วิญญาณและผี ต่างกันอย่างไร

วิญญาณและผี ต่างกันอย่างไร

วิญญาณและผี
ต่างกันอย่างไร

ได้อ่านบทความเรื่องหนึ่งที่พูดถึงวิญญาณกับผี ผู้เขียนอ่านแล้วมาสะดุดตรงคำที่ว่า … วิญญาณที่เรารับมาจากอินเดียหลังพุทธกาล … ตรงนี้ไม่มั่นใจว่าผู้เขียนบทความหมายถึงประเทศไทยเรา รับพระพุทธศาสนาหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว หรือหมายถึงเรื่องวิญญาณในพระพุทธศาสนา มีคนเพิ่มขึ้นมาหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ถ้าหมายถึงความหมายแรกก็แล้วไป แต่ถ้าหมายถึงความหมายที่สอง ก็ขออธิบายให้เห็นความจริงดังต่อไปนี้ ผู้เขียนขอเดาว่าผู้เขียนบทความเข้าใจว่าวิญญาณคือผี แล้วการที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องวิญญาณไว้ ก็แสดงว่าพระพุทธเจ้ายอมรับว่าผีมีอยู่ด้วย แต่เพราะผู้เขียนบทความดังกล่าวไม่เชื่อเรื่องผี จึงอ้างไปว่าเรื่องวิญญาณเกิดหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สรุปง่ายๆ ของผู้เขียนบทความว่า เรื่องวิญญาณในพระพุทธศาสนา เป็นคำพูดของคนอื่นไม่ใช่พระพุทธเจ้า

ก่อนที่จะอธิบายให้เห็นความจริง ขอทำความเข้าใจเรื่องการใช้ศัพท์ภาษาต่างประเทศของคนไทยก่อน หลายคนเมื่อใช้ศัพท์ภาษาต่างประเทศ บางคนก็ทับศัพท์ ไม่ว่าภาษาบาลี หรือภาษาอังกฤษ การทับศัพท์ทำให้เนื้อความทางภาษาผิดไป ภาษาไทยเราก็มี ทำไมต้องไปทับศัพท์ คนไทยเราไม่มีชาตินิยมเลย ผลงานที่เห็นได้ชัดคือ การแปลพระไตรปิฎกภาษาไทยที่พิมพ์จำหน่ายให้ประชาชนอ่านขณะนี้ชาวบ้านทั่วไปอ่านไม่รู้เรื่องตลอด เพราะติดศัพท์ภาษาบาลี คนจะเรียนหมอ จะต้องท่องศัพท์อวัยวะในร่างกายและท่องชื่อโรค ชื่อยา เป็นภาษาอังกฤษ ทำไม!! ขอผองไทยรักภาษาของเราบ้างเถอะ!! เรามาพูดเรื่องวิญญาณต่อไป คำว่าวิญญาณ แปลว่า ความรู้ มาจากรากศัพท์ว่า วิ บทหน้า แปลว่า แจ้ง ญา ธาตุ แปลว่า รู้ ตามกฎไวยากรณ์บาลีได้ศัพท์ว่า วิญญาณ แปลว่ารู้แจ้ง พระพุทธเจ้าตรัสวิญญาณไว้ 2 ประการคือ คือ หนึ่ง วิถีวิญญาณ สอง ปฏิสนธิวิญญาณ

วิถีวิญญาณคืออะไร? วิถีวิญญาณมาจากศัพท์
2 ศัพท์ คือ วิถี + วิญญาณ = วิถี แปลว่าทาง (อายะตะนะ แปลว่าตัวเชื่อม) หมายถึงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และใจ ส่วนวิญญาณแปลว่า รู้ ศัพท์สองศัพท์รวมกันจึงเป็น วิถีวิญญาณ จึงแปลว่าความรู้ทางตา เช่นการได้เห็นรูป หรือสิ่งต่างๆ ความรู้ทางหู เช่นการได้ยินเสียงต่างๆ ความรู้ทางจมูก เช่นการได้กลิ่นต่างๆ ความรู้ทางลิ้น เช่นการได้รับรู้รสต่างๆ ความรู้ทางกาย เช่นการได้รับรู้ เย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ความรู้ทางใจ เช่นความนึกคิดถึงอารมณ์ต่างๆ คำเหล่านี้ ถ้าเป็นภาษาบาลีท่านจะใช้คำว่า จักขุวิญญาณ แปลว่า รู้ทางตา โสตวิญญาณ รู้ทางหู เป็นต้น ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลี เมื่อท่านจะแปลคำบาลีเหล่านี้ ท่านก็จะทับศัพท์ ไปเลยว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ และกายวิญญาณ และมโนวิญญาณ เพราะท่านรู้คำแปล แต่ชาวบ้านไม่รู้ เมื่อเขาอ่านพบคำเหล่านี้ เขาก็จะงง หรืออย่างมากก็อาจจะรู้ว่า จักขุแปลว่าตา แต่ก็งงอีกว่าทำไมตามีวิญญาณด้วย เพราะคนไทยจำได้แต่วิญญาณที่ออกจากร่างมนุษย์เท่านั้น นี่คือผลเสียของการแปลทับศัพท์

