ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านงานกลาโหม กองทัพ หรือทหารของต่างประเทศ

มื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏเป็นข่าวเล็กๆ ที่เสนอแนะให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งผู้ตรวจการ กองทัพขึ้น ซึ่งรวมหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดินด้านงานกลาโหมหรือผู้ตรวจการแผ่นดินทหาร ผู้เขียนจำได้ว่าสมัยรับราชการเคยไปร่วมสัมมนาการปฏิรูปภาคความมั่นคงและธรรมาภิบาลในงานความมั่นคง ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพมหานครโดยมูลนิธิ FRIEDRICH EBERT และศูนย์การควบคุมกองทัพในระบบประชาธิปไตย ณ กรุงเจนีวา (Geneva Centre for the Democratic Control of Armed Forces : DCAF) ศูนย์นี้เป็นคลังสมอง (Think Tank) ทางวิชาการในการปฏิรูปงานด้านความมั่นคงระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลต่างๆ หลายสิบประเทศรวมทั้งสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (Inter-Parliamentary) โดย DCAF นำเสนอในการสัมมนาว่าในบางประเทศได้มีการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินด้านงานกลาโหมแยกออกจากผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วไป (Ombudsman) จึงเห็นควรนำมาเผยแพร่เป็นความรู้ให้รับทราบรู้จักยิ่งขึ้น

ในต่างประเทศมีการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินโดยเฉพาะเพื่อทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติงานของกระทรวงกลาโหม หรือกองทัพ เป็นองค์กรที่แยกมาต่างหากจากผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วไป (Ombudsman) โดยสังกัดฝ่ายนิติบัญญัติในหลายประเทศและภายใต้ชื่อที่แตกต่างกัน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามการดำเนินงานด้านกลาโหมของประเทศฟินแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส และเยอรมนี หรือในชื่อคณะกรรมาธิการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของฝ่ายกองทัพในอิสราเอล หรือผู้ตรวจการแผ่นดินประจำกระทรวงกลาโหมและประจำกองทัพแคนาดา และผู้ตรวจการแผ่นดินกระทรวงกลาโหมแห่งออสเตรเลีย เป็นต้น (ดูตารางประกอบ)

ภารกิจหลักของผู้ตรวจการแผ่นดินงานด้านกลาโหม คือ การสอบสวนกรณีที่มีการตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการตัดสินใจโดยพลการ หรือมีการกระทำผิดทางอาญาของหน่วยงานความมั่นคง โดยที่มาของผู้ตรวจการแผ่นดินงานด้านกลาโหมจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ กรณีของเยอรมนีและสวีเดน รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งและรายงานตรงต่อรัฐสภา กรณีของอิสราเอลและแคนาดานั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งหลักการทั่วไปพลเรือน หรือบุคลากรทางทหารที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมสามารถร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าวให้เริ่มการสอบสวน

Advertisement

นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาเองก็สามารถขอให้ทำการสอบสวนกรณีที่มีข้อร้องเรียนกล่าวหาการใช้อำนาจโดยมิชอบได้ด้วยเช่นกัน กรณีที่สอบสวนส่วนใหญ่มักเป็นการโยกย้ายและการปรับเปลี่ยนตำแหน่ง การถูกปลดประจำการ การลาราชการ ความผิดทางวินัย และความผิดสมควรได้รับการลงโทษ

ในกรณีที่สอบสวนแล้วพบว่าข้อกล่าวหามีมูลก็สามารถเสนอคำแนะนำไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เปลี่ยนแปลง หรือทบทวนคำสั่งนั้นอีกครั้งหนึ่ง และสามารถสอบสวนหรือสืบสวนเรื่องที่เป็นความลับได้หากมีความจำเป็น แต่ไม่สามารถเปิดเผยผลการสืบสวนต่อสาธารณชนได้

ขอยกตัวอย่างสองประเทศที่น่าสนใจ
ผู้ตรวจการแผ่นดินประจำกองทัพเยอรมนี ในการสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ประเทศเยอรมนีได้ให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะต่อการควบคุมกองทัพโดยรัฐสภา เพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของสมาชิกในกองทัพ และเพื่อให้ความช่วยเหลือรัฐสภาในการควบคุมกองทัพ สามารถตรวจสอบกรณีต่างๆ โดยคำสั่งจากรัฐสภา หรือโดยคำสั่งของคณะกรรมาธิการการทหาร หรือสามารถริเริ่มสอบสวนเอง หากเห็นว่าสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับบุคลากรในกองทัพไม่ว่าอยู่ในตำแหน่ง หรือยศใดก็ตาม บุคลากรในกองทัพมีสิทธิร้องเรียนได้โดยตรงไม่ต้องผ่านช่องทางของทางราชการตามสายบังคับบัญชาปกติ และมีอำนาจตรวจสอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถขอข้อมูลต่างๆ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและ
ผู้ใต้บังคับบัญชาตลอดจนหน่วยงานในสังกัดได้ และอาจเข้าเยี่ยมชมหน่วยงานของ
กองทัพโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า

Advertisement

ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินประจำกองทัพสวีเดน ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2458 เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองที่สำคัญต่อบุคลากรทางทหารทั้งหญิงและชาย จากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมภายในกองทัพ ด้วยการสร้างความโปร่งใสในกระบวนการบริหารงานทั้งหมด โดยมิได้แตะต้องในเรื่องสายการบังคับบัญชาทางทหาร หรือไม่ไปลดการเตรียมพร้อมทางทหารของกองทัพแต่อย่างใด

สรุป ในบางประเทศที่มีการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินด้านงานกลาโหม กองทัพ หรือทหารภายใต้แนวคิดการพัฒนา หรือปฏิรูปกองทัพ แยกออกมาต่างหากจากผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วไป เพื่อให้การควบคุมกำกับดูแลภาคความมั่นคงมีประสิทธิภาพตลอดจนเสริมสร้างให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในกองทัพยิ่งขึ้น สำหรับประเทศ

ไทยอาจเป็นเรื่องใหม่ที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ ภาคประชาชน พรรคการเมือง และรัฐสภาได้ศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดและจริงจังถึงความจำเป็นและความเหมาะสมต่อไปว่า ประเทศไทยสมควรมีผู้ตรวจการแผ่นดินด้านงานกลาโหม กองทัพ หรือทหารแยกออกจากผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วไปหรือไม่ เพียงใด

พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image