จากดารา มาหาสื่อ…อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา (ฮา)

จากดารา มาหาสื่อ...อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา (ฮา)

จากดารา มาหาสื่อ…อย่าถือคนบ้า อย่าว่าคนเมา (ฮา)

ถึงแม้ข่าวคราวจะสร่างซาลงไปบ้างแล้ว แต่สองกรณีนี้น่าวิวาทะกันต่อให้ตกผลึกกับทุกฝ่าย ว่าสังคมควรมีแนวคิดพื้นฐานในการพิจารณาเรื่องเสรีภาพการแสดงออกของบุคคลและการทำหน้าที่ของสื่ออาชีพอย่างไร

หลังจากบรรดาดาราศิลปินใช้สิทธิพื้นฐานแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์โควิด-19 กับการบริหารจัดการของรัฐบาล เหล่านั่งร้านบริวารเป็นพิษออกมาร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ หากผิดก็ให้จับกุมดำเนินคดี

ท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ดูแลการสื่อสาร เทคโนโลยีสารสนเทศ แรกๆ ก็ทำท่าจะเออออห่อหมกด้วย

Advertisement

ต่อเมื่อเกิดปฏิกิริยาคัดค้าน ต่อต้าน ตอบโต้จากดาราและศิลปิน ว่าการกระทำของบริวารเป็นพิษทั้งหลายแหล่ เป็นการข่มขู่ คุกคาม ปิดกั้น ล่วงละเมิดการใช้สิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของพวกเขา เพียงแค่แสดงความคิดเห็นและนำความจริงมาบอกกล่าวสื่อสารกัน

ท่าทีของผู้บริหารหน่วยงานทางเทคโนโลยีอ่อนลง ค่อยๆ กลับลำ ว่าการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สามารถทำได้ แต่ไม่ยอมบอกว่า การกระทำของบริวารเป็นพิษ ควรหรือไม่ ทำให้สถานการณ์โควิดกับภาพลักษณ์ของรัฐบาลดีขึ้นหรือยิ่งตกต่ำย่ำแย่ขึ้นไปอีก

ครับ ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกเสียอีก

Advertisement

คราวนี้รุกคืบหันมาหาทางเล่นงาน ควบคุม กำกับ กำราบ สื่อสารมวลชน ด้วยการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 27) เรื่องมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด

โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกกำชับให้บังคับใช้มาตรการตามข้อกำหนดอย่างจริงจังต่อสื่อมวลชน คนดัง และเพจต่างๆ

จึงเป็นเหตุให้สมาคมองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชน 6 องค์กร ออกแถลงการณ์โต้ตอบและเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการตามข้อกำหนด ขณะเดียวกันก็กำชับ เรียกร้องสื่อมวลชนทุกแขนงช่วยกันระมัดระวังการเสนอข่าวให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด

ข้อเรียกร้องขององค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจยอมรับฟังเหตุผล ว่าข้อกำหนดข้างต้นเข้าข่ายคุกคามเสรีภาพการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน

เพราะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจใช้ดุลยพินิจตีความแบบครอบจักรวาล เหวี่ยงแห กว้างขวาง ไร้ขอบเขตหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน

คำแถลงของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ นับร้อยคนซึ่งไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าวชี้ชัด ขัดตรงไหน อย่างไร

รัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย กระทรวงดีอีเอส เจ้าหน้าที่ตำรวจ จะรับฟัง ยินยอมทบทวน จนกระทั่งยกเลิกหรือไม่ ยังไม่มีความหวัง

นอกจากการยอมรับฟังเหตุผลของฝ่ายเห็นต่างแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ทัศนคติ และความเข้าใจ ปรัชญา หลักคิดการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน ของผู้มีอำนาจทุกระดับกับสังคมโดยรวม จะเป็นปัจจัยหลัก เป็นเครื่องเตือนสติ ไม่ให้ตัดสินผิดพลาด ออกข้อกำหนดใดๆ แบบเหมาเข่ง ไม่จำแนกแยะแยกกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

กลุ่มที่เป็นปัญหาหลัก สร้างความหนักใจต่อทุกฝ่ายคือ สื่อสังคม (Social Media) ที่ไม่รับผิดชอบ ไร้สำนึก จรรยาบรรณ เอาความเร็ว ความมัน ความสะใจ ในการนำเข้า ส่งต่อข้อความต่างๆ โดยขาดการตรวจสอบที่มาที่ไป ความจริงที่แท้คืออะไร

ทั้งที่เป็นเอกชนและคนของรัฐ แม้รู้ว่าความจริงคืออะไรก็ตาม แต่ต้องการใช้สื่อสังคมเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม

เป้าหมายที่รัฐบาล กระทรวงดีอีเอส หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องการจัดระเบียบ Social Media ให้เกิดความรับผิดชอบเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ต้องไม่เกินเลยจนถึงขั้นละเมิด ปิดกั้นและคุกคามการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการสื่อสารของประชาชนผู้บริสุทธิ์

ที่สำคัญต้องควบคุมไม่ให้เจ้าหน้าที่และกลไกรัฐเป็นผู้ทำเสียเอง

เมื่อเหมาเอาสื่อสารมวลชน สื่ออาชีพที่มีองค์กรสังกัดและองค์กรวิชาชีพ เข้าไปรวมในระนาบเดียวกันกับ Social Media ที่ไม่รับผิดชอบด้วย ผลสะท้อนกลับจากกลุ่มองค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ นิเทศศาสตร์ จึงเกิดขึ้นทันทีทันใด

ต้นเหตุจากการถืออำนาจเป็นใหญ่ ใช้เกินขอบเขต ทั้งๆ ที่กฎหมายที่มีอยู่ก็มากมาย ซึ่งหนักพออยู่แล้ว นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image