วิเคราะห์หน้า 3 : การเมือง ระทึก ปลด 2 รมช. โหวตฉลุย แก้ รธน.

วิเคราะห์หน้า 3 : การเมือง ระทึก ปลด 2 รมช. โหวตฉลุย แก้ รธน.

หลังจบศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตัดสินใจเช็กบิลแบบสายฟ้าแลบ

เพียงไม่กี่วันหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจสิ้นสุดลง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ก็พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี

ร.อ.ธรรมนัส พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ

นางนฤมล พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน

Advertisement

การปลดฟ้าผ่าครั้งนี้เป็นไปตามกระแสข่าวที่ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของรัฐมนตรีช่วยของพรรคพลังประชารัฐ

การปลดครั้งนี้ถือว่า “ฟ้าผ่า” เพราะแม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ใน 3 ป. ประยุทธ์ ประวิตร ป๊อก ยังเพิ่งทราบข่าว

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัสและนางนฤมลนั้นเป็นคนสนิทของ พล.อ.ประวิตร การกระทำดังกล่าวเท่ากับตอกลิ่มรอยแยกระหว่าง ป.ประยุทธ์ กับ ป.ประวิตร

Advertisement

กลายเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบเกี่ยวกับอนาคตของพรรคพลังประชารัฐ

รวมทั้งอนาคตของรัฐบาล

นอกจากนี้ ที่รัฐสภาก็มีความคืบหน้า โดยสมาชิกรัฐสภาได้มีมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 472 เสียง ไม่เห็นชอบ 33 เสียง และงดออกเสียง 187 เสียง

ในจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เห็นชอบ แยกเป็น ส.ส. 323 เสียง ส.ว. 149 เสียง

ไม่เห็นชอบ แยกเป็น ส.ส. 23 เสียง และ ส.ว. 10 เสียง

งดออกเสียง แยกเป็น ส.ส. 121 เสียง และ ส.ว. 66 เสียง

เนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีจุดใหญ่ๆ คือ แก้ไขการเลือกตั้งจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบ เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

บัตรเลือกตั้ง 2 ใบนี้ ใบหนึ่งเลือก ส.ส.เขต จำนวน 400 คน อีกใบหนึ่งเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน

ส่วนการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นต้องรอลุ้นกฎหมายลูกหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ได้ว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้สำเร็จ พรรคที่จะได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือพรรคใหญ่

พรรคใหญ่ในที่นี้ย่อมหมายถึงพรรคพลังประชารัฐ

อีกพรรคหนึ่งคงหมายถึงพรรคเพื่อไทย

แต่ก็ไม่อาจประมาทพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคก้าวไกล เพราะมีโอกาส

ส่วนพรรคเล็กพรรคน้อยที่มีโอกาสครั้งนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าอาจไม่ได้เข้าสภา

ดังนั้น หลังจากรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 จึงมีโอกาสที่จะมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขเกินหลักการ

เกินหลักการเพราะร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาโหวตรับวาระ 1 นั้นแก้ไขเพียง 2 มาตรา แต่พอเข้าคณะกรรมาธิการได้แก้ไขมากกว่านั้น

แม้จะมีการอธิบายความกันในการประชุมว่า สามารถทำได้

แต่ก็ยังเป็นประเด็นที่ให้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อชี้ขาดต่อไป

อนาคตของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ย่อมมีผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ทั้งนี้เพราะหากกติกาที่แก้ไขใหม่นี้เป็นคุณแก่พรรคใหญ่จริง ย่อมทำให้คู่แข่งบนสนามเลือกตั้งจำกัดจำนวนพรรคลง

การจำกัดจำนวนพรรคทำให้พรรคใหญ่มีคุณค่ามากขึ้น และมีความได้เปรียบในการต่อรอง

อย่างไรก็ตาม ต้องดูรายละเอียดการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกครั้งว่าจะเอาแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือจะเอาระบบเอ็มเอ็มพีที่พรรคก้าวไกลนำเสนอ

พรรคก้าวไกลมองว่า ระบบเอ็มเอ็มพีจะทำให้พรรคการเมืองมีสัดส่วน ส.ส.ในสภาตรงตามเจตนาของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ความขัดแย้งนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในการแก้ไขกฎหมายลูก

เนื้อหารายละเอียดของการแก้ไขก็จะส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

ถ้าคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อตามแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ย่อมหมายถึงการให้ความสำคัญกับ ส.ส.

แต่หากคำนวณด้วยระบบเอ็มพีพี ย่อมหมายถึงการให้ความสำคัญกับพรรค

ความขัดแย้งเช่นนี้จะเกิดขึ้นหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกาศออกมา

การปลด ร.อ.ธรรมนัสและนางนฤมล ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรเคือง เมื่อผนวกกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทำให้การเมืองระทึก

ทั้งนี้เพราะเป็นการเมืองที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น

ไม่ทราบว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด เนื่องจากแกนนำสำคัญและพรรคแกนนำรัฐบาลร้าว

แม้ขณะนี้ ร.อ.ธรรมนัสจะยังไม่ได้ลาออกจากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แต่เมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ที่บอกว่า “จะขอเลือกทางเดินใหม่” แล้ว

มีความเป็นไปได้อย่างสูงยิ่งว่า ร.อ.ธรรมนัสอาจแยกทางจากพรรคพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร ลูกพี่ของ ร.อ.ธรรมนัส ก็แสดงอาการเคืองหลังเกิดการปลดฟ้าผ่า ด้วยการงดภารกิจในวันรุ่งขึ้น

ตามมาด้วยกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตร ไม่พอใจบิ๊กตู่

กลายเป็นข้อมูลชวนติดตามว่าอนาคตของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นอย่างไร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ แม้จะมองว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบให้พรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคใหญ่

แต่ต้องไม่ลืมว่า พรรคที่ใหญ่กว่าพรรคพลังประชารัฐในสภา คือพรรคเพื่อไทย

การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แม้จะให้ประโยชน์พรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ให้ประโยชน์พรรคเพื่อไทยด้วย

นี่ยังไม่รวมพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล ที่แม้ปีนี้จะไม่ใช่พรรคใหญ่

แต่หลังเลือกตั้งครั้งหน้าใครจะไปรู้ว่าพรรคไหนที่จะเป็นพรรคใหญ่เบิ้ม

ยิ่งขณะนี้ พรรคพลังประชารัฐกำลังประสบปัญหาซึ่งเป็นผลกระทบจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ยิ่งน่าติดตาม อนาคตของพรรคแกนนำรัฐบาลพรรคนี้

และน่าติดตามอนาคตการเมืองไทยว่าจะเป็นไปตามที่พรรคพลังประชารัฐคิดหรือไม่

การเมือง ณ ห้วงเวลานี้เข้มข้นมากขึ้นเป็นลำดับ

ทั้งการปลด 2 รัฐมนตรี และการแก้ไขรัฐธรรมนูญล้วนมีนัยยะต่ออำนาจทางการเมือง

มีนัยยะต่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์

และการสืบทอดอำนาจหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ปรากฏการณ์ที่ปรากฏ ทำให้การเมืองตกอยู่ในอาการระทึก

เพราะความแน่นอน เริ่มส่งสัญญาณไม่แน่นอนออกมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image