ภาพเก่าเล่าตำนาน : หนวดต้องยาว เคราต้องขลิบ ผ้าต้องคลุมมิดชิด โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

สตรี บุรุษ ในดินแดนอัฟกานิสถาน…หน้าตาดี คมเข้มสวย หล่อ

ย้อนไปราว 60 กว่าปีที่แล้ว สภาพสังคมในเมืองใหญ่ของอัฟกานิสถาน “ผู้หญิง” นุ่งกระโปรง เรียนหนังสือ ทำงานเป็นแพทย์ พยาบาล อาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ ทนายความ ผู้พิพากษา เดินทางไป-มา แบบสังคมชาวโลกทั่วไป จะรักจะชอบใคร เป็นไปตามวิสัยปุถุชน

ผู้หญิง กับ ความสวยความงาม เป็นภาวะที่แยกจากกันมิได้

ผู้ชาย มีเสรีภาพที่จะโกนหนวด-เครา ใส่เสื้อผ้าตามสมัยนิยม

Advertisement

มีสังสรรค์ ร้องเพลง เฮฮา เล่นกีฬา ปาร์ตี้ …

สังคมนอกเมือง ประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ …มีสังคมเมือง สังคมชนบท มีรวย-จน เช่นประเทศทั้งหลายทั่วไป…

ภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ราวร้อยละ 75 มีภาพโปสเตอร์ย้อนยุคที่อวดความสวยงามของ ดอกไม้ ลำธาร อาคาร ที่ไม่เป็นรองใครในโลก

Advertisement

อาณาจักรแห่งขุนเขาสูงเสียดฟ้า แห้งแล้ง ร้อนจัด เย็นจัด มีธรรมชาติแบบโหดต่อมนุษย์ สัตว์ มีวิวอ่อนช้อย สวยงาม แต่งแต้มบนพื้นราบ

ลำธารใหญ่ น้อย ตื้นๆ มีกระแสน้ำใสสะอาดไหลรินลงมาจากเขาสูง ช่วงเวลาแสงแดดส่อง เกิดประกายวาววับ ท้องฟ้าสีคราม เป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล

อัฟกานิสถานเคยเป็นดินแดนแห่งท่องเที่ยว “กรุงคาบูล” เป็นเมืองหลวง เป็นหนึ่งในเมืองที่ (เคย) ได้รับฉายาว่าปารีสเเห่งตะวันออก…(ก่อนสงครามที่บดขยี้ทุกสิ่ง)

“สงครามกลางเมือง” ที่ต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุด

ช่วงที่กลุ่มทาลิบัน ปกครองประเทศ ค.ศ.1996-2001 ดินแดนบนพื้นที่สูง อากาศเย็น แปรสภาพเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นใหญ่ระดับโลก

ภาพเก่า…เล่าตำนาน ตอนนี้ขอตีกรอบในประเด็น วิถีชีวิตของชาวอัฟกัน โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ที่เกิดมาแล้วต้องมีชีวิตที่ยากแค้น แสนลำเค็ญ

ชาวโลกทั้งหลาย สนใจ เห็นใจที่สุด คือ สิทธิสตรี

การปกครองของทาลิบัน ที่ผ่านมาประดุจการสร้างถนนที่ “ปลายทาง” คือ หุบเหวนรกสำหรับผู้หญิง

สตรีเพศ…ถูกเข้มงวดเรื่องการแต่งกาย การใช้ชีวิต ที่ดูจะอึดอัด คับแคบ แทบจะหายใจไม่ได้ เผชิญแต่ความสยดสยอง…

ภาพของสตรีอัฟกัน ชื่อนางซาร์กา อายุ 28 ปี แต่งงานมาแล้ว 10 ปี มีลูกชาย 6 ขวบ เธออ่านหนังสือไม่ออก ฐานะยากจน อยู่ในเมืองใกล้ชายแดนปากีสถาน …เธอถูกตัด-ปาดจมูกด้วยมีดโดยสามีของเธอเอง

ภาพเธอที่น่าเวทนา สตรีจมูกหาย มีเพียงรูหายใจโบ๋ ไปปรากฏบนหน้า 1 ของไทม์แม็กกาซีนฉบับ สิงหาคม 2553 ดังกระหึ่มโลก เธอถูกสามีเฉือนจมูกทิ้ง เพราะออกจากบ้านโดยไม่ได้ขออนุญาต

หลายเดือน หลังเหตุสยอง…เธอเล่าว่า…หมู่บ้านของเธออยู่ในการควบคุมของกลุ่มทาลิบัน หลังเหตุการณ์โหด ต้องมีการเจรจาขอชีวิตกว่าเธอจะได้รับอนุญาตให้เดินทางไปรักษาตัวที่กรุงคาบูลได้

