เดินหน้าชน : ปรับตามยุค โดย นายด่าน

การออกมาไลฟ์สดของ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ และ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต 2 พระมหาชื่อดังทางเฟซบุ๊กช่วงสัปดาห์ก่อน เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า การสนทนาธรรมแนวเฮฮา สร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มีความเหมาะสมเพียงใดในพระพุทธศาสนา

กลุ่มที่เห็นด้วย มองว่าเป็นการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา ส่วนคนที่เห็นต่างมองว่าไม่เหมาะสม มีการใช้คำพูดที่ไม่สำรวม อาจจะขัดต่อพระธรรมวินัยของสงฆ์

เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ กมธ.ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เชิญพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง เข้ามาพูดคุยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ทำคำร้องส่งไปยังมหาเถรสมาคมผ่านผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอให้มีบัญชาสอบสวนเอาผิด

โดยข้อสรุปที่ประชุม มส.ล่าสุด ไม่ได้มีมติลงโทษแต่ให้อำนาจพระปกครองของพระทั้ง 2 รูป ในการตักเตือนการไลฟ์สอนธรรมะ เนื่องจากพระทั้ง 2 รูป ไม่ได้มีตำแหน่งทางปกครองเป็นเพียงพระลูกวัดสร้อยทอง

Advertisement

ส่วนแนวทางในการเผยแผ่ธรรมะออนไลน์ให้พระปกครองเป็นผู้ให้คำแนะนำว่า ขอบเขตความเหมาะสมอยู่ได้ในระดับใดเพื่อไม่ให้ขัดต่อพระธรรมวินัย

ว่ากันว่าหากการไลฟ์สดของพระชื่อดัง 2 รูป ไม่ได้เป็นที่สนใจและมีผู้เข้าชมจำนวนมากหลายแสนครั้ง และกลายเป็นกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ คงไม่กลายเป็นประเด็นใหญ่โต เพราะที่ผ่านมาพระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ได้ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสื่อสารไปยังฆราวาสอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้เป็นที่สนใจมากเหมือนการไลฟ์สดในคราวนี้

อีกทั้งการไลฟ์สดผ่านโซเชียลมีเดียเป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

Advertisement

สอดคล้องกับที่ สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอุษาคเนย์และพระพุทธศาสนา ระบุไว้ว่า “การสอนธรรมะแนวฮาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ถือว่าเป็น How to ในการสื่อสาร ถ้าสมัยนี้ก็เรียกว่า edutainment การเทศนาแนวฮา หรือแนวบันเทิง มีมาแล้วในสังคมไทย เช่น เทศน์ 2-3 ธรรมมาสน์หรือสวดคฤหัสถ์ กรณีของ 2 พระมหา จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่แปลกใหม่ตรงที่มีการเทศน์ผ่านช่องทางที่ทันสมัย และกลุ่มเป้าหมายคือ คนรุ่นใหม่

ส่วนความเหมาะสมหรือไม่นั้น ทางพระพุทธศาสนา ให้ดูที่เจตนา ถ้าเจตนาเป็นไปตามเป้าหมายทางการกุศล การกระทำ หรือวิธีการอาจไม่สำคัญเท่าเป้าหมาย ดังนั้น การเทศน์ของพระทั้ง 2 รูป จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
โลกสมัยใหม่ต้องมีการปรับตัว ส่วนผู้ที่บอกว่าไม่เหมาะสม เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่ต้องการรักษารูปแบบเดิมๆ และรักษาอำนาจเก่า ปัจจุบันรูปแบบต่างๆ ล้วนต้องมีความเปลี่ยนแปลง”

ส่วนตัวเห็นด้วยกับ รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้ความเห็นในรายการช่องโมโน 29 ว่า “พื้นที่การเข้าถึงธรรมะเปลี่ยนไปคนเข้าวัดน้อยลง ซึ่งการที่พระสงฆ์ 2 รูป ใช้แพลตฟอร์มใหม่ในการสื่อสารเผยแผ่ธรรมะ จึงเป็นเหมือนสื่อที่เข้าถึงคนสมัยใหม่ได้ดี แต่อาจจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมเรื่องเนื้อหาและท่าทีของพระสงฆ์ด้วย เห็นได้จากการที่พระชั้นผู้ใหญ่ หรือสำนักพระพุทธศาสนาออกมาท้วงติงลักษณะการพูดของพระทั้ง 2 รูป ว่าอาจจะไม่เหมาะสมกับเพศบรรชิต ซึ่งการใช้สื่อถือว่าพระทั้ง 2 รูปตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบัน แต่คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังติดกับภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่ต้องสำรวม สงบเสงี่ยมด้วย”

สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับตัวตามยุคสมัยที่เปลี่ยน มีการใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย

แต่ทั้งหมดจะต้องเป็นไปเพื่อการเผยแผ่ธรรมะอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image