สะพานแห่งกาลเวลา : กัลฟ์สตรีม โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-NASAGoddard Space Flight Center Scientific Visualization Studio)

เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ จีโอไซนซ์ เนื้อความสรุปว่า กระแสน้ำหลักของมหาสมุทรโลกอย่าง กระแสน้ำแอตแลนติก เมริดิโอนัล โอเวอร์เทิร์นนิ่ง เซอร์คูเลชัน (เอเอ็มโอซี) ที่ส่วนมากมักรู้จักกันในชื่อ กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอเอ็มโอซี) กำลังไหลเวียนด้วยกำลังที่อ่อนลงและช้าลงมากที่สุดในรอบ 1,600 ปี

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่อย่างมาก เพราะกัลฟ์สตรีมคือตัวการในการบรรเทาเบาบางภาวะภูมิอากาศรุนแรงให้กับพื้นที่ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ขนาดมหึมาเลยทีเดียว

เรียกได้ว่าเป็นตัวปรับสมดุลของภูมิอากาศที่สำคัญยิ่งให้กับโลก

แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ของทีมวิจัยที่นำโดย นิคลาส โบเออร์ส นักวิจัยของสถาบันพอทสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากภูมิอากาศ ในประเทศเยอรมนี ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เนเจอร์ ไคลเมท เชนจ์ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอันตรายที่จะเกิดจากเอเอ็มโอซีมากยิ่งกว่านั้น

Advertisement

ข้อสรุปจากงานวิจัยที่ผ่านๆ มามักสรุปเอาไว้ว่า เอเอ็มโอซีจะยังคงอยู่ต่อไป เพียงแค่ว่าจะไม่อยู่ในสภาพไหลแรงและเร็ว แต่จะไหลช้าและอ่อนกำลังลงเท่านั้น

ข้อที่ถกกันอย่างมากก็คือ สภาวะที่อ่อนแรงลงและไหลวนช้าลงที่ว่านี้ ช้าพอที่จะให้เวลากับมนุษย์ได้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน กู้สภาพคืนมาได้หรือไม่

ทีมวิจัยของโบเออร์ส อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตจากแกนน้ำแข็งแอตแลนติก รวมถึงข้อมูลทางธรณีวิทยาอีกหลายอย่างจากอดีตกาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระแสน้ำเอเอ็มโอซีนั้นมีสภาพ “เสถียร” อยู่ 2 แบบ คือ สถานะไหลแรงและเร็ว อย่างที่เราคุ้นเคย กับสถานะไหลอ่อนและช้า

Advertisement

การวิเคราะห์นี้แสดงให้เห็นด้วยว่า เอเอ็มโอซีค่อยๆ ไหลช้าลงก็จริง แต่เมื่อผ่านจุด “วิกฤต” จุดหนึ่งแล้ว การพลิกผันไปอยู่ในอีกสถานะหนึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันด่วน เหมือนเราพลิกกลับเหรียญจากด้านหนึ่งไปสู่อีกด้านหนึ่งยังไงยังงั้น

เมื่อกลับไปสู่สถานะใหม่แล้ว ก็จะคงอยู่อย่างนั้น ต่อเนื่องนานนับเป็นร้อยเป็นพันปี

สิ่งที่ทีมวิจัยของโบเออร์ส บอกไม่ได้และเรียกร้องให้เร่งศึกษาวิจัยให้ชัดเจนก็คือ เวลานี้เราอยู่ตรงจุดไหนกันแน่ เข้าใกล้ “จุดวิกฤต” ที่ว่ามากเพียงใด หรือว่าเราผ่านเลยจุดที่ว่านั้นมาแล้ว?

เพราะการเปลี่ยนสถานะเสถียรของเอเอ็มโอซี จากไหลแรง เร็ว เป็น ไหลอ่อนและช้านั้น ไม่เพียงส่งผลมหาศาลต่อภูมิอากาศของซีกโลกทางตอนเหนือ (เส้นศูนย์สูตร) ให้เย็นลงมากเท่านั้น ยังจะส่งผลให้เกิดพายุรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ในเวลาเดียวกันก็จะส่งผลกระทบต่อรูปแบบของฝนที่เกษตรกรหลายพันล้านคนต้องพึ่งพาในการทำเกษตรกรรมใน แอฟริกา, อเมริกาใต้ และเอเชีย รวมทั้งอินเดียอีกด้วย

อะไรทำให้สถานะเสถียรของกระแสน้ำเอเอ็มโอซี พลิกกลับไปอีกขั้วหนึ่ง? คำตอบของ โบเออร์สและทีมก็คือ ภาวะโลกร้อนที่มนุษย์ก่อให้เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดการละลายของมวลน้ำแข็ง เพิ่มน้ำจืดปริมาณมหาศาลให้กับมหาสมุทร ตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

เอเอ็มโอซีนั้นคงสถานะอยู่ได้เพราะ 2 ปัจจัย หนึ่งคืออุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่างน้ำในมหาสมุทรตอนใต้และมหาสมุทรตอนเหนือ อีกหนึ่งคือ ความเค็มของน้ำที่แตกต่างกัน กระแสน้ำจากมหาสมุทรตอนใต้ที่เค็มกว่าและร้อนกว่า จะไหลวนขึ้นไปทางเหนือ แลกเปลี่ยนอุณหภูมิจนเย็นลง จึงจมลงสู่ด้านล่างเพราะมีความเค็มมากกว่าทำให้มีความหนาแน่นมากกว่า แล้วจึงไหลวนกลับมายังมหาสมุทรตอนใต้อีกครั้ง

เมื่อความเค็มลดลงจนแทบไม่แตกต่าง ความหนาแน่นก็ไม่แตกต่าง ทำให้ไม่สามารถจมลงแล้วดันมวลน้ำจากด้านล่างขึ้นสู่พื้นผิวแทนได้ การไหลเวียนก็ไม่เกิดขึ้น

นี่เป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า ที่ผ่านมามนุษย์เราทำร้ายตัวเองและโลกหนักหนาสาหัสเพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image