ดร.ซัลไม (Dr Zalmai Khan Ahmadzai) แพทย์ชาว
อัฟกันที่เข้ามารักษาบอกว่า… สภาพนางซาร์กาตอนแรกแย่มาก ให้ยาฆ่าเชื้อและยาลดการอักเสบ ก่อนที่จะนัดทำการผ่าตัดอีก 5 สัปดาห์

หลังจากนั้น…นางซาร์กาอนุญาตให้สำนักข่าวบีบีซี (BBC) ถ่ายทำกระบวนการการรักษาฟื้นฟูใบหน้าของเธอ

ก่อนลงมือเชือด…สามีบอกกับเธอว่า…ต้องทำให้ใบหน้าเธอเสียโฉมเพราะเธอไปบ้านพ่อแม่โดยที่ไม่ได้ขออนุญาตเขาก่อนและทำให้เขาต้องอับอาย

หลังจากเฉือนจมูก เขาก็ปล่อยให้เธออยู่คนเดียวท่ามกลางกองเลือด

“มันเจ็บมาก เลือดไหลออกมาเยอะมาก ฉันหายใจไม่ค่อยได้”

เพื่อนบ้านที่ได้ยินเสียงเธอกรีดร้องมาช่วยพาเธอไปหาหมอ พร้อมกับจมูกส่วนที่ถูกตัดออกไป แต่หมอบอกว่าไม่สามารถจะเย็บจมูกติดกลับไปได้

“สามีฉันไม่ไว้ใจใครทั้งนั้น” …เธอถูกกล่าวหาและตามด้วยการทุบตี ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน แต่เธอไม่เคยคาดคิดเลยว่าในที่สุดเขาสามารถทำรุนแรงขนาดนี้

จะไม่ขอนำภาพเธอมาเผยแพร่ครับ… (ข้อมูลจาก BBC)

ผู้เขียนไปค้นหางานวิจัย งานเขียนจากชาวต่างประเทศ…ว่าด้วยเรื่อง ชีวิตของสตรีมุสลิม โดยเฉพาะเรื่อง “การแต่งกาย” เป็นข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ บางประการ ผสมกับความเชื่อทางศาสนา

เหตุผล ข้อสันนิษฐาน เรื่องการแต่งกายของสตรีและบุรุษ…

…ในสมัยโบราณ มุสลิมเป็นชาวอาหรับโดยพื้นฐานแล้ว ชาวอาหรับอาศัยอยู่ในทะเลทราย อากาศร้อน แดดจัด เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดกระทบศีรษะและลำตัวโดยตรง ผู้หญิงมักใช้ผ้าคลุมทั้งตัว

ต้นกำเนิดของศาสนาอิสลาม คือ อาหรับ ซึ่งอยู่ระหว่างทะเลทราย เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียน้ำและหลีกเลี่ยงแสงแดดโดยตรง ผู้หญิงต้องคลุมผ้า ส่วนผู้ชายจากประเทศอาหรับคลุมศีรษะ

…เนื่องจากทะเลทราย ไม่สามารถผลิต พืช ผัก ตามธรรมชาติได้ พวกเขาต้องบุกรุกดินแดนและปล้นสะดม ทำสงคราม ผู้ชายมุสลิมจำนวนมากที่เป็นนักรบเสียชีวิต …ภรรยาม่ายไม่มีคนดูแล

ดังนั้น… ผู้หญิงมุสลิมจำนวนมากจะแต่งงานใหม่ ไม่น่ามีผู้ชายคนไหนต้องการแต่งงานกับหญิงม่าย การสวมบูร์กา (Burqa) เพื่อไม่ให้ใครทราบว่าเคยแต่งงานแล้วและตนเป็นม่าย (จะรู้ได้คนเดียว คือ สามีคน
ปัจจุบัน)

นักวิชาการ…มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า…

…ชาวอาหรับโดยลักษณะนิสัย ชื่นชอบความงาม ศิลปะ เพลง เนื่องจากผู้ชายเป็นใหญ่ พวกเขาจึงคิดว่าเป็น “สิทธิส่วนตัว” ของพวกเขา ที่ไม่ควรมีใครได้เห็นความงามของผู้หญิง (ของตน)

นี่เป็นเพียงบางส่วน ที่มีการแสดงความคิดเห็นกันไว้…

ผู้หญิงอัฟกัน หวาดกลัวที่สุดสำหรับข้อปฏิบัติ ข้อกำหนดของทาลิบัน ที่ยิบย่อย รวมทั้งมาตรการลงโทษที่แสนทารุณ

