เริงโลกด้วยจิตรื่น : ทางสายกลาง

เริงโลกด้วยจิตรื่น : ทางสายกลาง

เคลื่อนชีวิตที่ไม่สงบไปอย่างสงบ
คือคำชี้ทางที่มักได้ยินบ่อยๆ

“สงบ” คือ สภาวะจิตที่ไม่มีแรงเสียดทานอะไรมาทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน วุ่นวายสับสน เป็นสภาวะที่ตั้งอยู่ด้วยสติ และมั่นอยู่อย่างมีสมาธิ ไม่วอกแวกไหวเอน

“ไม่สงบ” คือ จิตไม่อยู่ในสภาวะเช่นนั้น ฟุ้งไปด้วยความคิดสารพัด ทุรนไปในความอยากโน่นอยากนี่ ขุ่นเคืองในเรื่องต่างๆ ดำเนินไปด้วยความไม่มั่นใจ สับสนอลหม่าน คาดเดาไปเรื่อย

ชีวิตสงบจึงถูกต้อง

Advertisement

ทว่าชีวิตส่วนใหญ่นั้น เคลื่อนในความไม่สงบมากกว่า

เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่การใช้ชีวิตแบบคนทั่วไปจะดำเนินไปด้วยความสงบ เพราะชีวิตเช่นนั้นย่อมอยู่ด้วยความปรารถนา อยากได้นั่น อยากมีนี่ หรือไม่อยากเป็นแบบนั้น ไม่อยากเอานี่ หรือดำเนินไปแบบงงๆ เต็มไปด้วยความสงสัยว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้น เรื่องนี้

อันเป็นสภาวะที่อยู่อย่างมีแรงเสียดทาน เกิดพลังขับในจิตใจ และส่วนใหญ่เป็นพลังที่ขัดแย้ง บีบคั้น กดดันสภาวะชีวิตที่เป็นอยู่

Advertisement

ชีวิตของคนธรรมดาสามัญยากที่จะหลีกพ้นสภาวะเช่นนี้

ชีวิตที่เคลื่อนไปด้วยแรงกดดัน เสียดทาน บีบคั้น ไปตามแรงขับดังกล่าว ย่อมอยู่ในสภาวะสงบไม่ได้

อาจจะมีความสุขได้ หากบรรลุถึงความปรารถนา ได้สมในสิ่งที่หวัง แต่ถึงอย่างไรก็ต้องผ่านแรงเสียดทานที่ก่อให้เกิดการดิ้นรนซึ่งเป็นภาวะของความสุข

อีกทั้งสภาวะสมปรารถนาที่เป็นความสุขนั้นจะเป็นได้แค่ชั่วคราวขณะที่ยังไม่เกิดความปรารถนาใหม่เท่านั้น เมื่อความหวังใหม่เกิดขึ้น การดิ้นรนจะเกิดตามมา และเป็นไปไม่ได้ที่ความปรารถนาใหม่จะไม่เกิดกับชีวิต

นั่นหมายถึงการดิ้นรนครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเสมอ ไม่มีสิ้นสุด

ชีวิตสามัญจะเป็นเช่นนั้น หนีไม่พ้นจากสภาวะเช่นนี้

และความเหน็ดเหนื่อยกับภาวะแบบนี้ จึงมีผู้แสวงหาหนทางที่ต่างออกไป คือหาทางให้ชีวิตดำเนินไปอย่างปราศจากแรงเสียดทานทั้งหลาย

หนทางชี้แนะก็คือ ทำให้จิตพ้นจากแรงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นปรารถนาจะได้ หรือปรารถนาจะปฏิเสธ ทำให้จิตกระจ่างชัดไม่เหลือลังเลในความปรารถนาหรือไม่ปรารถนานั้น

ฝึกให้จิตอาศัยอยู่ในสภาวะสงบ

อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ดำเนินไปด้วยสภาวะเช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลย

เพราะเมื่อยังมีลมหายใจ มนุษย์ต้องเคลื่อนไปด้วยสัญชาตญาณเอาตัวรอด อย่างน้อยต้องหากิน ต้องป้องกันตัวเองจากความเดือดร้อนโดยธรรมชาติ ต้องเยียวยารักษาความเสื่อมของเนื้อหนังและอวัยวะ

มันสมองของมนุษย์พัฒนาจนต้องคิดว่าจะสนองสัญชาตญาณป้องกันตัวเองไว้ให้มั่นคงได้อย่างไร เกิดการสะสมสิ่งของจำเป็น สิ่งของอำนวยความสะดวกสบาย สิ่งที่จะเสพสุข

และนั่นหมายถึงการดำเนินไปในหนทางสนองปรารถนา ขยายใหญ่ และหลากหลายมากขึ้น

ความสงบจึงไม่ใช่วิถีที่เป็นไปได้
ชีวิตของสามัญชนต้องเคลื่อนไปอย่างไม่สงบ

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่พยายามหาหนทางที่จะเคลื่อนชีวิตที่ไม่สงบนั้นด้วยสภาวะจิตที่สงบ

หากติดตามพัฒนาการของการแสวงหาหนทางนี้จะพบว่า

พวกหนึ่ง ใช้วิธีสะสมให้เกิดความมั่นใจว่ามีทุกอย่างพร้อมอย่างมั่นคงตลอดไป เมื่อมีพอแล้วจึงปลดเปลื้องความปรารถนาลง เป็นชีวิตที่พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนตามแรงปรารถนาในสิ่งใดมาเพิ่มเติมอีก

อีกพวกหนึ่ง ตัดความปรารถนานั้นทิ้งไป มีชีวิตอยู่อย่างไม่ปรารถนาอะไรอีก ปล่อยให้ชีวิตเคลื่อนไปโดยไม่ปรารถนา ได้มาก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้องกับการมีหรือไม่มี ฝึกฝนตัวเองให้พ้นจากแรงปรารถนาใดๆ ถ้าจะมีก็มีไป ถ้าไม่มีก็ไม่มี ไม่ปล่อยให้เกิดแรงเสียดทานใดๆ กับชีวิต

เป็นทางออกที่สุดขั้วไปคนละข้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ

พวกแรก ไม่เคยไปถึงจุดที่พอ เพราะยิ่งแสวงหามาสะสม ยิ่งบ่มเพาะให้พลังของความปรารถนามีอิทธิพลต่อการชี้นำสภาวะจิตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องดิ้นรนแสวงหาท่ามกลางแรงกดดันไม่รู้จบรู้สิ้น

ส่วนพวกหลัง ยากที่ชีวิตจะดำเนินไปได้ เพราะธรรมชาติของร่างกายและอวัยวะจำเป็นต้องเคลื่อนไปในการที่ต้องเลี้ยงดู ปกป้องและรักษา การตัดความปรารถนาทิ้งย่อมขัดแย้งกับสัญชาตญาณชีวิต

ทั้งสองทางจึงไม่ใช่หนทางที่จะอยู่อย่างสงบได้

ดังนั้น จึงมีผู้แนะนำว่า ฝึกให้ชีวิตดำเนินไประหว่างหนทางทั้ง 2 นั้น ปล่อยให้ความปรารถนาขับเคลื่อนชีวิตไป โดยสภาวะจิตที่ไม่ไปยึดเอาปรารถนานั้นไว้

ให้ความปรารถนายังคงอยู่ แต่ไม่บงการครอบงำจิตใจ

หล่อเลี้ยงความปรารถนานั้นไว้ในความไม่ยึดมั่นถือมั่นในปรารถนา

ปล่อยให้ชีวิตเคลื่อนไปตามสัญชาตญาณ โดยจิตที่เป็นอิสระจากสัญชาตญาณนั้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image