รัฐสภาไร้สำนึก…การศึกษาไทยตกต่ำ

รัฐสภาไร้สำนึก...การศึกษาไทยตกต่ำ

รัฐสภาไร้สำนึก…การศึกษาไทยตกต่ำ

รัฐสภาประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ วันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา นัดสุดท้ายก่อนปิดสมัยสามัญ อภิปรายกันครึ่งค่อนวันถึงค่ำ
ปรากฏว่าถึงเวลาจะลงมติวาระแรกเห็นชอบรับหลักการหรือไม่ คุณชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ประธานที่ประชุมพยายามขอร้องสมาชิกให้เข้าห้องประชุมรายงานตัว ระหว่างนั้นมีสมาชิกฝ่ายรัฐบาลเสนอให้เลื่อนการลงมติออกไปสมัยประชุมหน้า แม้ฝ่ายค้านจะย้ำว่าหากลงมติวันนี้ ช่วงปิดสมัยประชุมกรรมาธิการยังสามารถทำงานต่อไปได้

ปรับร่างกฎหมายให้เป็นไปตามคำอภิปรายของสมาชิก ทำให้งานคืบหน้า ไม่เสียเวลาเปล่า 2 เดือนกว่าจะเปิดสภา แต่ความเห็นของฝ่ายค้านไม่ได้รับความสนใจจากสมาชิกส่วนใหญ่

จนเลขาธิการเดินขึ้นมากระชิบ ประธานจึงจำใจสั่งยุติการประชุมทันที เพราะขืนปล่อยต่อไปให้มีการแจ้งจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่อยู่ในห้องประชุม ก็หน้าแตกด้วยกันทั้งหมด

Advertisement

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายการสภาล่มอีกครั้งหนึ่ง เพราะสมาชิกพากันกลับก่อนไม่อยู่ร่วมประชุมจนถึงวาระการลงมติ หรือไม่ก็ไม่เข้าห้องประชุมเสียเฉยๆ ส่งผลให้ต้องเลื่อนการลงมติร่าง พ.ร.บ.การศึกษาออกไปสมัยประชุมหน้า เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่เป็นกฎหมายที่รัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก และผู้คนทั้งในและนอกวงการศึกษา ล้วนยอมรับและพร่ำพูดว่าเป็นกฎหมายสำคัญ ทำให้การปฏิรูปการศึกษาก้าวหน้าไปอีกระดับหนึ่งเพราะมีเนื้อหาที่ไม่เคยมีมาก่อน

โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ว่าด้วยความเป็นอิสระของสถานศึกษา ลดภาระของครูในเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่การสอน ทำให้มีเวลาอยู่กับนักเรียน อยู่กับห้องเรียนมากขึ้น และมีองค์กรเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท มีกลไกส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

Advertisement

แม้ผู้มีส่วนได้เสียบางกลุ่มคัดค้านว่าร่างกฎหมายนี้ยังไม่ตอบโจทย์ที่แท้จริง ไม่ทันสมัย สมกับการศึกษายุคไฮเทค 5จี ท่าทีกระทรวงศึกษาธิการคงยืนยันเดินหน้าให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาและพัฒนาในส่วนที่จำเป็นไปก่อน จึงต้องผลักดันกฎหมายใหม่ออกมาใช้บังคับให้ได้

แต่เมื่อสมาชิกรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่บัญญัติกฎหมาย เล่นบทพูดอย่างทำอย่าง ชักเย่อ ไม่ยอมอยู่ในที่ประชุมจนถึงเวลาลงมติ

ก่อนหน้านี้ก็แสดงสำนวนโวหารน่าฟัง การศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นต้องปฏิรูป แต่แทนที่จะขมีขมันเร่งเข็นกฎหมายออกมาเพื่อแก้ปัญหาหมักหมมให้ลดลงโดยเร็ว

กลับมีพฤติกรรมตรงกันข้าม ลอยชาย ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง เอาไว้วันหลังก็ได้ รอมาตั้งนานเป็นปี รออีกหน่อยไม่เห็นเสียหายอะไร

ถ้าพูดสวนกลับว่าอภิปรายกันมาได้ทั้งวี่ทั้งวัน อดทนรอต่ออีกหน่อยไม่ได้เชียวหรือ จะเป็น จะตาย จะเสียหายมากมายหรือถ้าอยู่รอลงมติเพื่อให้งานเดินหน้าต่อ ไหนว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการศึกษา อนาคตของลูกหลาน และชาติบ้านเมือง

รายการนี้ต้องเอาชื่อมาแบให้สังคมได้รับรู้ เปิดเผย โปร่งใส ใครอยู่ ใครเบี้ยว เสียดายประธานสั่งยุติการประชุมไปเสียก่อนเพื่อรักษาเกียรติยศของสถาบันอันทรงเกียรติ

เหตุที่การศึกษาไทยคุณภาพตกต่ำย่ำแย่ ไม่ทันโลก สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารระดับสูง ผู้มีส่วนกำหนดนโยบาย วางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ให้ความสำคัญอย่างแท้จริง ไม่คำนึงถึงต้นทุนเวลาที่เสียไปแต่ละวัน ล้วนมีค่ามหาศาล

ผลการลงมติต่อไปจะออกมาอย่างไรก็ตาม กล่าวเฉพาะร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลซึ่งถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพียงฉบับเดียว ยังประสบชะตากรรมถูกลากดึงขนาดนี้

ไม่ต้องพูดถึงร่างกฎหมายของภาคประชาชนและองค์กรทางการศึกษาต่างๆ ซึ่งเสนอให้รัฐบาลพิจารณารับรองเข้าสู่ที่ประชุมคู่ขนานกันไป เนื่องจากเป็นกฎหมายเข้าข่ายการปฏิรูปต้องผ่านการรับรองจากนายกรัฐมนตรีถึงจะนำเสนอที่ประชุมรัฐสภาได้

ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีไม่ให้การรับรอง ทำให้กฎหมายอีกสองฉบับ คือ ของคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ค.ค.ท.) ไม่ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา

รัฐบาลอ้างว่าได้นำเอาหลักการของกฎหมายทั้งสองฉบับมาหลอมรวมเข้ากับฉบับของรัฐบาลแล้ว แต่หากเจาะเข้าไปในรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.การศึกษาของรัฐบาล ไม่ปรากฏสิ่งที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ต้องมีในร่างกฎหมายลูกด้านการศึกษาแต่อย่างใด

นั่นคือความในหมวด 16 ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู

กรณีนี้จึงเป็นบทเรียนการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนอีกครั้ง ว่าการรวบรวมรายชื่อให้ครบตามเกณฑ์ และเสนอหลักการใหญ่ต่อสภาโดยตรง มีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าผ่านการรับรองของรัฐบาล

กระนั้นก็ตาม โอกาสที่กฎหมายจะตกไปยังเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ หากเสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลไม่เอาด้วย ตัวอย่าง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน 6 ฉบับ ที่ถูกคว่ำให้เห็นมาแล้ว เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image