สถานีคิดเลขที่ 12 : ถ้าฟังก็จะได้ยิน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ถ้าฟังก็จะได้ยิน

สถานีคิดเลขที่ 12 : ถ้าฟังก็จะได้ยิน

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ดินแดง กรุงเทพฯ นั้นต้องมีอะไรที่มากกว่าภาพข่าวที่ปรากฏ

หากเป็นมุมมองของเจ้าหน้าที่ อาจเชื่อมโยงความเคลื่อนไหวของม็อบไปในรูปแบบความมั่นคง

แต่ถ้ามองจากข้อมูลของฝ่ายต่างๆ ที่มีความห่วงใยประเทศชาติเหมือนกัน เราจะพบสาเหตุอื่นๆ

Advertisement

วันก่อนเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน ร่วมกับ มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดเวทีเสวนา

“ค้นหาความหมายใต้พรม เยาวชนรุ่นสามเหลี่ยมดินแดง”

ใครได้ติดตามคงได้ฟังข้อมูลจากบรรดาผู้ห่วงใยต่อสถานการณ์ที่ได้ลงไปศึกษา

Advertisement

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่าได้ลงพื้นที่ไปศึกษา

ได้สัมภาษณ์เยาวชนที่ร่วมชุมนุมแยกดินแดงทราบว่า เป็นกลุ่มที่ต่างจากกลุ่มนักศึกษา ส่วนหนึ่งเป็นสายช่าง สายอาชีวะ กับเด็กที่มาจากบ้าน หรือชุมชนทั้งใกล้และไกล ครอบครัวมีความเปราะบาง ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการบริหารงานของรัฐบาลโดยตรง

จากการสอบถามผู้ร่วมชุมนุมยอมรับว่า ไม่ถนัดสู้ตามแนวกลุ่มนักศึกษา แต่มองว่าต้องสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก บอกว่า มีอดีตเด็กจากบ้านกาญจนาที่คืนเรือนไปแล้วหลายปีมาร่วมชุมนุมด้วยจำนวนหนึ่ง

มีหลายกลุ่ม เดินทางมาร่วมแบบต่างคนต่างมา

สิ่งที่พบ คือ 1.เป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทั้งกับตัวเอง และครอบครัว มีคนเจ็บป่วย แต่การเข้าถึงสวัสดิการรักษายุ่งยาก ซับซ้อน กระทบความรู้สึก ทำให้โกรธ

2.หนี้สินครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้เดิมและหนี้ใหม่ แล้วยังไม่มีงานทำ

กลุ่มดังกล่าวโดยพื้นฐานจะถูกทิ้งอยู่แล้ว พอมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำการไม่มีตัวตน ไม่ถูกยอมรับ ไม่มีกลไกรองรับยิ่งขึ้น

อีกคนหนึ่งที่ร่วมเสวนา คือ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน

นายธีรภัทร์บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคมถึงปัจจุบัน มีเยาวชนที่ดินแดงถูกดำเนินคดีเกือบร้อยคน

เฉลี่ย 10 คนต่อวัน

อายุน้อยสุด 13 ปี อายุมากสุด 17 ปี

และยังพบอีกว่า มีผู้หญิงเข้าร่วมการชุมนุมมากขึ้น มาช่วยเป็นฝ่ายสวัสดิการ หิ้วอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ถืออุปกรณ์ป้องกัน ต่อสู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ระหว่างจับกุมมีร่องรอยบาดแผลมากน้อยแตกต่างกันไป

ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อรัฐบาล

เพราะจู่ๆ คนมารวมตัวกันชุมนุมขับไล่รัฐบาลแบบไม่มีเหตุไม่มีผลคงเป็นไปไม่ได้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอาจได้ยินแต่เหตุผลจากฝ่ายความมั่นคง

แต่ต่อไปอยากให้รัฐบาลรับฟังข้อมูลจากองค์กรหรือหน่วยงานหรือเครือข่ายอื่นๆ ที่ลงไปศึกษาในพื้นที่ดูบ้าง

ข้อมูลเหล่านี้อาจนำไปสู่การยุติความรุนแรง

ข้อมูลที่นำไปสู่การแก้ไข อาจเปลี่ยนภาพลักษณ์ของรัฐบาลจาก “ผู้กระทำ” เป็น “ผู้ช่วยเหลือ”

รัฐบาลอาจพบหนทางการยุติการชุมนุมด้วยแนวทางสันติ

ทำให้ดินแดงกลับคืนสู่ความสงบ

หนทางเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ขอเพียงแค่รัฐบาลเริ่มรับฟัง

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image