บทนำ : สถานะ‘กสม.’

บทนำ : สถานะ‘กสม.’ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการ

น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า กสม.ถูกลดสถานะจาก A ลงมาเป็น B และ กสม.ชุดที่ผ่านมา ได้ดำเนินการเพื่อให้กลับมามีสถานะ A ดังเดิม กสม.ชุดที่ 4 ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้ได้รับสถานะ A ซึ่งจะมีผลให้ กสม.แสดงบทบาทในเวทีสากลได้มากขึ้น ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้มีประสิทธิภาพ โดย กสม.เตรียมแจ้งข้อมูลการดำเนินงานนับแต่ ธ.ค.2563 ไปยังคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation) หรือ SCA ในเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภายในต้นสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะการแก้ไขข้อกังวลของ SCA ในประเด็นต่างๆ

น.ส.พรประไพกล่าวว่า ประเด็นหนึ่งที่ SCA กังวลคือ ความเป็นอิสระของ กสม. เนื่องจากมาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญและมาตรา 26 (4) ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 กำหนดให้ กสม.ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดในโลก ที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติลักษณะดังกล่าว กสม.มีมติขอแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าว ขณะนี้เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.ป.โดยประสานไปยังฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่กึ่งตุลาการในการไกล่เกลี่ยของ กสม. ซึ่งเห็นควรให้มี
เพื่อให้หาข้อยุติของข้อพิพาทโดยสมานฉันท์ ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยได้อย่างรวดเร็ว

การถูกลดสถานะ กสม.ของประเทศไทย สืบเนื่องจากท่าทีและจุดยืนในสถานการณ์สำคัญๆ อาทิ รายงานผลสรุปการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 และอีกหลายเหตุการณ์ สะท้อนถึงความไม่เป็นอิสระทางการเมือง และภายหลังรัฐประหาร 2557 ภายใต้รัฐบาลทหารและรัฐบาลหลังเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี และต่อมารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดในมาตรา 247 (4) ให้ กสม.ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากแก่การปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องดีที่ กสม.จะหาทางแก้ไขเพื่อคืนสู่สถานะ A เพื่อเป็นความหวังให้กับประชาชนว่าจะมีองค์กรที่คอยตรวจสอบและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังและตรงไปตรงมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image