เดินหน้าชน : แผนฉีดวัคซีนน.ร.

เดินหน้าชน : แผนฉีดวัคซีนน.ร. ตามแผนการของกระทรวงศึกษาธิการ

ตามแผนการของกระทรวงศึกษาธิการยืนยันถึงความพร้อมที่จะเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ แถลงใหญ่วันก่อนบอกว่า ได้หารือร่วมกันแล้วระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย มีแนวทางในการเตรียมความพร้อมดังกล่าว จัดแผนปูพรมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษา ทั่วประเทศ

ศธ.และ สธ.กำหนดให้เด็กอายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วันฉีดวัคซีนไฟเซอร์ กลุ่มเป้าหมาย คือนักเรียน นักศึกษาระดับชั้นม.1-6 หรือ ปวช. ปวส.หรือเทียบเท่า

ตามไทม์ไลน์ในการฉีดวัคซีนให้นักเรียนเข็มแรก เริ่มวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ส่วนเข็ม 2 ช่วงสิ้นเดือนตุลาคม และจะทยอยได้รับการฉีดเข็มที่ 2 ให้ครบหมดภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564

หากเป็นไปตามแผน โรงเรียนบางส่วนในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มจะเปิดเรียนแบบ On-Site ได้ภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน ถ้าการฉีดวัคซีนให้เด็กเป็นไปตามแผน คาดว่าภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน สถานศึกษานสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สามารถเปิดเรียนแบบ On-Site ได้ 100% ทั้งประเทศ

Advertisement

ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงการฉีดวัคซีนให้นักเรียน โดยผู้ปกครองต้องมีส่วนร่วมตัดสินใจ มีการให้ข้อมูลข้อดี-ข้อเสียของวัคซีน ก่อนกรอกข้อมูลว่ายินยอมหรือไม่ยินยอมให้เด็กฉีดวัคซีนแล้วส่งกลับมายังโรงเรียน เมื่อฉีดแล้วจะมีการลงข้อมูลในฐานข้อมูลของ สธ. มีการติดตามการฉีดและการเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 30 วัน หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ ก็จะตามมารับเข็มที่ 2 ระยะแรก เป็นวัคซีน mRNA ของไฟเซอร์ ส่วนระยะถัดไป อาจจะมีวัคซีนเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค หากผู้ปกครองยังไม่อยากให้เด็กฉีดวัคซีน mRNA ก็สามารถรอวัคซีนเชื้อตายได้

หมอโสภณย้ำข้อมูลวัคซีน mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในต่างประเทศที่ฉีดในเด็ก พบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว 16 ราย ต่อการฉีด 1 ล้านโดส ส่วนของประเทศไทย ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม มีเด็กส่วนหนึ่งที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ตรวจพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1 ราย ตอนนี้รักษาหายแล้ว ย้ำว่าภาวะนี้สามารถรักษาได้ เด็กอาจจะมีอาการหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก เป็นต้น

“เรื่องนี้ก็ต้องให้ข้อมูลกับผู้ปกครองได้รับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจจะให้เด็กฉีดวัคซีนหรือไม่ด้วย” หมอโสภณกล่าว และบอกว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ100% แต่ลดโอกาสในการติดเชื้ออาการรุนแรง ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่สมาชิกในครอบครัวที่อาจจะมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านซึ่งในครอบครัวใดที่มีเด็ก ก็จะแนะนำให้ผู้สูงอายุเข้ารับวัคซีนเช่นเดียวกัน

หมอโสภณยังตอบคำถามนักข่าวถึงวัคซีนเชื้อตายที่จะใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี ว่า วัคซีนเชื้อตายมีความปลอดภัยสำหรับเด็ก แต่ต้องปรับทะเบียนจาก อย. กำลังทบทวนผลการศึกษาวิจัยของวัคซีนเชื้อตาย 2 ชนิดใช้ในผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี หากผ่านพิจารณาแล้วว่าจะใช้ในเด็กได้ ก็จะนำมาใช้ในโรงเรียนได้ โดยประเทศจีนใช้วัคซีนเชื้อตายฉีดให้เด็กแล้วกว่า 90 ล้านโดส ยังเป็นวัคซีนรุ่นเดิมอยู่

“การฉีดเชื้อตายในเด็กจะเป็น 2 เข็มเพราะแอสตร้าฯ ยังฉีดให้ผู้อายุ 18 ปีขึ้นไป การฉีดให้เด็กจะไม่มีการไขว้ชนิด ถ้าเป็นเชื้อตาย ซิโนแวค ล็อต 12 ล้านโดสก็น่าจะพอ เพราะกลุ่มเป้าหมาย 4.5 ล้านโดส ส่วนหนึ่งฉีดไฟเซอร์แล้ว คนจะฉีดเชื้อตายก็อาจเหลือ 1-2 ล้านคน ดังนั้นก็น่าจะพอ”

ส่วนที่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และยังไม่ได้รับวัคซีนจะไปโรงเรียนได้หรือไม่ หมอโสภณบอกว่า การเปิดเรียนไม่ได้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการฉีดวัคซีน เพราะหลายแห่งตั้งใจเปิดอยู่แล้ว เพียงแต่การฉีดวัคซีนก็สร้างความปลอดภัยมากขึ้น

ดังนั้น นักเรียนอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่ได้ฉีดวัคซีนก็เปิดเรียนได้ตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ก็ไปเรียนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image