เดินหน้าชน : ฟังให้ได้ยิน‘คอลเอาต์’ โดย จตุรงค์ ปทุมานนท์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งเกินวันละ 1 หมื่นคนต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จนถึงวันที่ 27 กรกฎาคม เป็นเวลา 11 วัน ที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่พุ่งทะยานไม่ต่ำกว่าวันละ 1 หมื่นคน จนมีตัวเลขติดเชื้อสะสมในประเทศกว่า 5 แสนคนไปแล้ว

ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตสะสมมีจำนวน 4,052 รายไปแล้ว จนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศเข้าขั้นวิกฤต ต้องหาระบบ ทั้ง “โฮม ไอโซเลชั่น” ดูแลผู้ป่วยโควิดที่บ้าน

“คอมมูนิตี้ ไอโซเลชั่น” ดูแลผู้ป่วยโควิดที่ชุมชน เพื่อแบ่งเบาวิกฤตเตียงล้น ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลหลัก และโรงพยาบาลสนามได้

Advertisement

ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 ก็มักเจอปัญหา “วัคซีนไม่พร้อม” บางพื้นที่ บางจังหวัด ยังมีประกาศเลื่อนฉีด เทประชาชนให้เห็นอยู่เสมอ

นำมาซึ่งเสียงสะท้อนแทบจะเกือบทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย โดยเฉพาะการออกมา “คอลเอาต์” ของดารานักแสดง นักร้อง ศิลปินตลก และคนในวงการบันเทิง แสดงจุดยืน

ส่งเสียงสะท้อนถึงวิกฤตการบริหารจัดการโควิด-19 ของรัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นผู้นำของฝ่ายบริหาร

ในฐานะผู้อำนวยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องมีการปรับระบบการบริหารจัดการโควิด-19 ทั้งแผนการจัดหาวัคซีน

การป้องกันการติดเชื้อโควิด การเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดขึ้น แต่การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลก มากเกือบจะ 2 ปีแล้ว แต่ประเทศไหนจะเอาและหยุดปัญหาโควิด-19 ได้ดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับ “วิชั่น”

การบริหารจัดการของผู้นำและฝ่ายบริหารในประเทศนั้นๆ ซึ่งข้อมูล ข้อเท็จจริงก็มีให้เห็น ปิดบังกันไม่ได้ว่าแต่ละประเทศมีฝีไม้ลายมือ ในการรับมือและสู้กับวิกฤตโควิดกันแค่ไหน

เหมือนกับที่กลุ่มดารา ออกมา “คอลเอาต์” ในเชิงตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในประเทศไทย

ว่าจะต้องให้ประชาชนต้องเจอกับสภาพ “รอตรวจ รอเตียง และรอตาย” กันไปอีกนานแค่ไหน แต่แทนที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะฟังการ “คอลเอาต์” แบบฟังให้ได้ยิน

แล้วนำเสียงสะท้อนไปปรับปรุงการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ กลับแสดงท่าทีต่อกลุ่มที่ออกมาคอลเอาต์ ในเชิงที่จะเอาผิดกันในทางกฎหมาย

พร้อมกับมองการเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ออกมาคอลเอาต์ว่าเชื่อมโยงกับทางการเมือง อยู่ฝ่ายตรงข้าม หวังผลต่อการเคลื่อนไหวให้เกิดผลลบต่อรัฐบาล

ท่าทีและการดำเนินการกับกลุ่มที่ออกมาคอลเอาต์ เช่นนี้ ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย ผลักมิตรเป็นศัตรู

ผิดกับท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ไวกับความรู้สึกของประชาชนและดาราที่ออกมาคอลเอาต์ ออกมาลดแรงเสียดทานทางการเมืองว่า

“ความคิดเห็นแตกต่างไม่ใช่การสร้างความเสียหายต่อบ้านเมือง เราก็ต้องฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ว่าเป็นดาราหรือใคร แต่ประชาชนก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าเป็นผมจะถือว่าคำวิพากษ์วิจารณ์จะเป็นกระจกเงาสำคัญที่จะได้ปรับปรุงตัวเอง”

ส่วนท่าที การมอง การรับมือ กับกระแส “คอลเอาต์” คงอยู่ที่ท่านๆ ทั้งหลายจะนำไปคิดอ่านกันเองต่อว่า สิ่งใดที่ควร หรือไม่ควรทำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image