ข้อกำหนด กฎ ระเบียบของทาลิบัน ที่เคยถูกนำมาบังคับใช้ เช่น…

ห้ามผู้หญิงทำงานนอกบ้าน แพทย์และพยาบาลหญิงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้ทำงานในโรงพยาบาลบางแห่งในกรุงคาบูล

ห้ามผู้หญิงทำกิจกรรมนอกบ้าน เว้นแต่จะมีญาติชายที่สนิทสนมเช่นพ่อพี่ชายหรือสามี ห้ามผู้หญิงเข้ารับการรักษา ตรวจร่างกายโดยแพทย์ชาย

ห้ามผู้หญิงอายุมากกว่า 8 ปี ไปเรียนที่โรงเรียน

ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมยาว บูร์กา (Burqa) ซึ่งต้องครอบคลุมตั้งแต่หัวจรดเท้า ผ้าคลุมข้อเท้าต้องปิดสนิท

สตรีที่ไม่สวมชุดตามกฎของทาลิบัน หรือสตรีที่ไม่มี “มารัมห์” (ญาติผู้ชาย) ที่เดินทางด้วย จะถูกเฆี่ยนตีในที่สาธารณะ

ห้ามสตรีใช้เครื่องสำอาง (รวมทั้งเพนต์เล็บ)

ห้ามผู้หญิงพูดคุยหรือจับมือกับผู้ชายที่ไม่ใช่ญาติสนิท หรือสามี

ห้ามผู้หญิงหัวเราะเสียงดัง และคนแปลกหน้าไม่ควรได้ยินเสียงผู้หญิง

ห้ามสวมรองเท้าส้นสูง…ขณะเดิน ต้องไม่ได้ยินเสียงฝีเท้าของผู้หญิง

ห้ามผู้หญิงนั่งแท็กซี่โดยไม่มีญาติฝ่ายชาย หรือสามี

ห้ามผู้หญิงปรากฏตัวในวิทยุ โทรทัศน์ หรือการชุมนุมในที่สาธารณะ

ห้ามผู้หญิงเล่นกีฬาหรือเข้าศูนย์กีฬาหรือสโมสร

ห้ามผู้หญิงสวมเสื้อผ้าสีสดใส ในแง่ของทาลิบัน สิ่งเหล่านี้คือ “สีสันที่ดึงดูดใจทางเพศ”

ห้ามผู้หญิงปรากฏตัวบนระเบียงอพาร์ตเมนต์หรือหน้าบ้าน

ห้ามช่างตัดเสื้อชายที่วัดขนาดผู้หญิงหรือตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี

ห้ามชายและหญิงเดินทางด้วยรถบัสคันเดียวกัน รถโดยสารสาธารณะได้รับการกำหนดให้เป็น “สำหรับผู้ชายเท่านั้น” หรือ “เฉพาะผู้หญิง”

ห้ามถ่ายภาพหรือถ่ายทำภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหวของผู้หญิง

ห้ามภาพผู้หญิงที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์และหนังสือ หรือแขวนบนผนังบ้านและร้านค้า

นี่เป็นเพียงตัวอย่าง “กฎเหล็ก” ของทาลิบันในช่วงการปกครองประเทศที่ผ่านมาปี 1996-2001

วันนี้ยังหลอกหลอน ชาวอัฟกันทั้งกลางวัน กลางคืน

ที่สำคัญที่สุด คือ มีการเฆี่ยนตี ประหารชีวิตผู้หญิง นับไม่ถ้วน

สำหรับสังคมโดยรวม ยังมีข้อกำหนดโดยรวมทั้งชาย-หญิง …

ห้ามฟังเพลง ห้ามดูหนัง โทรทัศน์ และวิดีโอ

ทุกคนที่มีชื่อที่ไม่ใช่อิสลาม…ต้องเปลี่ยนเป็นชื่อในแนวอิสลาม

ทุกคนจะต้องเข้าละหมาดในมัสยิด 5 ครั้งต่อวัน

ข้อกำหนดพิเศษ ที่ผู้เขียนขอนำมาเน้นย้ำ คือ

…“ผู้ชายต้องไม่โกนหนวด แต่ต้องเล็มหนวด-เครา ซึ่งควรยาวพอที่จะยื่นออกมาจากกำปั้นที่กำที่คาง…”

แปลว่า ผู้ชายทุกคน ต้องมีเครายาว…ขนาดกำปั้น (แปลว่า จะไม่มีชายคนใดที่ไม่มีหนวด ไม่มีเครา)

