การออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดย โคทม อารียา

ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ของผมมีอยู่อย่างจำกัดมาก แต่ก็มีเหตุผลบางประการที่คิดจะเขียนบทความนี้ ประการแรก เพราะได้ยินนักสังคมศาสตร์หลายคนปรารภว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศต่อหัว (per capita GDP) ไม่พุ่งขึ้น ไม่เข้าใกล้ GDP ต่อหัวของประเทศที่พัฒนาแล้วสักที กล่าวคือ เราติดอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง จึงอยากรู้เหมือนกันว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร ประการที่สอง เพราะเห็นว่าในยามวิกฤตโควิดเช่นนี้ เป็นโอกาสที่จะเชิญชวนให้มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ที่เกิดขึ้นได้ยากหากไม่มีวิกฤต ด้วยจะมีแรงต้านอย่างมากจากฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการคงสถานภาพเดิม ประการที่สาม เพราะบังเอิญมีเพื่อนส่งหนังสือภาษาฝรั่งเศสมาให้อ่านเล่มหนึ่ง ซึ่งแปลชื่อได้ว่า “พลังของการทำลายเชิงสร้างสรรค์” และมีชื่อรองว่า “นวัตกรรม, การเติบโต, และอนาคตของทุนนิยม” เขียนโดย Philippe Aghion, Céline Antonin, Simon Bunel ผมขอสารภาพว่าเนื้อหาที่เขียนต่อไปนี้ ไม่ได้คิดเอง หากขออนุญาตนำข้อความบางตอนของหนังสือดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟัง

ประเทศที่ติดอยู่ในกับดักนั้น มีอาร์เจนตินาเป็นตัวอย่างที่ชัด ในปี ค.ศ. 1890 อาร์เจนตินามี GDP ต่อหัวประมาณ 40% ของสหรัฐอเมริกา แต่แทนที่จะตามสหรัฐฯให้ทัน กลับเป็นว่าไม่สามารถลดช่องว่างที่ตามหลังสหรัฐฯอยู่ได้ และพอมาถึง ปี ค.ศ. 1930 กลับเกิดการถอยห่างไปเรื่อยๆ หรือเกิดการย่ำอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศหลายประเทศมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเติบโตต่อไป

หนังสือเล่มที่อ้างถึงนี้มีทฤษฏีสนับสนุน และผู้เขียนสามารถนำตัวเลขและสถิติมากมายมาสนับสนุนทฤษฎีนี้ด้วย เจ้าของทฤษฎีคือ Joseph Schumpeter นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรีย ผู้เขียนสรุปทฤษฎีออกมาในรูป “ประมวลทัศน์ (paradigm) ของชุมปีเตอร์” ดังนี้

1) “นวัตกรรมสะสม” และการเผยแพร่ความรู้ คือหัวใจของกระบวนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตรงตามภาษิตที่ว่าการเติบโตเป็นการยืนบน “ไหล่ของผู้ยิ่งใหญ่” หรือการสืบต่อจากผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต

Advertisement

2) การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้สำหรับการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม

3) การเติบโตต้องพึ่งการทำลายเชิงสร้างสรรค์ กล่าวคือนวัตกรรมใหม่มาทำลายและแทนที่นวัตกรรมเดิมอย่างสร้างสรรค์ โดยมีความย้อนแย้งคือ ในด้านหนึ่ง ต้องมี “ค่าเช่า” (rents) เพื่อตอบแทนนวัตกรรม ในอีกด้านหนึ่ง นวัตกรรมของวันวานจะต้องไม่นำค่าเช่าดังกล่าวมาใช้เพื่อขัดขวางนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าทำนองว่า “ต้องปกป้องทุนนิยมจากพวกทุนนิยมเอง”

