สะพานแห่งกาลเวลา : ตัดต่อพันธุกรรมโควิด โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Pixabay)

ขณะที่คนทั่วไปดิ้นรนต่อสู้กับเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ไป นักวิทยาศาสตร์ก็พากันทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหาวิธีการที่จะจัดการกับเจ้าเชื้อร้ายตัวนี้ไปพร้อมๆ กัน

ตั้งแต่การพัฒนาวัคซีน เรื่อยไปจนถึงการค้นหายาสำหรับรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ซึ่งยังไม่มี เช่นเดียวกับวิธีการรักษาอื่นๆ ซึ่งยังไม่พบเช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมวิจัยของออสเตรเลียตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ คอมมูนิเคชัน โดยระบุว่า ผลงานศึกษาวิจัยชิ้นนี้สักวันหนึ่งข้างหน้าอาจกลายเป็นวิธีการในการรักษาโควิด-19 ได้อยู่หมัด

ทีมวิจัยที่ว่านี้นำโดย แพทย์หญิง ชารอน เลวิน นักวิชาการจากสถาบันปีเตอร์ โดเฮอร์ตี เพื่อศึกษาโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ร่วมกับศูนย์มะเร็ง ปีเตอร์ แม็คคัลลัม แห่งรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย

Advertisement

สิ่งที่ทีมวิจัยชุดนี้ทดลองทำในห้องปฏิบัติการทดลองก็คือ การใช้เทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม “คริสเปอร์/แคสไนน์” ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการกับเชื้อโคโรนาไวรัส ซาร์ส-โควี-2 ที่เป็นตัวการก่อโรคระบาด โควิด-19

“คริสเปอร์/แคสไนน์” (CRISPR/Cas9) เป็นเทคโนโลยีชีวภาพใหม่ล่าสุดที่เพิ่งค้นพบ โด่งดังมากเพราะนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายทาง โดยเฉพาะในทางการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกรรมวิธีนี้ 2 คน คือ เจนนิเฟอร์ โดอุดนา (อเมริกัน) และ เอ็มมานูแอล ชาร์เพนติเยร์ (ฝรั่งเศส) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกันไปเมื่อปี 2020

“คริสเปอร์” โดยพื้นฐานแล้วเป็นกระบวนการทางเคมีในเซลล์ของ “แบคทีเรีย” ที่ใช้กระบวนการนี้ร่วมกัน “เอ็นไซม์ แคส” ชนิดหนึ่งชนิดใดในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับตัวมันเอง

Advertisement

“แคส” ใช้ในการตัดหรือเปิดสายพันธุกรรมของเชื้อโรคให้เป็นช่อง แล้ว “คริสเปอร์” ก็ “ต่อ” และ “เติม” สายพันธุกรรมนั้นเสียใหม่ ทำให้คุณสมบัติที่เป็นพิษของเชื้อหมดไป ที่สำคัญก็คือ แคส จะจดจำตำแหน่งของลำดับพันธุกรรมได้ เมื่อเจอเชื้อใหม่ก็จะจัดการทำนองเดียวกันซ้ำ แบคทีเรียก็จะปลอดเชื้อ

เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการตัดแต่งดีเอ็นเอนั้น เราใช้เอ็นไซม์ แคส9 จึงเรียกเทคนิคนี้ว่า “คริสเปอร์/แคสไนน์”

ทีมนักวิจัยของออสเตรเลียเลียนแบบกระบวนการของแบคทีเรียมาใช้ในการสู้กับโควิด โดยเปลี่ยนเอ็นไซม์ แคส จาก แคส9 เป็น “แคส13บี” (Cas13b) ที่เหมาะกับการตัดสารพันธุกรรมแบบสายเดี่ยว (อาร์เอ็นเอ) โดยเฉพาะ

ด้วยการออกแบบ “คริสเปอร์/แคส13บี” ให้พุ่งเป้าไปที่การตัดต่อตำแหน่งเฉพาะบนสายอาร์เอ็นเอของเชื้อก่อโรคโควิด-19 ส่งผลให้เชื้อไม่สามารถแบ่งตัวภายในเซลล์ในร่างกายเราได้

ที่สำคัญคือ คริสเปอร์/แคส13บี สามารถจดจำลำดับพันธุกรรมของไวรัสก่อโรคโควิดได้ ดังนั้นเมื่อเชื้อเข้ามาใหม่ในร่างกาย มันก็จะจัดการตัด แล้วแต่งพันธุกรรมใหม่อีกทันที

ร่างกายเราก็จะปลอดเชื้อในที่สุด

ทีมวิจัยทดลองแล้วพบว่าวิธีนี้ได้ผล แม้เชื้อโควิดจะกลายพันธุ์ไปก็ตาม เห็นได้จากการจัดการเชื้อ “อัลฟ่า” ได้ดีไม่แพ้เชื้อดั้งเดิม

แต่กรรมวิธีตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนี้ยังอยู่เพียงแค่ขั้นทดลองในห้องทดลอง ยังไม่ได้เริ่มทดลองในสัตว์ แล้วก็ในคนเลย

ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำอย่างไร ถึงจะได้คริสเปอร์/แคส13บี ในรูปแบบที่ใช้ง่าย (เช่นกินเองได้ตามคำสั่งแพทย์) และที่สำคัญคือต้องราคาถูก ถึงจะดีที่สุด

ดังนั้นคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีไม่น้อยกว่าที่กรรมวิธีรักษาแบบนี้จะสามารถได้รับความเห็นชอบให้นำมาใช้กับผู้ป่วยโควิดได้

แต่ก็ถือว่าเป็นความหวังใหม่ในการเอาชนะโรคระบาดอย่างโควิด-19 ได้ในที่สุด

ตอนนี้ก็ต้องอดทน อาศัยการสวมหน้ากากป้องกัน รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ ไม่ไปในพื้นที่หรือทำกิจกรรมเสี่ยงกันต่อไปเป็นดีที่สุดครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image