สะพานแห่งกาลเวลา : แอร์แท็กซี่ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Kitty Hawk)

พัฒนาการของโดรน ทำให้ความเป็นไปได้ของโลก จะมีเครื่องบินที่ทำหน้าที่เหมือนแท็กซี่อากาศมีสูงมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป

อันที่จริงตอนนี้มีหลายบริษัทมากที่พัฒนาเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กของตนขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ให้บริการในทำนองแท็กซี่

ตัวอย่างเช่น “โจบี้ เอวิเอชัน” ที่ใช้เครื่องบินเล็กบรรทุกผู้โดยสาร 4 คน นักบินอีก 1 คน, “อาร์เชอร์” ออกแบบแอร์แท็กซี่ รองรับผู้โดยสาร 2 คน, หรือบริษัท “วิสก์” ที่มีเครื่องบินเล็กชื่อ “คอรา” รองรับผู้โดยสาร 1 คน กับนักบินอีก 1 คน

แต่ที่แปลกที่สุดก็คือ บริษัท “คิตตีฮอว์ก” ที่พัฒนาเครื่องบินไฟฟ้าชื่อ “เฮวิไซด์” ขึ้นมาให้บริการเป็น แอร์แท็กซี่

Advertisement

ความแปลกที่ว่าก็คือ เฮวิไซด์ เป็นเครื่องบินขนาดเล็กมาก บรรทุกผู้โดยสารได้คนเดียวเท่านั้น ไม่มีนักบิน ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารต้องเดินทางตามลำพังนั่นเอง

เฮวิไซด์ เป็นเครื่องบินไฟฟ้า ขนาดวัดจากปีกจรดปีก 5.5 เมตร ยาว 7 เมตร ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์จำนวน 8 ตัว ติดตั้งไว้บนปีกหลัก 6 ตัว ปีกเล็กด้านหน้าอีก 2 ตัว มอเตอร์ที่ว่านี้ปรับระดับเอียงได้ ผลก็คือ ทำให้เครื่องบินเล็กลำนี้สามารถขึ้นลงในแนวดิ่งได้ แล้วก็ทำให้เวลาขึ้นลงใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 100 ตารางเมตร เท่านั้น

ตัดปัญหาเรื่องการต้องใช้รันเวย์ ใช้สนามบินไปได้เลย

Advertisement

เครื่องบินเล็กลำนี้ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 156 นอต (180 ไมล์ หรือ 289.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) แต่ระบบของเครื่องจะจัดการความเร็วอัตโนมัติ โดยหากต้องบินระยะไกลความเร็วจะลดลงมาเพื่อรักษาพลังงาน ทำให้มันมีรัศมีการบินได้ 160 กิโลเมตรโดยแบตเตอรีไม่หมดนั่นเอง

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของคิตตีฮอว์ก คือ เซบาสเตียน ธรัน คนที่เริ่มต้นปลุกปั้นโปรเจ็กต์แท็กซี่ไร้คนขับให้กับกูเกิล ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น เวย์โม นั่นเอง

คำถามที่น่าสนใจก็คือ จะมีคนกล้าขึ้นเครื่องบินขนาดเล็กๆ นี้เพียงลำพัง เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทางละหรือ?

ธรันยอมรับเองว่า ไม่รู้เหมือนกัน แต่ชี้ให้เห็นว่าคนเราทุกวันนี้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอัตโนมัติจากการใช้งานอยู่ทุกวี่ทุกวัน โดยไม่มีคนกำกับดูแล อย่างเช่น ขึ้นลงลิฟต์ หรือใช้บริการรถไฟฟ้าอัตโนมัติจากสถานีหนึ่งไปยังอีกสถานีหนึ่งในสนามบินใหญ่ๆ หลายแห่ง โดยไม่มีพนักงานขับแต่อย่างใด เป็นต้น

ธรันระบุว่า เมื่อใช้บริการ ผู้โดยสารแทบไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับเครื่องเฮวิไซด์เลย ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน ก็สามารถบังคับให้ร่มชูชีพที่ติดตั้งไว้ ชะลอเครื่องบินลงสู่พื้นได้

เขาบอกว่า ที่สำคัญกว่าก็คือ ผู้โดยสารต้องรู้ว่าตนเองไม่ได้อยู่เพียงลำพัง จึงมีระบบติดต่อให้สามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้ทุกเวลาหากต้องการ ทั้งผ่านระบบวิดีโอแชต หรือแค่เสียงก็ได้ตลอดเวลา

ธรันอ้างว่า เฮวิไซด์มีมอเตอร์ขับเคลื่อนถึง 8 ตัว ดังนั้น ยังคงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นแม้ว่า 1 ใน 8 ตัวดังกล่าวเกิดขัดข้องขึ้นมา

ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้อง เฮวิไซด์สามารถบังคับจากระยะไกลโดยเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินให้กลับสู่จุดเริ่มต้นเดินทางได้ เป็นการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง เจ้าหน้าที่ยังสามารถบังคับเครื่องให้ลงจอดในจุดจอดฉุกเฉินระหว่างทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้าได้อีกด้วย

ตัวเครื่องบินยังมีระบบเซ็นเซอร์ทำงานด้วยเลเซอร์ สำหรับตรวจสอบพื้นดินด้านล่างสำหรับการลงจอดฉุกเฉิน เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ลงจอดบนกบาลใครเขาเข้า

ซีอีโอของคิตตีฮอว์กบอกว่า เฮวิไซด์ก็เหมือนกับรถยนต์ที่ขับเคลื่อนเองอัตโนมัตินั่นแหละ เพียงแต่ว่าขึ้นมาอยู่บนท้องฟ้า แทนที่จะอยู่บนถนนเท่านั้นเอง

อันที่จริง เฮวิไซด์ พร้อมให้บริการแล้วในเวลานี้ แต่ยังติดปัญหาใหญ่อยู่อีกอย่าง ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเปิดให้บริการได้เต็มที่

นั่นคือ องค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) ยังงงๆ อยู่ว่าจะออกกฎมากำกับดูแลกรณีนี้อย่างไร มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image