แน่นอนว่าประเทศต่างๆ อยากออกจากกับดักของรายได้ปานกลาง นโยบายที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ “การตามให้ทัน” โดยการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ในเมื่อเรียกกันว่าเป็นกับดัก หรือเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เราติดอยู่นานโดยไม่รู้ว่าจะออกมาได้อย่างไร ตอนแรก ๆ ดูเหมือนว่าจะสามารถตามทัน แต่อาจเหมือนอาร์เจนตินาคือเมื่อถึงระดับหนึ่ง เศรษฐกิจไม่เติบโตขึ้นไปอีก ดีไม่ดีกลับถดถอยลง การติดกับดักหมายถึงการติดอยู่ในนโยบาย “ตามให้ทัน” แต่ตามอย่างไรก็ไม่ทันนั่นเอง อย่างไรก็ดี บางประเทศก็สามารถตามทัน โดยใช้นโยบาย “นวัตกรรมและการแข่งขัน” จนเข้าเป็นสมาชิกของสโมสรประเทศพัฒนาได้สำเร็จ โมเดลนี้เรียกว่า “การลู่เข้าสโมสร” (club convergence) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป และมีประเทศที่น่าจับตาได้แก่ประเทศที่มีประชากรมากและอยู่ใน “สโมสร BRIC” สโมสรนี้ประกอบด้วยประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ทุกประเทศมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ใกล้จะตามทัน หรือกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ของชุมปีเตอร์ก็เป็นได้ สำหรับประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า “มังกรแห่งเอเซีย” ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงค์โปร์ ถือได้ว่าเข้าถึง “สโมสรเอเซียตะวันออก” แห่งการพัฒนาเศรษฐกิจได้สำเร็จแล้ว ส่วนประเทศในภูมิภาคนี้ที่อยากเป็นเสือหรือมังกรกับเขาบ้าง แต่ต้องยอมรับว่ายังติดอยู่ในกับดักแห่งรายได้ปานกลาง ประเทศเหล่านี้ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย

Advertisement

เราอาจเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการออกจากกับดักของประเทศเกาหลีใต้ หลั

สงครามเกาหลีในปี ค.ศ. 1953 ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีก็พอๆ กับไทย แต่เขาตั้งหน้าตั้งตาขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยอาศัยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากรัฐบาล เช่น การช่วยให้บริษัทใหญ่ๆ เข้าถึงเงินกู้โดยง่าย การคุ้มครองการส่งออกโดยการลดค่าเงินวอน การให้เงินอุดหนุนการส่งออก การลดการแข่งขันรวมทั้งการไม่สนับสนุนการเกิดบริษัทใหม่ ๆ การวางหลักเณฑ์ว่านักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 26 % ความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด เป็นต้น ผลก็คือ การเกิดบรรษัทขนาดยักษ์ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รู้จักกันในนาม “เชบอล” และระหว่าง ค.ศ. 1960-1997 เศรษฐกิจเกาหลีใต้เติบโตในอัตราเฉลี่ย 7 % ต่อปี ในปี ค.ศ. 1990 มูลค่าการค้าของเชบอล 30 แห่งมีค่ารวมกันเท่ากับ 16 % ของ GDP โดยที่เชบอล 5 แห่งมีมูลค่าการค้าเท่ากับ 10 % ของ GDP ภายใน 30 ปี ประเทศได้เปลี่ยนจากประเทศเกษตรกรรมมาเป็นประเทศชั้นนำทางอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม แสดงถึงความสำเร็จของโมเด็ล “ตามให้ทัน” นั่นเอง แต่แล้วก็เกิดวิกฤตการณ์การเงินที่เรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี ค.ศ. 1997-98 หนึ่งในห้าเชบอลที่ยิ่งใหญ่ล้มละลายลง กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF บังคับให้เกาหลีใต้เปิดประเทศสู่การแข่งขันมากขึ้น เช่น การถือหุ้นสูงสุดโดยต่างชาติได้เพิ่มจาก 26 % มาเป็น 50 % และ 55 % ในปี ค.ศ. 1997 และ 1998 ตามลำดับ หลังวิกฤต รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายมาเป็นการจำกัดอิทธิพลของเชบอล การสนับสนุนการแข่งขัน การเพิ่มผลิตภาพโดยสนับสนุนนวัตกรรมของบรรษัทที่อยู่นอกกลุ่มเชบอล ก่อนวิกฤต เกาหลีใต้มีสิทธิบัตรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานสิทธิบัตรของสหรัฐฯน้อยกว่าเยอรมนีอยู่ 8 เท่า หลังวิกฤต เกาหลีใต้เปลี่ยนนโยบายจากการ “ตามให้ทัน” ที่เน้นการตามทางเทคโนโลยีและการเลียนแบบ มาเป็นนโยบาย “นวัตกรรมล้ำยุค” (frontier innovation) เกาหลีใต้เปลี่ยนมาพยายามจะตามให้ทันในเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการจดสิทธิบัตร เป็นต้น

แน่นอนว่าประเทศไทยไม่สามารถลอกเลียนโมเดลการพัฒนาของสังคมอื่นมาใช้กับสังคมไทยโดยไม่คำนึงถึงบริบทและวัฒนธรรมของสังคมไทยได้ แต่อย่างน้อยเมื่อศึกษาตัวอย่างความสำเร็จและความล้มเหลวของสังคมอื่นและของเราเองบ้างแล้ว ก็ควรพิจารณาคำถามสำคัญ ๆ เพื่อการถกเถียงด้วยโยนิโสมนสิการของเราเองบ้าง

