เดินหน้าชน : ‘ลำเชียงไกร’ โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดพื้นที่ 8,000 ไร่ มีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาเพชรบูรณ์ตอนล่าง ท้ายน้ำอยู่ที่ลำตะคอง ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ที่ 4, 6, 10, 16, ทางชาว อ.โนนไทย กำลังลุ้นอยู่ว่าคันดินพนังกั้นอ่างลำเชียงไกรส่วนตอนล่าง รับน้ำมาจากพื้นที่ จ.ชัยภูมิ และพื้นที่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่เกิดพังทลายตั้งแต่วันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา
กลายเป็นช่องน้ำไหลทะลักหน้ากว้างกว่า 10 เมตร จะเหลือน้ำเก็บไว้ใช้หน้าแล้งนี้หรือไม่

โดยก่อนหน้าที่คันดินจะถูกมวลน้ำกัดเซาะจนแตก ปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 164% จากความจุอ่างทั้งหมดที่ 27.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

จากรายงานข่าวของผู้สื่อข่าวใน จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 แจ้งว่า น้ำที่ไหลล้นออกไปนั้นทำให้ล่าสุดสภาพของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างแห้งลงอย่างรวดเร็ว ทางชลประทานนครราชสีมาเข้าเร่งซ่อมแซมคันดินกันเต็มที่เพื่อลดการสูญเสียน้ำที่ต้องการกักเก็บไว้

ส่วนมวลน้ำลำเชียงไกรที่ทะลักออกไปนั้น ก็สร้างผลกระทบมากมายนอกจากพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจะถูกท่วมจนมิดแล้ว ยังมีถนนมิตรภาพ ถนนสายหลักของโคราชช่วง อ.โนนสูง-อ.คง ถูกน้ำท่วม ส่งผลต่อการเดินรถบนถนนสายนี้ที่ติดยาวหลายกิโลเมตร

Advertisement

รายงานข่าวบอกด้วยว่า เป็นครั้งแรกที่มีน้ำท่วมถนนมิตรภาพสายหลัก ประชาชนที่เดินทางไปยังภาคอีสานต้องเลี่ยงเส้นทางไปใช้เส้นทางอื่นแทน

นอกจากนั้น มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างยังทะลักเข้ามาในลำธารปราสาท ท่วมพื้นที่บ้านธารปราสาท ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง เท่าที่มีการสำรวจพบว่าบริเวณโรงเรียนบ้านธารปราสาทถูกน้ำท่วมสูงมากกว่า 1 เมตร

ขณะที่การช่วยเหลือประชาชนก็เป็นไปอย่างเร่งรีบ เนื่องจากระดับน้ำที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

Advertisement

ปภ.เร่งอพยพผู้สูงอายุและชาวบ้านออกจากหมู่บ้าน หลังน้ำลำเชียงไกรยังทะลักท่วม มวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่างได้ไหลไปสมทบกับมวลน้ำในพื้นที่ อ.โนนสูง เข้าท่วมบ้านเรือน จนทำให้พื้นที่ทั้ง อ.โนนสูง ที่มีอยู่ 8 ตำบลต่างอ่วมน้ำไปตามๆ กัน ระดับน้ำที่ภายหลังลดลงมาก็ยังทำให้ชาวบ้านอยู่อย่างลำบาก เนื่องจากสภาพบ้านและข้าวของเครื่องใช้ ทั้งเครื่องมือการเกษตรจนถึงอุปกรณ์ในบ้านเสียหายไปทั้งหมด

ชาวบ้านหลายหมู่บ้านต้องอพยพออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย ด้วยความร่วมมือของ ปภ.จังหวัดนครราชสีมา มูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา ที่จัดทีมอาสาสมัครกู้ภัยฮุก 31 และทีมตอบโต้ภัยพิบัติน้ำท่วม ปี 2564 เข้าช่วยอพยพชาวบ้านในจุดวิกฤต และยังต้องช่วยกันขนส่งอาหารและน้ำเข้าไปส่งถึงประตูบ้านแต่ละหลังที่ยังพออาศัยได้

นี่คือความเสียหายที่เกิดขึ้น แทบจะเรียกได้ว่าพื้นที่หลายแห่งใน อ.โนนสูง ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

ในส่วนของ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้องก็ทำงานอย่างเต็มที่ กล่าวให้เห็นสภาพอุทกภัยด้วยว่า สถานการณ์ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จะมีปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรเป็นหลัก ส่วนลุ่มน้ำอื่นๆ ทั้งลุ่มน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำมูลบน ยังไม่มีปัญหามากนัก ส่วนพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมหนักอยู่ที่ อ.โนนไทย อ.โนนสูง และ อ.พิมาย โดยเฉพาะ อ.พิมาย ถือว่าเป็นพื้นที่รับน้ำจากทุกลุ่มน้ำที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหลายจุดเพื่อผลักดันน้ำให้เคลื่อนผ่านตัว อ.พิมาย ให้เร็วที่สุด ยังมีทั้งการวางแนวกระสอบทรายในพื้นที่ต่างๆ ทั้งย่านเศรษฐกิจ ชุมชน และโบราณสถาน ขณะนี้ก็หวังว่าจะไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม
ระดับน้ำที่ไหลออกจากอ่างลำเชียงไกรก็จะลดตามด้วย ทุกอย่างจะเริ่มนิ่งใน 7-14วัน

เมื่อรวบรวมความเสียหายแล้ว ประเมินคร่าวๆ ล่าสุด ใน จ.นครราชสีมา ครั้งนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วจำนวน 16 อำเภอ จาก 32 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 53 ตำบล จำนวนกว่า 5,500 ครัวเรือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image