สะพานแห่งกาลเวลา : โลกที่เชื่อมโยงถึงกัน โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Pixabay)

เมื่อ 27 กันยายนที่ผ่านมา มีการประชุมออนไลน์สำคัญในระดับนานาชาติคู่ขนานกับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ขึ้น

ผู้ที่เข้าร่วมมีทั้งที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลประเทศต่างๆ, ผู้นำด้านสาธารณสุข, ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรับฟังรายงานของคณะทำงานเฉพาะกิจที่นำโดย
ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ว่าด้วยการมองหาหนทางทางวิทยาศาสตร์เพื่อ “ป้องกัน” การเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ หรือแพนเดมิค อย่างที่เราเผชิญกันอยู่ในอนาคต

คณะกรรมการเฉพาะกิจดังกล่าว จัดตั้งโดย “สมาพันธ์เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่ในแหล่งที่มา” (Coalition to Prevent Pandemics at the Source-CPPS) ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อต้นปีนี้ ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถทำให้โลกเราเปลี่ยนจุดโฟกัสจากการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ ไปเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้น โดยการเข้าถึงแหล่งที่มาของโรคระบาดใหญ่ในอนาคต

รายงานของคณะทำงานเฉพาะกิจดังกล่าวยืนยันว่าการ “ป้องกัน” นั้นทำได้โดยการอนุรักษ์พื้นที่ป่า, จัดการกับปัญหาค้าและบริโภคสัตว์ป่า และเพิ่ม “ความมั่นคงเชิงชีวภาพ” ให้กับการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มนุษย์บริโภคกันอยู่ในเวลานี้

Advertisement

ที่สำคัญก็คือ ต้นทุนในการป้องกันที่ว่านี้ ต่ำกว่ามากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา

รายงานของฮาร์วาร์ดระบุว่า การ “ป้องกัน” ในแต่ละปี ใช้เงินประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ แค่ส่วนเสี้ยวของต้นทุนที่ทั้งโลกใช้ในการจัดการกับโควิด-19 ที่ประเมินกันว่าสูงถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์

ในรายงานชิ้นนี้ระบุเอาไว้ว่า โรคระบาดที่เกิดจากสัตว์ มักแพร่ระบาดสู่คนได้ง่ายกว่าปกติมาก เมื่อมนุษย์เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากการเข้าไปล่าเพื่อกินหรือเพื่อการค้า, การทำลายพื้นที่ป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเหล่านั้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่างๆ

ดร.เจน กูดออลล์ นักอนุรักษ์ชื่อดังระดับโลกซึ่งได้รับเชิญมาแสดงปาฐกถาเป็นพิเศษในการนำเสนอรายงานชิ้นนี้ เตือนเอาไว้ว่า มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับธรรมชาติของโลกโดยด่วน

เธอย้ำเอาไว้ว่า สุขภาวะของคนเรา ความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์เรา เชื่อมโยงกับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราอย่างแยกกันไม่ออก

“โควิด-19 เกิดขึ้นจากการที่คนเราทำลายโลกของธรรมชาติไม่หยุดหย่อน ฉกฉวยประโยชน์จากสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงของเราแบบไม่ลืมหูลืมตา เราสร้างสภาวการณ์ที่เป็นการเปิดทางให้เชื้อร้ายเล็ดลอดจากสัตว์มาสู่คนได้โดยง่ายดาย

“นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยโรคจากสัตว์ทั้งหลาย เตือนเราไว้มาก่อนหน้านี้นานปีถึงอันตรายจากโรคระบาดใหญ่ในทำนองโควิด-19 แต่เราไม่ฟัง ตอนนี้เราก็ต้องชดใช้”

ไนเจล ไซเซอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง ซีพีพีเอส เห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาเชื่อว่าการป้องกันการแพร่ระบาดใหญ่ในอนาคต ที่ถูกต้องและชอบธรรมมากที่สุด ก็คือการเข้าไปป้องกันตรงแหล่งที่มาของโรค ซึ่งนั่นก็คือการป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่จากสัตว์มาสู่คน ซึ่งเป็นที่มาของโรคระบาดใหญ่ในระดับแพนเดมิคที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในช่วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

อารอน เบิร์นสไตน์ หัวหน้าคณะทำงานเฉพาะกิจของฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่า การใช้เงินเพื่อ “ป้องกัน” เพียงแค่ 22,000 ล้านดอลลาร์ ถึง 31,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นก็ดีพอที่จะ “พลิกโฉมหน้า” ของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปในทางที่ดีได้

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องของการตระหนักในความเป็นจริงของเรื่องนี้ ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจที่ว่าแต่ละดอลลาร์ที่ใช้ไปในการอนุรักษ์สภาพตามธรรมชาติของโลกให้คงสภาพเดิมของมันอยู่ต่อไปให้มากที่สุด ก็คือการใช้เงินดอลลาร์ที่ว่านั้น อนุรักษ์ตัวตนของคนเรานั่นเอง

เพอร์ โอลส์สัน-ฟริดห์ รัฐมนตรีกิจการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสวีเดน กำชับไว้สั้นๆ แต่มีความหมายอย่างยิ่งว่า

การ “รีเซต” ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ เสียใหม่เป็นสิ่ง “จำเป็น”

วัคซีน เพียงแค่ช่วยคน แต่ไม่ได้ช่วยโลกและธรรมชาติให้คงอยู่คู่กับเราไปอย่างยั่งยืน

นั่นต่างหากที่มีนัยสำคัญสูงสุดในการอยู่รอดของมนุษย์!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image