เดินหน้าชน : หนี้ครัวเรือนท่วม

การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ถึงปัจจุบัน ส่งแรงกระแทกต่อสังคมไทยอย่างน้อย 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง สาธารณสุขและสุขภาพคนไทย ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณแนวโน้มดีขึ้น ผู้ป่วยใหม่แม้อยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่ถือว่าทรงตัวระดับหมื่นต้นๆ ขณะที่ตัวเลขการรักษาหายกลับบ้านเริ่มแซงผู้ติดเชื้อใหม่
ต่อเนื่อง ทางการสามารถฉีดวัคซีนได้เร็วและมากขึ้น เริ่มมีแผนเปิดประเทศ

อีกด้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่ ยังตกในสภาพยากลำบาก แม้ ศบค.จะเริ่มผ่อนคลายให้ธุรกิจร้านค้ากลับมาเริ่มได้ แต่ยอดการค้าการขายในหลายธุรกิจกลับมาไม่ถึงครึ่ง โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ถือเป็นรายได้สำคัญ ไม่ชัดเจนฟื้นตัวได้เมื่อไร

แรงงานยังคงถูกลดวันทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน รายได้จากเคยชักหน้าไม่ถึงหลังแม้ยามปกติ ในภาวะโควิด-19 ยิ่งเปราะบางมากขึ้น

Advertisement

เมื่อรายได้หดหายรุนแรง แต่รายจ่ายยังคงที่ (อาจมากขึ้นด้วยซ้ำ) ทางออกเดียวคือ กู้หนี้ยืมสิน

สะท้อนจากตัวเลขหนี้ครัวเรือนเร่งตัวอย่างรวดเร็ว เพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพีในสิ้นปี 2562 เป็น 90.5% หรือกว่า 14 ล้านล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต ประเมินหนี้ครัวเรือนไทยสิ้นปีนี้จะแตะระดับ 93% สูงเป็นอันดับ 17 ของโลก

Advertisement

การเร่งขึ้นรวดเร็วของหนี้ครัวเรือน เกิดจากความจำเป็นที่ต้องก่อหนี้เพิ่ม จากการที่มีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอ หลังจากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง

ที่น่าสนใจคือ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 6.5% สูงสุดในรอบ 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 เท่ากับยืนยันว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ภาคครัวเรือนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อมีเงินไว้จับจ่ายชีวิตประจำวันเพิ่มสูง แทนการกู้ไปต่อยอดเพื่อลงทุน สร้างรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ

ประเภทของหนี้ครัวเรือนไทยประกอบด้วย สัดส่วนหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 47% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ประเภทหนี้บ้าน รถยนต์ สัดส่วนหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันกลับสูงถึง 35% คือหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล รวมถึงหนี้เพื่อการศึกษา และส่วนที่เหลืออีก 18% เป็นหนี้รายย่อยเพื่อธุรกิจครัวเรือน

เปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูง อย่างเช่นเกาหลีใต้ที่มีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 94% ของจีดีพี เพิ่มเป็น 103.8% ในต้นปี 2564 กลับพบว่าครัวเรือนของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ เป็นประเภทหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสูงกว่าไทย คือมีสัดส่วนสูงถึง 56% สะท้อนให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของไทยมีความเสี่ยงต่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจสูงมากกว่า

การดูแลของภาครัฐจากมาตรการเยียวยาด้วยตัวเงินที่ออกมาหลายระลอก รวมถึงความช่วยเหลือ
กลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 13.65 ล้านคน อาทิ วงเงินรูดซื้อสินค้า 200-300 บาท ค่าเดินทางรถโดยสารสาธารณะ 500 บาท ช่วยค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท ช่วยค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า คงเพียงพอแต่เฉพาะว่ากันไปวันต่อวัน

แต่กับปัญหาใหญ่มหึมาอย่างหนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาระดับโครงสร้างที่ฝังลึก จะต้องวางแนวทางอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตอบโจทย์นี้ไว้อย่างไร

สัญญา รัตนสร้อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image