สถานีคิดเลขที่ 12 : ซักฟอก-ตรงปก?

สถานีคิดเลขที่ 12 : ซักฟอก-ตรงปก? พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีรายบุคคล 6 คน ต่อประธานสภา
ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส
ญัตติที่นำเสนอ บรรยายพฤติการณ์ ดุเดือดเลือดพล่าน
ราวกับทาลิบันบุกสภา

ในรายบิ๊กตู่ เป็นต้นว่า ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ค้าความตาย สร้างกำไรจากวัคซีน โอหังคลั่งอำนาจ
ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ นั้น
ต่างเผชิญข้อหารุนแรง ฉกาจฉกรรจ์ทั้งสิ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านศึกไม่ไว้วางใจมาแล้ว 2 ครั้ง
ระหว่างอภิปรายแต่ละครั้งนั้น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลประท้วงวุ่น การใช้คำอภิปราย ที่เห็นว่าผิดข้อบังคับ
หลายต่อหลายครั้ง แม้ฝ่ายค้านยอมถอนคำพูด
แต่ได้ยืนยันว่า นี่เป็นการกล่าวหา ตรวจสอบรัฐบาล ย่อมก็ต้องรุนแรงเป็นธรรมดา
มิได้มาชื่นชม สรรเสริญเยินยอ
เรื่องที่ฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจ ฝ่ายค้านมองเป็นปกติของการตรวจสอบ

สำหรับญัตติล่าสุดนี้ สมาชิกฝ่ายรัฐบาล หลายท่าน ส่งเสียงทักท้วง รุนแรงเกินไป เอาแต่ด่า ไม่สร้างสรรค์ อย่างที่ควรจะเป็น
แต่ไม่ว่าใคร ฝ่ายไหน จะมองอย่างไร
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น มีกฎ กติกา กำกับ จึงไม่น่าห่วงเท่าใดนัก
ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถือเป็นท่าไม้ตาย มาตรการตรวจสอบการทำงานขั้นสูงสุดของฝ่ายนิติบัญญัติ

Advertisement

หัวใจของเรื่อง คือข้อมูล หลักฐาน ใบเสร็จ มัดเอาผิดทางการเมือง
มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ 1 การโน้มน้าวสมาชิกสภา ให้หันมาทบทวน คว่ำฝ่ายบริหาร
โหวตทิศทางเดียวกับฝ่ายค้าน เพื่อให้พ้นจากความเป็นนายกฯ-รัฐมนตรี
หากทว่า ไม่ประสบความสำเร็จขั้นแรก
สภาไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งต่อไป
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มิได้สูญเปล่า

หากฝ่ายค้านมีข้อมูล หลักฐานหนักแน่น มานำเสนอ ชี้ให้เห็นว่า ไม่สมควรอย่างเด็ดขาด ที่จะให้อยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป
ถึงแม้ ส.ส.-ฝ่ายนิติบัญญัติ เห็นสมควรไว้วางใจให้บริหารต่อไป
แต่ประชาชนที่ได้ยิน ได้ฟัง ข้อมูล
ก็ย่อมที่จะสามารถ ‘ตัดสิน’ ได้

ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายมาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถโค่นรัฐบาลได้ ครั้งที่ 3 นี้ แน่นอน ผลคงออกมาไม่ต่างกับสองครั้งที่ผ่านมา
เนื่องจากการเมืองแบบไทยๆ นั้น
ไม่ได้ตัดสินใจจากข้อมูล หากแต่วัดกันด้วยจำนวนเสียงของแต่ละฝ่ายเป็นหลัก

Advertisement

แต่การแพ้-ชนะ อย่างแท้จริงนั้น
มันอยู่ที่ข้อมูล หลักฐาน ที่ฝ่ายค้านนำเสนอ ขับไล่รัฐบาลมากกว่า
เมื่อนำมาเทียบเคียงกับคำชี้แจง ฝ่ายรัฐบาลหักล้าง ฟังขึ้นหรือไม่ ซึ่งประชาชนเป็นผู้ตัดสินเรื่องนี้
มันอาจไม่มีผลทันทีทันใด แต่สั่งสม ความไม่พอใจ ไม่เชื่อมั่น ศรัทธาอีก
และไปออกดอกผลในการเลือกตั้ง
เป้าหมายฝ่ายค้าน คงอยู่ตรงนี้

การอภิปรายที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ไม่ต้องถามว่า นายกฯ ตัวชูโรง หนาวยะเยือกขนาดไหน
เมื่อภาพพังปรากฏอยู่เบื้องหน้า
ผลการทำงานแก้ปัญหาโควิดระบาด อภิปราย-ฟ้องชัดอยู่แล้ว อย่างสมบูรณ์แบบ
อาจยิ่งกว่าการบรรยายพฤติการณ์ด้วยซ้ำ

แต่คำ ดุเดือด เลือดพล่าน ก็มีข้อดีบางประการ
มันผูกมัดฝ่ายค้านให้ต้องรับผิดชอบ หาข้อมูล มานำเสนอ ประกอบให้ได้
ขั้นต่ำต้องทัดเทียมภาพความล้มเหลว ณ เบื้องหน้า ที่ประชาชนสัมผัส จับต้องได้
ย่อหย่อนกว่านี้ไม่ได้

เนื่องจากการต่อสู้กับรัฐบาลที่เสาค้ำมั่นคง แข็งแกร่งยิ่งนักนั้น
ฝ่ายค้านต้องทำการบ้าน มีมาตรฐานสูง ตรวจสอบด้วยข้อมูลอย่างมีคุณภาพ พิสูจน์ให้เห็น
ตรงปก ตรงคำบรรยายพฤติการณ์แต่ละท่าน หากพิสูจน์ชี้ให้เห็นด้วยข้อมูลมิได้ มีแต่คำด่า เอามัน
ไม่เพียงแต่ฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น
ฝ่ายค้านก็เสี่ยงถูกโห่ไล่ ไว้วางใจมิได้เช่นกัน

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image