตำแหน่ง

แม้ว่าแรงกดดันจากมหันตภัยโควิด-19 คงลุกลามไม่หยุด ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้ตายอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง แรงกดดันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองร้อนแรงต่อไปตามลำดับ

นักคิด นักวิชาการ หลายร้อยคนลงชื่อบัญชีเป็นหางว่าวเรียกร้องให้เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับกระบวนการจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนโควิด อย่างเป็นระบบ

Advertisement

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด ประมาท ชะล่าใจจากผลงานที่ดูดี ในการรับมือระลอกแรกและระลอกสอง

พิจารณาจากการแจ้งตัวเลขความต้องการวัคซีนโควิดต่อบริษัทผู้ผลิต เพียงแค่ 3 ล้านโดสต่อเดือน ต่อมาเมื่อสถานการณ์พลิกผัน บานปลาย จึงร้องขอใหม่เป็นเดือนละ 10 ล้านโดส

เสียงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการลาออก ยังดังต่อเนื่องอยู่จนถึงวันนี้

Advertisement

วันที่การลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบในกิจการใดก็ตาม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมการเมือง

ด้วยเหตุเพราะการติดยึดและความเห็นต่างต่อคำว่า “ความรับผิดชอบ” แตกออกเป็นสองขั้วความคิดอย่างหนักแน่นชัดเจน

ขั้วแรก การลาออกถือเป็นความรับผิดชอบ เป็นเรื่องปกติ น่าชื่นชม เป็นการยอมรับความจริง เป็นความเสียสละ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นที่มีความสามารถมากกว่าเข้ามาทำหน้าที่ เป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะดำเนินการตามกระบวนการประชาธิปไตยต่อไป

ขั้วตรงกันข้าม การลาออกถือเป็นการไม่รับผิดชอบ เป็นเรื่องผิดปกติ น่าละอาย เป็นความเห็นแก่ตัว เอาตัวรอด หนีปัญหา หมายถึงความพ่ายแพ้ ไร้น้ำยา เสียเกียรติยศ ศักดิ์ศรี หน้าตา

พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีจัดอยู่ในขั้วความคิดฝ่ายใด คงพิจารณาได้ไม่ยาก

ไม่เพียงเท่านั้น น่าจะคิดไกลไปอีกว่า แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกแล้วสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจ การเมืองจะดีขึ้นจริงหรือ ตรงกันข้ามกลับยิ่งเลวร้ายไปกว่า เพราะเปลี่ยนม้ากลางสนาม

สู้ยอมอดทนต่อเสียงกล่าวหา ว่าร้าย ท่ามกลางบริวารเป็นพิษ สร้างศัตรูเพิ่มไม่เว้นแต่ละวันก็ตาม หวังว่าวันหนึ่งสถานการณ์จะดีขึ้น

ประเด็นมีว่า ชีวิตพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนที่ได้รับเชื้อโควิดแล้ว และอีกหลายสิบล้านที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดหวั่น วิตก และกำลังจะกลายเป็นความเกลียดชังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จะทนอยู่ได้นานต่อไปเหมือนคณะผู้บริหารหรือไม่

นิยามคำว่าความรับผิดชอบของคนส่วนใหญ่เหล่านี้กำลังพัฒนาไปสู่ขั้วความคิดใด จะเป็นเครื่องตัดสินอนาคต

การแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกเป็นไปได้ยากนอกจากความเห็นต่างที่ว่าแล้ว ความรับผิดชอบถูกปล่อยให้เป็นเรื่องของสำนึกส่วนบุคคลมากกว่าที่จะเป็นสำนึกสาธารณะ จนกระทั่งยกระดับสู่จิตใจกลายเป็นวัฒนธรรม

ทั้งทางการเมือง การบริหารและวัฒนธรรมสังคม

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก

การลาออกเท่ากับรับผิดชอบ เป็นวัฒนธรรมฝ่ายใด ตะวันออกหรือตะวันตก ขณะที่สังคมญี่ปุ่นอยู่ในโลกตะวันออกการลาออกเป็นเรื่องปกติ เป็นวัฒนธรรม แต่สังคมไทยอยู่ในซีกตะวันออกเช่นเดียวกันกลับตรงกันข้าม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากเย็น ยิ่งการที่จะยกระดับจนเป็นวัฒนธรรมจึงยังอยู่อีกยาวไกล

สาเหตุปัจจัยสำคัญเนื่องเพราะพลังทางสังคมยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ที่จะสร้างแรงกดดันทำให้การลาออกเป็นเรื่องปกติ น่าชื่นชม ไม่ใช่เรื่องน่าละอาย เสียศักดิ์ศรี แต่อย่างใด

ประสบการณ์ร่วมจากมหันตภัยโควิด-19 นอกจากสะท้อนความไม่เข้มแข็งทางวัฒนธรรมสังคม และการเมืองไทยแล้ว สะท้อนถึงอำนาจต่อรองที่ด้อยกว่าอย่างชัดเจน

ตัวอย่างจากการได้รับวัคซีน แม้ไทยจะเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต แต่ก็มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

ที่สำคัญเพราะการเป็นประเทศผู้ซื้อ ผู้รับบริการ ไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี นั่นเอง แถมอำนาจต่อรองในการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยียังอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image