สังคมที่มี GDP สูง มีสัดส่วนประชากรในภาคเศรษฐกิจคร่าว ๆ ดังนี้ 75 % ของประชากรอยู่ในภาคบริการ 20 % ในภาคอุตสาหกรรม และ 5% ในภาคเกษตรกรรม แต่อย่าลืมว่าในสมัยนโปเลียนหรือประมาณ 200 ปีที่แล้ว 63 % ของชาวฝรั่งเศสอยู่ในภาคเกษตรกรรม นวัตกรรมในสมัยนั้นได้ทำให้เกิดการทำลายเชิงสร้างสรรค์ สังคมจึงเปลี่ยนมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม นวัตกรรมต่อมาได้เปลี่ยนสังคมอุตสาหกรรมมาเป็นสังคมบริการในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงได้โยกย้ายคนจำนวนมากจากชนบทสู่เมือง จากการทำงานในโรงงานมาเป็นการทำงานในสำนักงาน คำถามคือ เราจำเป็นต้องเดินเส้นทางนี้ไหม ช่วงอุตสาหกรรมจำเป็นเพียงใด หรือเรามุ่งสู่ภาคบริการเลยจะดีกว่าไหม อนึ่ง ภาคบริการ (ถ้าไม่นับการขนส่ง) ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมประมาณ 4 เท่า

หรือเราควรเน้นภาคเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นสังคมนวัตกรรมเขียวที่ยั่งยืน เรื่องนี้ทำให้นึกถึง “เกษตรทฤษฎีใหม่” และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นนวัตกรรมของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำให้นึกถึงเกษตรประณีต เกษตรปลอดสาร และการทำสมุนไพรไทยให้เป็นสมุนไพรโลก เป็นต้น แต่จุดเน้นควรเป็นนวัตกรรมที่ได้มาจากการลงทุนลงแรงกันจริงๆ โดยที่รัฐให้การสนับสนุนในการจดสิทธิบัตรและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (ยกเว้นทรัพยสินที่ควรเป็นสาธารณสมบัติหรือเพื่อประโยชน์ของชาวโลก) อย่างจริงจัง

มีการสำรวจความเห็นของคนอเมริกันว่า พวกเขาเลือกชอบการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือเลือกชอบสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน น่าแปลกใจที่เขาเลือกการเติบโตเพียง 30 % เมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อม 65 % หวังว่าต่อไป เราจะให้ความสำคัญแก่คุณภาพชีวิตมากขึ้น และมีนวัตกรรมของการเติบโตที่ไม่เน้นความมั่งคั่ง และไม่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง

ในการส่งเสริมนวัตกรรม รัฐต้องมีความเข้าใจและความมุ่งมั่น นอกจากจะต้องลดกฎเกณฑ์ที่เอื้อแต่นวัตกรรมของวันวานแล้ว ยังจะต้องสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อนวัตกรรมของวันพรุ่งด้วย ในขณะเดียวกัน นักลงทุนต้องเข้าใจบริษัทหน่ออ่อน (start-up) ยอมรับความเสี่ยงของการลงทุน แม้ตอนแรกฝ่ายทุนอาจควบคุมมากหน่อย แต่ควรผ่อนการควบคุมทางการเงินลงเพื่อให้หน่ออ่อนได้ริเริ่มมากขึ้นในขณะที่เข้มแข็งมากขึ้นด้วย ที่สำคัญคือต้องสื่อสารกับสังคมว่า การมีนโยบายตามกระบวนทัศน์ของชุมปีเตอร์ อาจไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ (มีความเสี่ยงเสมอ) แต่ถ้าต้องการออกจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง รัฐต้องยอมรับความเสี่ยง พร้อมพยายามลดผลกระทบ เช่น ให้การว่างงานอันเกิดจากนวัตกรรมใหม่มีงานใหม่มารองรับ วางกฎเกณฑ์ต่อฝ่ายทุนให้ยอมรับการเพิ่มภาษีเพื่อมาช่วยสร้างนวัตกรรมและการมีสวัสดิดการสังคมที่ดีขึ้น อนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังมิให้นวัตกรรมก่อผลเสียต่อสุขภาพและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

การออกจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง ต้องการความรอบคอบของรัฐ ขณะเดียวกัน ฝ่ายทุนและฝ่ายคนทำงานต้องปรับตัว และพร้อมรับความทุกข์ในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย แม้เราอาจไม่รีบร้อนก็ตาม แต่ต้องเริ่มร่วมกันใช้สติปัญญาในการแปลงเปลี่ยนวิกฤตโควิด เพื่อให้สังคมมีเป็นการเติบโตอย่างมีวุฒิภาวะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image