เลิกคำสั่ง คสช. 19/2560 บทเรียน Single Command จับหนูตัวเดียว พังบ้านทั้งหลัง

สภาผู้แทนราษฎร มีมติวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ เป็นเรื่องที่ผู้คนในแวดวงการศึกษา ทั้งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ติดตามกันว่าผลสุดท้ายแล้วบทสรุปจะเป็นอย่างไร

เนื้อหาของคำสั่งที่ว่านี้ ให้ยกเลิกคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ โอนอำนาจไปให้กับคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ และให้ฟื้นตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่เคยถูกยุบเลิกไปคืนมา
ภายหลังมีคำสั่ง ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคือกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาและกรรมการ
อ.ก.ค ศ. ครู ผู้บริหารโรงเรียนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าโครงสร้างที่กำหนดขึ้นใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งไม่ใช่แนวทาง ไปสู่การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง เพราะมี
ลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจมากกว่ากระจายอำนาจ

เหตุที่ถูกนำมาอ้างเพื่อออกคำสั่ง คือ เกิดปัญหาขาดธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู การแต่งตั้งโยกย้ายเกิดการทุจริต วิ่งเต้นเส้นสาย เรียกเงินซื้อขายตำแหน่ง จนพูดกันว่าครูกินครู เกิดการซื้อเสียงเสนอตัวเข้ามาเป็นกรรมการเขตพื้นที่ และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ประกอบกับปัญหาช่องว่างระหว่างหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ 4 แท่ง จึงเป็นที่มาของการใช้แนวคิดบริหารเชิงอำนาจ Single Command บังคับบัญชารวมศูนย์ที่จุดเดียวคือสำนักปลัดกระทรวง ก่อนนำเสนอรัฐมนตรีฝ่ายนโยบายตัดสินใจ

สองสาเหตุมาบรรจบกันเลยเป็นที่มาของคำสั่งอื้อฉาว ซึ่งในที่สุดต้อง ยกเลิกŽ หรือ แก้ไขŽ ต้องรอดูกันต่อไป ส่วนสาเหตุที่กลไกตั้งขึ้นใหม่ (กศจ.) ไม่บรรลุผล เพราะติดหล่ม หรือกับดักด้านบริหารงานบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายครู ยิ่งสร้างปัญหา ทำให้กระบวนการอืดอาด ล่าช้า ส่งผลกระทบต่อครู เดือดร้อนหนักกว่ากระบวนการเดิม ทำให้ไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญ คือกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด

Advertisement

คำอภิปรายของ ส.ส.และ ส.ว.สะท้อนชัดเจนว่า การแต่งตั้งโยกย้ายครูมีปัญหา แต่เกิดขึ้นเฉพาะบางที่ บางจุดเท่านั้น ไม่ได้เป็นทุกจังหวัด ที่อื่นๆ ส่วนมากเป็นไปด้วยดี การแก้ปัญหา เอาผิดลงโทษ ควรแก้เฉพาะจุดที่เกิดปัญหา ไม่ใช่ทุบเปรี้ยง ยุบเลิกทั้งหมด

เปรียบเหมือนกับการจับหนูตัวเดียวแต่ใช้วิธีการพังบ้านทั้งหลัง ทำให้เกิดความเสียหายทั่วไปหมด ขณะที่กลไก กระบวนการใหม่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาและบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้

คำสั่งขาดความรอบคอบ ถืออำนาจเป็นใหญ่ ปิดปาก ใครต่อต้านถูกลงโทษ ไม่รับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างจริงจัง ทำให้เกิดปัญหาบานปลายตามมา

Advertisement

สิ่ งที่จะชี้วัดว่าคำสั่งนี้เกิดผลดี หรือผลเสียต่อระบบการศึกษามากกว่ากัน พิจารณาไม่ยาก หากประเมินผลว่านับตั้งแต่ปี 2560 จนถึงขณะนี้ 2564 ปัญหาการบริหารบุคคลลดลงหรือไม่ ขณะที่งานด้านการพัฒนา การบริหารการศึกษาในระดับภูมิภาคและส่วนกลางดีขึ้น หรือย่ำอยู่กับที่ หรือยิ่งย่ำแย่ลง ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ปัญหาคุณภาพและความเหลื่อมล้ำ ยังก้าวไม่พ้นภาวะวิกฤต

ด้วยเหตุนี้การแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งนี้เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก

ประเด็นที่สภาต้องหาบทสรุปต่อไปก็คือ จะเลือกโมเดลไหน ระหว่างสองแนวทางที่ยังแตกต่างกันอยู่

แนวทางแรก ยกเลิกตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ฟื้นกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษากลับคืนมาใหม่

แนวทางที่สอง ให้คงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดอยู่ต่อไป แต่ปรับบทบาทหน้าที่ มาทำเรื่องระดับนโยบายและการพัฒนาการศึกษาเป็นหลัก ปรับวิธีทำงานแนวดิ่งให้เป็นแนวระนาบ ประสานการจัดการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท ตั้งแต่ก่อนปฐมศึกษา การศึกษาพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัยฯ ในพื้นที่ หรือจังหวัดให้เกิดเอกภาพ

โมเดลนี้ไม่ต้องฟื้นกรรมการเขตพื้นที่และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ แต่ให้งานด้านบริหารบุคคล แต่งตั้งโยกย้ายครู เป็นหน้าที่ของ อ.ก.ค.ศ.จังหวัดที่ตั้งขึ้นใหม่

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภาได้ศึกษาปัญหาและจัดทำรายงานข้อเสนอแก้ไขปัญหาโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ระบุชัดว่า คณะบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นตามโครงสร้างของ กศจ.ให้ความสำคัญเฉพาะการบริหารงานบุคคลเท่านั้น ส่วนด้านอื่นๆ ไม่ได้รับการปฏิรูปเพื่อพัฒนา จึงไม่สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่การปฏิบัติจริงได้

เนื่องจากศึกษาธิการจังหวัดซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถประสานสั่งการผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ ด้วยเหตุผลว่าศึกษาธิการจังหวัดไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา จึงก่อให้เกิดปัญหาต่อการปฏิรูปการศึกษา

บทสรุปของเรื่องนี้ก็คือ ไม่ว่าใครจะอยู่ หรือใครจะไป หรือต้องอยู่ร่วมกันต่อไปก็ตาม บทเรียนของการใช้อำนาจจากกระบอกปืน จากการปฏิวัติ ไม่สามารถทำให้การศึกษาดีขึ้นได้จริง เพราะการศึกษาต้องการการมีส่วนร่วม ทำงานแนวราบยิ่งกว่าแนวดิ่ง กระจายอำนาจดีกว่ารวมศูนย์อำนาจแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image