วิธีการดูกีฬา…ให้กำลังใจนักกีฬาให้สวดมนต์อัลลอฮ์-โออักบัร (พระเจ้ายิ่งใหญ่) และงดการปรบมือ

การเขียนวรรณกรรมที่ไม่เหมาะสมจะถูกประหารชีวิต

15 สิงหาคม 2564 หลังจากกลุ่มติดอาวุธทาลิบันเข้ายึดอำนาจได้ ทราบดีว่า ที่ผ่านมา “ภาพลักษณ์” ของกลุ่ม คือ ความโหด อำมหิต

โฆษกทาลิบัน รูปหล่อ หนวดเครางาม หน้าเข้ม ตาโต โพกผ้าบนศีรษะ ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เน้นย้ำเรื่องของสิทธิสตรี เป็นประเด็นหลัก มีคำมั่นสัญญา เรื่องจะผ่อนปรนเสรีภาพของสตรี….

แต่ในความเป็นจริง ที่เกิดขึ้น ยังต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

ความคับแค้นใจของสตรีอัฟกัน เกี่ยวกับการเดินทางไปนอกบ้านที่จะต้องมี “ญาติสนิท” (มารัมห์) ที่เป็นผู้ชายไปด้วยเสมอ คือ ใช่ว่าทุกคนจะมีญาติผู้ชาย บางคนก็เป็นม่าย สามีตายในสงคราม

ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง ก็เป็นเช่นนั้น

ทาลิบัน…. ได้สร้างความยากลำบากให้กับผู้หญิงที่ไม่ชอบสวมใส่บูร์กา (ในช่วงที่สหรัฐมีกำลังทหารในอัฟกานิสถานแทบไม่มีใครใส่)

หลังทาลิบันยึดอำนาจ…สตรีทั้งหลายต้องรีบไปตลาด…ไปหามาใส่ นับเป็นเสื้อผ้าที่มีราคาแพง คือ ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐ ต้องเป็นสีดำ

ผู้หญิง… ต้องเผชิญกับนรกภูมิ หากถูกตรวจพบโดยทหาร หรือตำรวจศาสนาที่พบเห็น จะเข้ารุมทุบตี ทำร้ายทันทีด้วยไม้เรียว

มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกทุบตีอย่างรุนแรงจากการเดินไปตามถนนเพียงลำพัง…. ร้องไห้ต่อเจ้าหน้าที่ ร้องขอชีวิต

“พ่อของฉันถูกฆ่าตายในสนามรบ … ฉันไม่มีสามี ไม่มีพี่ชาย ไม่มีลูกชาย ฉันจะอยู่อย่างไรถ้าฉันไปตลาดคนเดียวไม่ได้ ?”

ปลายสิงหาคม 2564 พนักงานหญิงถูกปลดออกจากงาน เด็กหญิงประมาณ 400 คนที่อาศัยอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ไม่มีคนดูแล ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก

ยังมีผู้หญิงที่กล้าหาญอีกไม่น้อยที่ต้องการอ่านออก เขียนได้ แสวงหาการศึกษา ซึ่งเธอทั้งหลายต้อง “แอบเรียน” เรียกกันง่ายๆ ว่า เรียนใต้ดิน

ซึ่งพวกเธอและครูอาจเสี่ยงต่อการถูกประหารชีวิตหากถูกจับได้

เข็มนาฬิกาเดินไปข้างหน้า…การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งเกิดขึ้น คือ การศึกษาระดับประถมศึกษาสำหรับเด็กทุกคนเพราะครูในโรงเรียนประถมแทบทั้งหมดเป็นผู้หญิง

ถ้ายังใช้กฎ ระเบียบเช่นนี้ต่อไป เด็กๆ จะไม่ได้เรียนหนังสือ…

สีดั้งเดิมของบูร์กาเป็น สีฟ้า สีน้ำตาล ต่อมามีคำสั่งให้เปลี่ยนเป็นสีดำ

ส่งท้ายครับ…ผู้เขียนได้อ่านข่าวชิ้นหนึ่งที่เพิ่งปรากฏ ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2564 โฆษกทาลิบัน ในกรุงคาบูลที่เพิ่งยึดอำนาจมาได้ให้สัมภาษณ์ว่า…

“…ผู้หญิงในอัฟกานิสถานถูกบังคับให้สวมใส่บูร์กา (Burqa) ในที่สาธารณะตลอดเวลาเพราะ “ใบหน้าของผู้หญิงเป็นต้นเหตุของการทุจริต”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image