จำนำข้าว-วิกฤต โควิด-19 คำถามถึงมาตรฐานความรับผิด โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำทีมผู้บริหารในสังกัดแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด-19 โดยการออกพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดที่อาจเกิดข้อผิดพลาดโดยสุจริตใจ

ปรากฏว่าถูกวิจารณ์ยับ อาจมีผลเป็นการนิรโทษกรรมการตัดสินใจที่ผิดพลาดทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง จากการดำเนินนโยบายและมาตรการป้องกัน ดูแลรักษา จัดหาและกระจายการฉีดวัคซีน ทำให้ยอดผู้เสียชีวิต ตายคาบ้านและข้างถนนเพิ่มขึ้นยังไม่ลดลง

ถ้ามีกฎหมายนี้ออกมา คนทำผิดก็รอดตัวไป ไม่ต้องรับโทษ หรือรับผิดชอบใดๆ ทั้งทางกฎหมายแพ่ง อาญา และทางการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรับผิดทางการเมืองซึ่งเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายการเมืองโดยตรง

ขณะที่วิกฤตยังคงดำเนินไปอย่างน่าวิตก จนกลุ่มแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 มาแก้ปัญหา โดยระงับการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในเมืองไทยไปต่างประเทศและให้ใช้ฉีดกับคนไทยภายในเวลา 3 เดือนข้างหน้า

Advertisement

รัฐบาลยังไม่กล้าตัดสินใจทั้งสองเรื่อง

การกำหนดนโยบายและบริหารนโยบายที่ผิดพลาดจนสถานการณ์วิกฤตส่งผลกระทบลุกลามรุนแรง ทั้งทางสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม ครั้งนี้ จึงน่าเทียบเคียงกับกรณีการกำหนดและบริหารนโยบายจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความเหมือนและแตกต่าง

กันอย่างไร ทั้งด้านขนาดของความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกด้าน และความรับผิดที่ผู้บริหารนโยบายผิดพลาดควรจะได้รับและได้รับไปแล้ว

นโยบายจำนำข้าว ผู้นำฝ่ายบริหารและทีมงานถูกตัดสินให้ถูกลงโทษ ด้วยเหตุผลทำให้เกิดความเสียหายจากการที่รัฐต้องหาเงินไปชดเชยการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาเกินจริง ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดทำให้ขาดทุนมหาศาล กระทบต่อฐานะทางการเงินของรัฐต้องหาเงินมาใช้คืนภายหลังจำนวนมาก

ในขั้นตอนการปฏิบัติเกิดช่องโหว่จากการขายข้าว เกิดการทุจริต นักการเมืองและบริษัทเอกชนเครือข่ายได้รับประโยชน์

นโยบายการจัดการสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ผิดพลาดอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน เกิดผลเสียหายร้ายแรงทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมยิ่งกว่า ผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เด็กกำพร้าพ่อ กำพร้าแม่ สามี ภริยา ญาติพี่น้อง เพื่อนมิตร ล้มหายตายจากไปต่อหน้าต่อตาก่อนเวลาอันควร เพราะเข้าไม่ถึงระบบการรักษาและไม่ได้รับวัคซีน จากการประมาณการผิดพลาดจนขาดแคลน ไม่เพียงพอ ผลจากการบริหารนโยบายวัคซีนเป็นต้นเหตุ

ทําให้ต้องดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ธุรกิจใหญ่ กลาง เล็ก กระทบล้มระเนระนาด คนตกงานทุกหย่อมหญ้า รัฐต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาเยียวยา สร้างภาระหนี้สินให้คนรุ่นต่อไปต้องแบกรับหาทางชดใช้

คิดคำนวณความสูญเสียและความเสียหายทั้งหมด ขนาดใหญ่ยิ่งกว่านโยบายจำนำข้าวหลายเท่า

ต่างกันตรงประเด็นคอร์รัปชั่น ช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต จำนำข้าวถูกสอบสวนและตัดสินแล้ว ส่วนนโยบายการจัดการโควิด-19 การจัดหาและกระจายวัคซีน เกิดอภิสิทธิ์ชน เล่นเส้น เล่นสายในระดับวีไอพีแต่ละกลุ่ม การซื้อขายคิวฉีดวัคซีน การจัดซื้อชุดตรวจเกิดข้อครหาล็อกสเปก กรณีทำนองนี้เข้าข่ายคอร์รัปชั่นเช่นเดียวกันหรือไม่ ยังไม่มีการสืบหาความจริงอย่างถึงแก่น
เท่าที่ควร

กระบวนการพิจารณาความผิดพลาด และตัดสินความรับผิดของฝ่ายบริหารทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมือง จากการกำหนดและบริหารนโยบายจัดการโควิด-19 ผิดพลาดอย่างร้ายแรงยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว นอกจากเสียงวิพากษ์ในเวทีการชุมนุมของกลุ่มมวลชนต่างๆ การวิจารณ์ของสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย

ฉะนั้น การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติ น่าจะเป็นเวทีทำความจริงให้ปรากฏ ผ่านการศึกษา เปรียบเทียบลักษณะของความเสียหาย ขนาดของความเสียหาย และภาระของสังคมต้องแบกรับจากสองนโยบายนี้ แตกต่างกันตรงไหน อย่างไร

ความรับผิดที่ผู้บริหารนโยบายสมควรจะได้รับ ทั้งทางกฎหมายแพ่ง อาญา และทางการเมือง จะเกิดขึ้นด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่

ภายใต้ระบอบ คสช.ที่หยั่งรากลึกมากว่า 7 ปี ถึงวันนี้ผู้มีอำนาจยังไม่ยอมรับผิด เพราะโทษคนอื่น โทษชาวบ้านเป็นหลักยิ่งกว่าโทษตัวเอง ขณะที่บริษัทบริวารแวดล้อมยังได้รับประโยชน์

คำตอบเรื่องมาตรฐานความรับผิดระหว่างจำนำข้าวกับวิกฤตโควิด-19 คงหาไม่ได้อีกเช่นเคย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image