เดินหน้าชน : วัคซีนหญิงตั้งครรภ์ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ในช่วงแต่ละเดือนที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมแล้วก็จำแนกให้เห็นว่า การที่เชื้อแพร่ระบาดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ไปตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไหนบ้าง

ก่อนหน้านี้ช่วงกลางปีที่ผ่านมา หมอกระทรวงสาธารณสุขแสดงความห่วงใยต่อกลุ่มผู้ติดเชื้อที่มาจากคนในบ้านนำเชื้อไปติดคนในบ้านโดยเฉพาะเด็ก คนชราและผู้ป่วยติดเตียงที่มีจำนวนติดเชื้อมากขึ้น

พูดง่ายๆ อยู่ในบ้านไม่ไปไหนก็ติดโควิดได้ ประกอบเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ก่อนจะแพร่ระบาดไปหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยที่ติดกันง่ายขึ้น

การใช้นโยบายเวิร์กฟรอมโฮม จึงตามมาเป็นระลอกเพื่อให้บริษัทสนับสนุนและเป็นการขอความร่วมมือ

Advertisement

การที่ข้อมีแนะนำว่า แม้จะอยู่ในบ้านที่มีมากกว่า 1 คนขึ้นไป ก็จำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากเข้าหากัน รวมไปถึงการทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ในบ้านที่ใช้ร่วมกัน ไปจนถึงการแยกนั่งกิน เป็นต้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักพอสมควร

สำหรับช่วงเดือนกันยายนนี้ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงข้อมูลหญิงตั้งครรภ์ที่พบว่ามีติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเดือนสิงหาคมพบตัวเลขติดเชื้อแบบก้าวกระโดด มีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 1,506 ราย เสียชีวิต 47 ราย เฉลี่ยตกวันละ 1-2 ราย ส่วนทารกในครรภ์เสียชีวิตพร้อมกับแม่ไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หลังคลอด

นั่นหมายถึง แม่เสียชีวิตแต่ลูกน้อยในท้องที่ทำคลอดได้จะรอดแค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น

Advertisement

ดังนั้น ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขหรืออีโอซี จึงเสนอให้ ศบค.พิจารณา ขอให้มีมติไปยังทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศที่รับฝากครรภ์ ให้เร่งติดตามหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ เข้ารับวัคซีนป้องกันโควิดที่โรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ เพื่อลดการสูญเสียของแม่และเด็ก

ที่ผ่านมา จำนวนหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ ที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนมีจำนวน 5 แสนคน กลับฉีดเข็มแรกไปแค่ 45,000 ราย ส่วนเข็มสองก็เกือบ 5,000 ราย

นับว่าน้อยมากท่ามกลางหญิงตั้งครรภ์ที่ทยอยติดเชื้อโควิดในทุกวัน

ต้องเข้าใจว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ดังกล่าวสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ แต่อาจจะขอเลี่ยงที่จะฉีดเพราะความหวาดกลัวและวิตกว่า วัคซีนที่ฉีดจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้ เมื่อดูตัวเลขที่เข้ารับการฉีดน้อยมาก ขณะที่หน่วยงานของโรงพยาบาล หรือหมอสูตินารีคงแจ้งหญิงที่มาตรวจครรภ์แล้ว ว่าควรจะเข้ารับการฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2

ยังพบว่าไม่ใช่แค่หญิงตั้งครรภ์เท่านั้น ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากก็ยังไม่ยอมที่จะเข้ารับการฉีด เพราะความไม่สบายใจในเรื่องของสภาพหลังการฉีดรับวัคซีนไปแล้ว อาจจะมีผลข้างเคียงตามมา ข่าวที่ออกมาก็มีให้เห็น

แม้จะมีข้อมูลให้เสพกันมากมายเรื่องการรับวัคซีนป้องกันโควิด ก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนความคิดของคนที่จะไม่ขอฉีด แต่ก็เลือกที่จะใช้วิธีการดูแลตนเองให้ดีที่สุด มีระเบียบวินัยในการป้องกันตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหญิงตั้งครรภ์อีกมากที่อาจเข้าไม่ถึงวัคซีนก็ได้และพร้อมจะฉีด ดังนั้น การที่โรงพยาบาลที่หญิงตั้งครรภ์ไปตรวจรักษาจะถูกแจ้งให้มาฉีดถือเป็นเรื่องดี ในแง่การรักษาผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยติดโควิดอาจจะยุ่งยากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากหมอก็ต้องเซฟชีวิตของแม่กับลูกในท้องให้ดีที่สุด ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียเหมือนกัน

สุดท้ายการตัดสินใจก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่ไม่มีใครบังคับได้

ทางหน่วยงานสาธารณสุข จึงต้องขยันออกแรงและสร้างความเข้าใจต่อวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ด้วยความอดทนต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image