สะพานแห่งกาลเวลา : ระบบเตือนภัยวินาศภัย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-AP)

เมื่อราวกลางเดือนกรกฎาคม เกิดฝนตกหนักมากเป็นพิเศษจนก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “ฝนพันปี” ที่จีน หรือที่เยอรมนีและอีกบางประเทศในยุโรป

ที่หนักหนาสาหัสที่สุดคือเหตุที่เกิดขึ้นทางด้านตะวันตกของเยอรมนี ที่ว่ากันว่า ปริมาณฝนที่ตกทั้งเดือนพากันเทลงมาภายในเวลา 2 วันเศษ ผลก็คือ น้ำล้นตลิ่ง ทะลักท่วมเขื่อนแล้วก็พุ่งเข้าทำลายอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน รถรา ทรัพย์สินของชาวบ้านเสียหายมหาศาล

แต่ที่เสียหายที่สุดคือ มีผู้เสียชีวิตไปถึง 180 คน ยังมีที่สูญหายอีกราว 70 คน เลยทีเดียว

หลังเหตุการณ์ สิ่งที่คนเยอรมันถกกันหนักมากก็คือ ระบบเตือนวินาศภัยล่วงหน้า

Advertisement

อันที่จริงเยอรมนีมีระบบเตือนภัยภาวะภูมิอากาศ กับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่ชื่อว่า “นีน่า” (Nina) ใช้กันอยู่ แต่ มาร์ตินา ฟีทซ์ โฆษกรัฐบาลยอมรับว่า ระบบที่วางไว้ “ทำงาน” ก็จริง แต่ประสบการณ์จากหายนภัยครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ระบบจะต้อง “ดีกว่านี้และทำได้มากกว่านี้”

นั่นหมายถึงต้องยกเครื่องกันทั้งระบบ

อาร์มิน ชูสเตอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันภัยพลเรือน (บีบีเค) ของเยอรมนี บอกว่า กำลังศึกษาระบบการเตือนวินาศภัยล่วงหน้าที่ใช้เทคโนโลยี “เซลล์ บรอดคาสต์” (cell broadcast) เพื่อนำมาใช้แทนระบบเก่า

“เซลล์ บรอดคาสต์” ไม่ค่อยใช้กันนักในยุโรป แต่นิยมใช้เพื่อการเตือนภัยมานานแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, นิวซีแลนด์ หรือในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นต้น

หลักการทำงานของ “เซลล์ บรอดคาสต์” แตกต่างจากระบบเตือนภัยด้วยเอสเอ็มเอส หรือระบบ “โอทีที” ที่ใช้กันอยู่ในหลายประเทศ ซึ่งต้องใช้ “โอเปอเรเตอร์” หรือผู้ให้บริการเป็นผู้จัดส่งเอสเอ็มเอส หรือข้อความเตือนภัย ออกไปพร้อมกันเป็นจำนวนมากสู่ “เลขหมายโทรศัพท์” ที่ใช้กันอยู่ในพื้นที่

“เซลล์ บรอดคาสต์” ใช้ “เซลล์ ไซท์” หรือเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นตัวกระจายสัญญาณ (บรอดคาสต์) ไปยังโทรศัพท์และสมาร์ทโฟนทุกเครื่องในพื้นที่ของเซลล์ไซท์นั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องอิงกับหมายเลขโทรศัพท์ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องรับบริการข้อมูล (ดาต้า) อยู่แต่อย่างใด

นั่นคือ บรรดานักท่องเที่ยวที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่แล้วใช้โทรศัพท์แบบ โรมมิ่ง อยู่ก็จะได้รับสัญญาณเช่นเดียวกัน

และเนื่องจากไม่ได้อิงอยู่กับหมายเลขโทรศัพท์ และระบบส่งข้อความแบบ พอยต์-ทู-พอยต์ ทำให้ไม่เกิดการดีเลย์ ซึ่งมักเกิดกับระบบที่อิงอยู่กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่อาจมีทราฟฟิกหนาแน่น ข้อความจะได้รับโดยทันทีที่เข้ามาอยู่ในรัศมีกระจายสัญญาณของเซลล์ไซท์ ซึ่งสามารถกำหนดเวลาการกระจายสัญญาณได้ ตั้งแต่ 5 นาที ไปจนถึงตลอดระยะเวลา 5 ชั่วโมง

สิ่งที่ผู้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือจะได้รับก็เป็นข้อความเตือนภัย ไม่ต่างจากเอสเอ็มเอสที่เราได้รับกัน แต่อาจมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเกิดภัยอะไรขึ้น ระดับความเสี่ยงสูงแค่ไหน ครอบคลุมพื้นที่ใดบ้าง และผู้ที่ได้รับคำเตือนต้องทำอะไรต่อ อย่างเช่นเตรียมอพยพ เป็นต้น

คำถามที่น่าสนใจก็คือ ถ้านอนหลับอยู่จะทำอย่างไร?

ในบางประเทศแก้ปัญหานี้ด้วยการกำหนดให้ระบบส่งข้อความเตือนภัยแบบนี้สามารถ “โอเวอร์ไรด์” หรือข้ามการตั้งค่าสมาร์ทโฟนทั้งหมดได้ ไม่ว่าเราจะตั้งสั่น หรือปิดเสียง ก็สามารถได้ยินเสียงริงโทน ที่กำหนดให้ดังที่สุดและยังเป็นเสียงริงโทนพิเศษ (เช่น เสียงไซเรน) ที่กำหนดใช้สำหรับการเตือนภัยเท่านั้นดังขึ้นสุดเสียงอยู่ดี เพื่อเรียกความสนใจ

ถ้ายังไม่ไว้ใจ ก็ใช้วิธีการแบบที่ ฮอร์สต์ ซีฮอฟเฟอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยเยอรมนีประกาศว่าจะนำมาใช้ นั่นคือใช้ เซลล์ บรอดคาสต์ ร่วมกับวิธีการอนาล็อก คือ การเปิดเสียงไซเรนเตือนภัยทั่วเมืองนั่นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image