บทนำ : ยุติความรุนแรง

บทนำ : ยุติความรุนแรง การปราบผู้ชุมนุมที่ดินแดง และพื้นที่อื่นๆ

การปราบผู้ชุมนุมที่ดินแดง และพื้นที่อื่นๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้คณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนฯ เชิญผู้เกี่ยวข้องไปสอบถาม ขณะที่สังคมตั้งคำถามเช่นเดียวกัน นายตำรวจ ทหารหลายคนได้ออกมาเตือนว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อม็อบต่างๆ อาจทำให้ถูกฟ้องร้องได้ อดีตรอง ผบช.น.ที่คร่ำหวอดพื้นที่กรุงเทพฯ และสถานการณ์ต่างๆ มาอย่างโชกโชนอย่าง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ เตือนและแนะนำว่าการเจรจาคือวิธีการลดความรุนแรงได้ การใช้ความรุนแรงย่อมต้องรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุม

โดยปกติจะพบว่า ตำรวจมีความเป็นมิตรต่อประชาชนมากกว่าข้าราชการในส่วนงานอื่นๆ เพราะแต่ละวันต้องคลุกคลีพบปะกับประชาชน เข้าใจวิถีชีวิตของประชาชน อาจจะมีบางนายที่รีดไถใช้อำนาจกับประชาชน ก็เป็นส่วนน้อย ที่สำคัญคือประชาชนและสังคมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ตำรวจได้ แต่ต้องยอมรับว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในระยะหลังรัฐประหาร 2557 มาจนถึงระยะหลัง ภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาประชาชนได้เปลี่ยนแปลงไป

หลายฝ่ายกำลังมองภาพเหตุการณ์ที่ดินแดงด้วยความเป็นห่วง เพราะจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับประชาชน โดยเฉพาะเยาวชน เกือบทุกวัน มีการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา การตรึงกำลัง คุมเชิง เรียกตรวจ ใช้วาจาไม่สุภาพ ใช้อารมณ์ในการปฏิบัติต่อประชาชนและเยาวชน สิ่งที่พึงระวังคือ ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐจะสั่งสมไปเรื่อยๆ และเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่เป็นผลดีกับภาครัฐ เพราะสมมุติฐานของสังคมก็คือ ข้าราชการกินเงินเดือน สวัสดิการจากภาษีของประชาชน ดังนั้น จะต้องเป็นมิตร ไม่ทำร้าย และปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเข้าใจ

สำหรับผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งในสายตาเจ้าหน้าที่อาจเห็นว่าเป็นพวกก่อกวน สร้างความปั่นป่วน แต่ถ้าเริ่มต้นจากพื้นฐานว่าเป็นเรื่องการเมือง ก็จะเข้าใจได้ว่าต้องจัดการด้วยวิถีทางการเมือง และดังที่อดีตรอง ผบช.น.เตือนไว้ข้างต้นว่า ถ้าใช้ความรุนแรง ก็จะมีความรุนแรงที่มากขึ้นตามมา ผู้มีหน้าที่ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนฯ ที่อนุมัติงบประมาณให้ฝ่ายบริหารนำไปใช้จ่าย หรือองค์กรอย่างกรรมการสิทธิมนุษยชน น่าจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image