Advertisement

ปฏิสนธิวิญญาณคืออะไร? ปฏิสนธิวิญญาณ ประกอบด้วยศัพท์ 2 ศัพท์ คือ ปฏิสนธิ + วิญญาณ = ปฏิสนธิ แปลว่า สืบต่อชาติใหม่ (คือเกิดใหม่) วิญญาณ แปลว่า รู้ ดังนั้น ปฏิสนธิวิญญาณจึงแปลว่า ความรู้ที่สืบต่อชาติใหม่ นี่แหละคือที่ความรู้สึกของคนไทยที่เข้าใจว่า วิญญาณคือผี การจะอธิบายให้เห็นความจริงในเรื่องการเกิดใหม่ของวิญญาณต้องอธิบายทางอภิธรรมปิฎก เพราะพระอภิธรรมคือวิทยาศาสตร์ในพระพุทธศาสนา ดังนั้น ต่อไปนี้จะอธิบายเรื่องวิญญาณตามนัยพระสูตรก่อน พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องวิถีวิญญาณในอาทิตปริยายสูตร โปรดพระชฎิลในตอนตรัสรู้ใหม่ๆ ว่า (ขออธิบายตามที่ท่านแปลไว้ในพระไตรปิฎก) จักขุวิญญาณ (รู้ทางตา) เป็นของร้อน โสตะวิญญาณ (รู้ทางหู) เป็นของร้อน ฆานะวิญญาณ (รู้ทางจมูก) เป็นของร้อน ชิวหาวิญญาณ (รู้ทางลิ้น) เป็นของร้อน กายะวิญญาณ (รู้ทางกาย) เป็นของร้อน มโนวิญญาณ (รู้ทางใจ) เป็นของร้อน พระองค์ตรัสต่อไปว่าร้อนเพราะอะไร? ทรงตอบเองว่า ร้อนเพราะไฟราคะตัณหา ร้อนเพราะไฟโทสะ

ผู้ปรารถนาความละเอียดโปรดไปอ่านในพระสูตรเถิด

ต่อไปนี้ขออธิบายวิถีวิญญาณตามนัยอภิธรรม อุปัตติเหตุแห่งจิต คือ เหตุให้เกิดความรู้ทางวิถี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้คือความรู้ทางตา (จักขุวิญญาณ) เกิดได้เพราะปัจจัย 4 ประการคือ หนึ่ง มีปสาทตาดี สอง มีสีมาปรากฏ สาม มีแสงสว่างเป็นตัวนำ สี่ มีการใส่ใจดู การได้ยินเสียง (โสตวิญญาณ) เกิดได้เพราะปัจจัย 4 ประการคือ หนึ่ง มีปสาทหูดี สองมีเสียงเข้ามา สามมีช่องว่างเป็นตัวนำมา สี่ มีการใส่ใจจะฟัง การได้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) มีปัจจัย 4 ประการคือ หนึ่ง มีปสาทจมูกดี สอง มีกลิ่นมา สาม มีลมเป็นตัวนำมา สี่มีการใส่ใจจะดม การรู้รส (ชิวหาวิญญาณ) มีปัจจัย 4 ประการคือ หนึ่งมีปสาทลิ้นดี สองมีรสเปรี้ยวหวานมันเค็มปรากฏที่ลิ้น สาม มีน้ำเป็นตัวนำ สี่ มีการใส่ใจจะลิ้มรส ความรู้สึกทางกาย (กายวิญญาณ) มีปัจจัย 4 ประการ คือ หนึ่งมีปสาทกายดี สอง มีเย็นร้อนอ่อนแข็งหย่อนตึง ปรากฏ สาม มีความแข็งเป็นตัวนำ สี่ มีการใส่ใจจะสัมผัส ความคิดทางใจ (มโนวิญญาณ) มีปัจจัย 4 คือ หนึ่ง มีปสาทตา หู จมูกลิ้นกายและใจ สอง มีสีเสียงกลิ่นรสสัมผัสและอารมณ์ปรากฏ สาม มีหัวใจเป็นที่อาศัยของจิต สี่ มีความตั้งใจจะคิด

