สะพานแห่งกาลเวลา : ‘ออโตแวค’ฝีมือคนไทย โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

A vaccine extraction machine called AutoVacc, designed by the Chulalongkorn University's Biomedical Engineering Research Center to extract extra doses out of AstraZeneca vaccine vials, is seen in Bangkok, Thailand August 23, 2021. Picture taken August 23, 2021. REUTERS/Juarawee Kittisilpa

ศูนย์ฉีดวัคซีนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเอา “ออโตแวค” (AutoVacc) ซึ่งทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้นมาเอง มาใช้งานจริง ตั้งแต่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผมชื่นชมแนวคิดและหลักการในการพัฒนาเครื่องมือที่ถือเป็น “ระบบหุ่นยนต์” ตัวนี้ขึ้นมาของจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นผลงานที่สามารถ “ตอบโจทย์” หลายๆ อย่างได้ในคราวเดียว แต่ละอย่างล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อประชาชน ต่อบุคลากรทางสาธารณสุขและต่อประเทศชาติ

“ออโตแวค” ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าเครื่องกลที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถทำงานซ้ำๆ ได้ แม่นยำ เร็ว และได้ประโยชน์สูงยิ่ง

หน้าที่หลักของเจ้าออโตแวคก็คือ การใช้แกนกลของมันจัดการแบ่งสัดส่วนของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวดออกมาให้ได้จำนวนโดส 12 โดส โดยใช้เวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น

Advertisement

จำนวน 12 โดส ที่เจ้าออโตแวค “รีด” ออกมาได้จากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าแต่ละขวดนั้นถือว่าสูงกว่าการแบ่งโดยอาศัย “มือ” ของบุคลากรสาธารณสุขหรือแพทย์ ที่ถือกันเป็น “มาตรฐาน” ว่าวัคซีน 1 ขวดต้องได้ 10 โดส แม้ว่าฉลากกำกับยาของแอสตร้าเซนเนก้าจะบอกไว้ว่า วัคซีน 1 ขวด แบ่งได้ 10-11 โดส ก็ตามที

นั่นเท่ากับเราอยู่เฉยๆ ก็ได้วัคซีนเพิ่มขึ้นจากที่เคยได้อยู่แต่เดิม 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering Research Center) ของมหาวิทยาลัยชี้ให้เห็นว่า ถ้าแต่เดิมเรามีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าพอสำหรับคน 1 ล้านคน ตอนนี้วัคซีนจำนวนเท่ากันนั้น ออโตแวคช่วยให้สามารถใช้ฉีดให้กับคนไทยได้ถึง 1.2 ล้านคน

Advertisement

ในยามที่วัคซีนป้องกันโควิด-19 หาซื้อยากเย็นยิ่งกว่าการหาซื้อทองคำในเวลานี้ ส่วนที่เพิ่มขึ้นมานั้นมีค่ามหาศาลมาก

ก่อนหน้าที่จะมีออโตแวคเครื่องนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่แบ่งโดสจากขวดวัคซีนต้องใช้คน ใช้เจ้าหน้าที่พยาบาลนั่นแหละเป็นคนทำ โดยอาศัยเข็มฉีดยาแบบพิเศษที่เรียกว่า “กระบอกฉีดยาชนิดปริมาณคงค้างในหัวเข็มและปลายหลอดฉีดยาต่ำ” (low dead space syringes-LDSS)

ในทางหนึ่งนั้นต้องใช้คนทำงานเป็นจำนวนไม่น้อย ในอีกทางหนึ่งการแบ่งให้ได้แม่นยำอย่างนี้ต้องใช้ทักษะในแบ่งสรรสูงมาก แถมยังกดดันมากๆ อีกด้วย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้าเหล่านั้นต้องเผชิญกับสภาพการทำงานซ้ำๆ แต่กดดันสูงอย่างนี้ทุกวัน ตลอดระยะเวลาเป็นเดือนๆ สภาพจิตใจเป็นอย่างไรคงไม่ต้องพูดถึง โอกาสผิดพลาดก็จะเกิดมากขึ้น

ผมเห็นด้วยครับว่า มนุษย์เราทุกคนลงเหน็ดเหนื่อยเกินกำลังขึ้นมาเมื่อใด ความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก

เจ้าออโตแวคไม่เพียงรับประกันว่าแต่ละขวดได้ 12 โดสแน่ๆ เท่านั้น ยังทำงานได้เร็วกว่า แม่นยำกว่า และทำงานได้ต่อเนื่อง เท่ากับเป็นการช่วยผ่อนภาระบุคลากรด่านหน้าของเราลงมหาศาลเลยทีเดียว

ตามศักยภาพของทีมวิจัยจากบีอีอาร์ซี ทีมงานสามารถสร้างออโตแวคที่ว่านี้ออกมาได้อีกราว 20 เครื่อง ภายในระยะเวลา 3-4 เดือน

ปัญหาคือเงินต้นทุนที่จะนำมาใช้ เพราะตัวต้นแบบที่นำมาใช้งานอยู่ในเวลานี้ ต้นทุนอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ดังนั้น ถ้าจะให้ผลิตได้ตามแผนเพื่อกระจายออกไปใช้งานกันทั่วประเทศ รัฐบาลก็คงต้องจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน หรือไม่ภาคเอกชนก็ต้องช่วยลงทุนการจัดสร้างละครับ

ผศ.จุฑามาศบอกว่า การวิจัยยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ แต่ยังมีแผนทำวิจัยต่อเนื่อง สำหรับผลิตเครื่องมือทำนองเดียวกันนี้มาใช้กับวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่น โดยเฉพาะไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา ที่น่าจะทำให้ออโตแวคมีความคุ้มค่ามากขึ้นไปอีก

เป้าหมายหลักไม่ใช่เพื่อการประหยัด แต่ต้องการหาเครื่องมือที่ทำงาน ทำหน้าที่แทนบุคลากรทางการแพทย์ที่เหน็ดเหนื่อยสาหัสมากขึ้นทุกวันตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตอนนี้ปาเข้าไปกว่า 1 ล้านคนแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image