สะพานแห่งกาลเวลา : ฟื้นชีพแมมมอธ

สะพานแห่งกาลเวลา : ฟื้นชีพแมมมอธ เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา
เบน แลมม์ กับ ศ. จอร์จ เชิร์ช (ภาพ-Colossal)

เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวของบริษัทสตาร์ตอัพบริษัทหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่สร้างความฮือฮาให้กับแวดวงวิทยาศาสตร์ไม่น้อย

บริษัทที่ว่าชื่อ บริษัท โคลอสซัล (Colossal) มีความเป็นมาโด่งดังไม่น้อย เพราะร่วมก่อตั้งโดย ศาสตราจารย์ จอร์จ เชิร์ช นักวิชาการและอาจารย์ด้านพันธุวิศวกรรมชื่อดัง จากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้เชี่ยวชาญในการบุกเบิกการใช้เทคโนโลยี “คริสเปอร์” เพื่อปรับแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต กับ เบน แลมม์ นักลงทุนอเมริกัน

โคลอสซัลแถลงว่า บริษัทตนสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้ในรอบนี้ 15 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนกิจการของบริษัท

ประเด็นที่สร้างความฮือฮาก็คือว่า พันธกิจของบริษัทโคลอสซัลนี้ คือการใช้เทคโนโลยีใหม่ทางพันธุวิศวกรรมที่ “เป็นไปได้” แล้วในเวลานี้ มาใช้ทั้งเพื่อการ “ฟื้นชีพสิ่งมีชีวิตในอดีต” และดำรงรักษาสิ่งมีชีวิตอีกเป็นจำนวนมากในปัจจุบันที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

Advertisement

เริ่มต้นด้วยการ “ฟื้นชีพแมมมอธ” !

แมมมอธ ช้างขนยาวเป็นบรรพบุรุษของช้างในปัจจุบัน มีชีวิตอยู่ในยุค (ย่อย) โฮโลซีน อีพอค เมื่อกว่า 11,000 ปีที่ผ่านมา มีประชากรหลงเหลือเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ในแถบอาร์กติก ทุนดรา จนกระทั่งราว 3,700-4,000 ปีที่แล้ว จึงสูญพันธุ์ไปจากโลก

โคลอสซัลอ้างว่า หากสามารถฟื้นชีพโขลงแมมมอธแล้วนำกลับไปปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งทุนดรา แถบอาร์กติกได้ ก็จะสามารถฟื้นฟูสภาพนิเวศวิทยา ทำให้ทุ่งทุนดราอาร์กติกกลับฟื้นคืนมาใหม่ ให้ทำหน้าที่เก็บกักก๊าซเรือนกระจกอย่าง คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนแหล่งใหญ่ของโลกต่อไปได้

Advertisement

ถือเป็นการช่วยให้โลกฟื้นฟูจากภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย

คำถามก็คือ ทำอย่างไรถึงจะฟื้นชีพแมมมอธขึ้นมาได้?

วิธีการไม่ใช่การ “โคลนนิ่ง” แน่นอน เนื่องจากดีเอ็นเอของแมมมอธที่สกัดได้จากซากซึ่งแช่แข็งอยู่ในเขตเพอร์มาฟรอสต์ไม่สมบูรณ์พอที่จะอำนวยให้ทำได้

ศาสตราจารย์เชิร์ชอธิบายว่า โคลอสซัลจะหันมาใช้วิธีการตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อสร้างช้าง “ลูกผสม” ระหว่างช้างยุคปัจจุบันกับแมมมอธขึ้นมาแทน

เชิร์ชโด่งดังจากการใช้ “คริสเปอร์” เทคโนโลยีใหม่ ตัดแต่งพันธุกรรมของ “หมู” เพื่อเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมใน 42 ตำแหน่ง ผลที่ได้คือ หมูพันธุ์พิเศษที่มี “ไต” ซึ่งเข้ากันได้กับร่างกายของมนุษย์ สามารถนำมาปลูกถ่ายแทนไตของคนได้

ระหว่างนี้กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการทดลองในคนอยู่ที่โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล

เชิร์ชระบุว่า การสร้างแมมมอธไฮบริด เป็นไปได้หลังจากที่มีการวิเคราะห์แผนที่พันธุกรรมของช้าง 23 สปีชีส์ ที่หลงเหลืออยู่ในโลก แล้วพบว่าสามารถปรับแต่งลักษณะทางพันธุกรรมให้ได้ช้างใหม่ที่มีลักษณะเด่นของแมมมอธได้ อาทิ ขนยาว, หูเล็กลง, มีชั้นไขมันหนา (ทั้งหมดเพื่อทนหนาว), ไม่มีงา (เพื่อป้องกันการล่าเอางา) เป็นต้น โดยต้องตัดต่อยีนแมมมอธเข้ากับยีนของช้างปัจจุบันอาจจะมากถึง 50 ตำแหน่ง

ช้างปัจจุบันที่นำมาใช้เพื่อสร้างช้างไฮบริดนี้ ก็คือ ช้างเอเชีย ซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับแมมมอธมากที่สุดถึง 99.6 เปอร์เซ็นต์

เดิมที โคลอสซัลกำหนดจะใช้ “ครรภ์เทียม” เพื่อกำเนิดลูกช้างไฮบริดนี้ แต่ยังติดขัดเรื่องเวลาในการสร้างครรภ์เทียมที่ว่า เลยอาจต้องใช้ช้างเอเชีย เป็นแม่ฝากท้องแล้วคลอดแทน

คาดว่า 4-6 ปี ก็จะได้ลูกช้างไฮบริดออกมา!

โครงการไม่เหมือนใครของโคลอสซัลนี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร อย่างน้อยใน 2 ประเด็นหลักๆ แรกสุดคือเรื่องของ จริยธรรม ซึ่งเกิดขึ้นทุกครั้งที่คนเราพยายามจะทำตัวเป็น “พระเจ้า” สร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นเอง

โลเว ดาเลน ศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรมวิวัฒน์จากศูนย์บรรพชีวินพันธุศาสตร์ในกรุงสตอกโฮล์ม กังขาเป็นอย่างมากว่า ช้างใหม่ที่ได้จากกระบวนการของโคลอสซัล จะเรียกว่าเป็นแมมมอธ หรือทำหน้าที่เหมือนแมมมอธได้หรือ?

ข้อเท็จจริงก็คือ เรารู้เรื่องพันธุกรรมของแมมมอธน้อยมาก จนไม่รู้ว่าอะไรทำให้เกิดอะไร

ผลลัพธ์ที่ได้อาจ “น่ากลัว” มากกว่าที่คิดกัน

ทอรี เฮอร์ริดจ์ ผู้เชี่ยวชาญแมมมอธ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ในกรุงลอนดอน ไม่เชื่อข้ออ้างที่ว่า การฟื้นชีพแมมมอธขึ้นมาจะช่วยป้องกันภาวะโลกร้อน

เพราะไม่เชื่อว่าช้างใหม่ที่ว่านี้จะมีบทบาทใหญ่โตถึงขนาดนั้น แม้จะสร้างขึ้นมาได้ใกล้เคียงกับแมมมอธมากก็ตามที

แต่ที่แน่ๆ คือ ทั้งดาเลนและเฮอร์ริดจ์ ไม่เชื่อว่าวิธีของโคลอสซัล จะฟื้นชีพแมมมอธขึ้นมาได้

แต่ถ้าจะใช้สร้าง “ช้างประหลาด” เอาไว้ในสวนสัตว์เก็บตังค์จากคนดู ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image