พ.ร.บ.การศึกษา…ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง

พ.ร.บ.การศึกษา...ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง

พ.ร.บ.การศึกษา…ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง

คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าขณะนี้
สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ เสร็จเมื่อไหร่จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่เป็นลำดับถัดไปทันที คาดว่าจะเสร็จทันสมัยประชุมนี้แน่นอน

ได้ฟังคุณชวนให้คำยืนยันอย่างนี้ บรรดาแฟนคลับการศึกษาไทยเริ่มมีความหวังมากขึ้นตามลำดับว่า กฎหมายการศึกษาฉบับล่าสุดใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ.2542 22 ปีเต็ม คงมีโอกาสคลอดออกมาเป็นฉบับใหม่ใน พ.ศ.2564

พ.ร.บ.การศึกษาเป็นกฎหมายแม่บท ลำดับรองต่อจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ เนื้อหาเป็นเรื่องของการวางโครงสร้างทางการศึกษา การจัดระบบการบริหารจัดการ จนกระทั่งหลักสูตรการศึกษา กระบวนการเรียนการสอน ฯลฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพการศึกษา คุณภาพคนไทยและสังคมไทยโดยรวม

Advertisement

เป็นหนึ่งในกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป การยกร่างใหม่หรือปรับปรุงแก้ไข รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ที่ประชุมรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นองค์กรพิจารณาร่วมกัน

ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาว่ายังไม่สามารถทำให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดผลจริงจัง ปัญหาคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษายังคงรุนแรงอยู่ในขั้นวิกฤต เช่นเดียวกับวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และล่าสุดวิกฤตสาธารณสุขจากมหันตภัยไวรัสโควิด-19 ได้ซ้ำเติมปัญหาการศึกษาให้รุนแรงและน่าเป็นห่วงมากขึ้นอีก

เหตุจากสถานการณ์วิกฤต เสียงเรียกร้องให้ยกเครื่องกฎหมายการศึกษาอีกครั้งใหญ่จึงดังติดต่อกันเรื่อยมา แต่ดูเหมือนว่าความใส่ใจขององค์กรอำนาจทางการเมืองโดยเฉพาะพรรคการเมืองเป็นไปอย่างแกนๆ ไม่โดดเด่น หนักแน่นจริงจัง ต่างจากการขับเคลื่อนประเด็นและกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองเป็นส่วนใหญ่

Advertisement

แม้ว่าจะมีเสียงสะท้อนของผู้คนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ทั้งครู นักเรียน ผู้บริหารโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง เกี่ยวกับวิกฤตการศึกษาหลายประการ เสียงตอบรับของพรรคการเมืองต่างๆ ค่อนข้างแผ่วเบา นานๆ ครั้งถึงจะมี ส.ส.บางคนออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งคราว ยังไม่มีพลังมากพอที่จะทำให้ทั้งพรรค ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง

ฉะนั้น ในโอกาสที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา การแถลงแสดงจุดยืน ท่าทีของพรรคการเมืองทุกพรรค ทั้งระดับภาพรวมของกฎหมายและเรียงรายประเด็นที่เป็นปัญหา ควรเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ จริงจัง เพื่อเป็นสัญญาประชาคมอีกครั้งหนึ่งว่าท่านผู้มีเกียรติทั้งหลายจะจับมือร่วมกันทำให้การปฏิรูปการศึกษาพาสังคมไทยก้าวพ้นวิกฤตจนเป็นผลสำเร็จให้ได้

สาระในระดับภาพรวม ตั้งแต่ปรัชญา วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของการจัดการศึกษา คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทย สิทธิและโอกาสทางการศึกษา การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ ดีกับเก่ง จะสร้างสมดุลในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร รวมถึงข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มนักเรียนเลว เช่น เสรีภาพและความปลอดภัยในสถานศึกษา ฯลฯ

ส่วนรายประเด็นซึ่งเป็นปัญหาโต้แย้งของผู้คนในวงการการศึกษา อาทิ การกำหนดชื่อตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนว่าครูใหญ่แทนหัวหน้าสถานศึกษา ใบรับรองความเป็นครู ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู กลไก ระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาครู การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ หลอมรวม 4 แท่งอำนาจให้เกิดเอกภาพ แก้ปัญหาความทับซ้อนของบทบาทของแต่ละแท่ง ความเป็นอิสระของสถานศึกษา และการกระจายอำนาจทางการศึกษาฯ

พรรคการเมืองมีคำตอบต่อประเด็นต่างๆ เหล่านี้อย่างไร เป็นเรื่องที่สังคมทั้งในและนอกวงการศึกษาอยากได้

เช่นเดียวกับวาระหาเสียงเลือกตั้งซึ่งทุกพรรคจะประกาศนโยบายทางการศึกษา แม้ภายหลังได้อำนาจแล้วแกล้งลืมไปไม่ได้ทำ หรือไม่ก็ถูกอำนาจและวัฒนธรรมราชการประจำกลืนหายไปก็ตาม

ความสนใจ ติดตาม ขับเคลื่อนและผลักดันอย่างต่อเนื่องจริงจังของพรรคการเมือง จะเป็นพลังส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระยะยาว และระยะสั้นในวันที่การศึกษาไทยทุกระดับกำลังเผชิญปัญหาการปรับรูปแบบการเรียนการสอน เพราะเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีออนไลน์ ออนแอร์

ปรากฏว่า ในระดับนานาชาติมีผลสำรวจขององค์กรชื่อ “แคสเปอร์สกี้” ร่วมกับ “โทลูน่า” พบว่า เด็กมากกว่าครึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 55% ชอบการศึกษาแบบตัวต่อตัวมากกว่าการเรียนออนไลน์ทางไกล เด็กลาตินอเมริกาชอบการศึกษาแบบดั้งเดิมมากที่สุด 75% แอฟริกา 73% ตะวันออกกลาง 58%

สถานการณ์ประเทศไทยในเรื่องนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเช่นกัน กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยคือ ม.พะเยา ม.มหาสารคาม ม.ทักษิณ และ ม.ศิลปากร กำลังเร่งเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินแบบเร่งด่วน จากนักเรียน ครู และ
ผู้ปกครอง ทั้งที่ควรทำตั้งแต่ปี 2563 แล้ว

หากพรรคการเมืองหันความสนใจมาสู่ประเด็นปัญหานี้บ้างจะเป็นการดียิ่งขึ้นนอกจากไล่กับเชลียร์รัฐบาล เพราะสรุปร่วมกันแล้วมิใช่หรือว่าทุกภาคส่วนต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางไวรัสโควิด-19 ต่อไปอีกยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image