Advertisement

ปฏิสนธิวิญญาณ คือวิญญาณไปเกิดใหม่ ถ้าแปลแบบนี้คนไทยพอฟังรู้เรื่อง แต่ข้อเสียคือ เรายังใช้ศัพท์บาลี ถ้าจะใช้ศัพท์ไทยก็ต้องแปลว่า ความรู้ที่ไปเกิดชาติใหม่ มันคืออะไร ความรู้ที่ไปเกิดชาติใหม่ ความนี้ต้องอธิบายตามนัยอภิธรรม โดยความจริงแล้ว สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบนั้น คนเรานั้นมิใช่ตายแล้วไปเกิดใหม่ แต่พระองค์พบว่า คนและสัตว์ มันไปเกิดใหม่ก่อนตาย แต่ระยะห่างกันเพียงจิตดวงเดียวเท่านั้น ท่านเปรียบการเกิดใหม่ของสัตว์โลกเหมือนทากเดิน คือตัวทากเมื่อมันเดิน หน้ามันจะยกจรดดินก่อน เมื่อหน้าจรดดินแล้ว ส่วนหลังของมันจะยกตาม คนและสัตว์ก็เหมือนกัน จิตไปเกิดภพใหม่ก่อนแล้ว จิตตาย คือจุติจิตจึงเกิดขึ้น ขอขยายเรื่องจิตปรากฏในภพใหม่ดังต่อไปนี้ คนเราเมื่อก่อนจะตาย กรรมที่หนักจะมาหน่วงชวนะจิต เป็นกรรม กรรมนิมิต หรือ คตินิมิต อย่างใดอย่างหนึ่ง และ
ชวนะจิตนี่เอง มันจะนำไปก่อเกิดในภพใหม่ ส่วนจิตหรือวิญญาณที่มาทำหน้าที่ตายก็คือ ปฏิสนธิวิญญาณที่มันทำหน้าที่เกิดตอนเกิดนั่นเอง ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติที่ว่า มนุษย์เราลงเรือลำไหน ก็ต้องขึ้นจากเรือลำนั้น เฉกเช่นมนุษย์เรา เกิดด้วยจิตดวงไหน ก็ต้องตายด้วยจิตดวงนั้น การอธิบายตามนัยอภิธรรมอย่างย่อนี้คงยากที่จะเข้าใจ จึงขอแนะนำว่า ถ้าอยากทราบความละเอียด ไปหาซื้อตำราปรัชญาอภิธรรมที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยรามคำแหง รหัส phi 4104 ชื่อ ความรู้เบื้องตนเกี่ยวกับปรัชญาอภิธรรม เพราะยังมีการสอนอยู่ที่นั่น

ขอสรุปว่า วิถีวิญญาณ (ตำรา phi 4104 หน้า 40) ต่างจากผี เพราะหมายถึงความรู้ทางตา หู จมูก เป็นต้น แต่ปฏิสนธิวิญญาณ (ตำรา phi 4104 หน้า 248) เป็นวิญญาณที่ไปเกิดใหม่จึงหมายถึงพวกทิพย์ซึ่งหมายถึงผีได้ วิถีวิญญาณเฉพาะ ตาเห็นเหตุการณ์ พระอภิธรรมท่านใช้ศัพท์ว่าเห็นสี แต่นัยพระสูตร ท่านใช้ศัพท์ว่า เห็นรูป ปัจจัยที่ให้เกิดความรู้ทางวิถีนี้ ทางวิทยาศาสตร์มีปัจจัยเพียงสามอย่าง เช่น ความรู้ทางตา อาศัยเหตุสามอย่างคือ หนึ่งมีประสาทตาดี สองมีภาพ สามมีแสงสว่าง ไม่มีใจจดจ่อ ถือว่าไม่ละเอียดเท่าอภิธรรม ที่เหมือนกันคือ ทางวิทยาศาสตร์ถือว่าโลกเรามีแต่ความร้อน ที่มันเย็นเพราะความร้อนมันลดลง นั่นคือความหมายของคำว่า อุณหภูมิลดลง แต่ทางอภิธรรมท่านใช้ศัพท์ว่า สีตโช ไฟเย็น อุณหเตโช ไฟร้อน วิทยาศาสตร์ถือว่าน้ำที่บริสุทธิ์ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คือมองไม่เห็น เป็นต้น ทางอภิธรรมท่านว่า น้ำสัมผัสไม่ได้ทางประสาททั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น เป็นต้น

ความรู้ที่นำไปเกิดชาติใหม่ (ปฏิสนธิวิญญาณ) นั่นคือ ความรู้หรือเห็นกรรมนิมิต เป็นตัวก่อเกิดวิญญาณในภพใหม่

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image