เดินหน้าชน : สิ้นหวัง7ปีปฏิรูปตร.? โดย นายด่าน

คดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับ สภ.เมืองนครสวรรค์ และตำรวจอีก 6 นาย ตกเป็นผู้ต้องหาใช้ถุงพลาสติกคลุมหัว ผู้ต้องหาคดียาเสพติดเสียชีวิตคาโรงพัก สภ.เมืองนครสรรค์ ทำให้สังคมต่างออกมาเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปตำรวจ” อย่างเร่งด่วน

ตลอดระยะเวลา 7 ปี ภายใต้การบริหารงานของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี การปฏิรูปตำรวจที่สังคม และหลายๆ ฝ่ายเรียกร้องมาตลอด แต่ดูเหมือนจะเป็นไปอย่างช้าๆ

โดยขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ผ่านกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมของรัฐสภาแล้ว เนื้อหาในร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีมี 172 มาตรา แต่การพิจารณาในชั้น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ที่มี วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.เพิ่งจะพิจารณาไปได้แค่ 17 มาตรา จากเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่การตั้ง กมธ.ชุดนี้

จะด้วยข้ออ้างเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หรือการติดประชุมสภาใหญ่ทั้งเรื่องร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างที่ วิรัช รัตนเศรษฐ ออกมาชี้แจงหรือไม่นั้น หากไม่เกิดคดีผู้กำกับโจ้ จนเกิดกระแสสังคมกดดันไปยังรัฐบาล ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. อาจจะถูกดองยาว ไม่มีการเร่งพิจารณาหรือไม่??

Advertisement

หากย้อนที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับนี้ แรกเริ่มร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เริ่มต้นจากการศึกษาของชุด พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน เมื่อแล้วเสร็จได้นำเสนอ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี จนมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน มาพิจารณาต่อ

เมื่อชุด นายมีชัย จัดทำแล้วเสร็จได้เสนอที่ประชุม ครม. แต่กลับมีมติให้ส่งกลับยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยที่ไม่ได้เสนอต่อสภาเลย ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ มีการถอดบางมาตราที่สำคัญออกไป

จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปฏิรูปตำรวจอาจไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 258 ง(4) ในด้านกระบวนการยุติธรรม ที่กำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจและเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตํารวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย

Advertisement

การพิจารณาบําเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรม ที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคํานึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ตํารวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ระยะเวลาจากนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าร่าง พ.ร.บ.
ตำรวจฯ จะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อไร เพราะในขั้น กมธ.ยังมีข้อคิดเห็นที่หลากหลาย จากท่าทีของ “วิรัช” แล้วยังใช้เวลาอีกยาวไกล เพราะจะต้องหยิบยกร่างของ พล.อ.บุญสร้าง ร่างของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามา นำมาพิจารณาประกอบกัน

อาจจะจริงอย่างที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย อดีตเลขาฯ สมช.ออกมาสะท้อนว่า ตราบใดที่รัฐบาลสืบทอดอำนาจยังคงบริหารประเทศอยู่การปฏิรูปตำรวจก็เป็นได้แค่ความฝัน เพราะ 7 ปีที่ผ่านมาประจักษ์ชัดแล้วว่านโยบายการปฏิรูปตำรวจมีแต่การพูดพล่าม

ไม่เคยเกิดการปฏิบัติ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่านายกฯสืบทอดอำนาจมีต้นธารมาจากการยึดอำนาจ องค์กรตำรวจจึงตกเป็นเครื่องมือ เพื่อใช้ในการรักษาอำนาจของพวกเขา การปฏิรูปตำรวจมันจึงมิอาจเกิดขึ้นได้เลยในรัฐบาลนี้ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

เป็นเรื่องให้ชวนขบคิดอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image