หกตุลารำลึก! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

หกตุลารำลึก! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

สังคมไทยผ่านเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มาถึง 45 ปีแล้ว… นับว่านานมากพอสมควรสำหรับหลายคนที่เติบโตในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์ จนอาจจะรู้สึกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า แต่หากมองผ่านการเมืองไทยปัจจุบัน เราอาจต้องยอมรับว่า แม้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ จะเป็นเรื่องเก่า แต่ก็มีมรดกที่ถูกทิ้งไว้เป็น “ข้อคิดและบทเรียน” ให้แก่สังคมไทยอย่างที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติของเวลา

ว่าที่จริงแล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คือ การ “ล้อมปราบใหญ่” ที่กลุ่มขวาจัดตัดสินใจยุติบทบาทของขบวนนักศึกษาประชาชนที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญใน

วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งหากมองในมิติทางรัฐศาสตร์แล้ว การเปลี่ยนแปลงในปี 2516 อาจจะต้องถือว่าเป็น “การปฏิวัติทางการเมือง” ของสังคมไทย ที่ในด้านหนึ่งก่อให้เกิดการล้มลงของระบอบทหารที่สืบทอดอำนาจมาตั้งรัฐประหาร 2490 และในอีกด้านหนึ่งส่งสัญญาณให้เห็นถึงการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมในหมู่นิสิตนักศึกษาไทยอย่างชัดเจน แม้ต่อมากระแสนี้ในหมู่นักศึกษาจะมีทิศทางแบบ “เอียงซ้าย” ก็ตาม

แต่ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไทยในปี 2516 อยู่ในกระแสสงครามเย็นในภูมิภาค ที่มีแกนกลางอยู่กับปัญหาสงครามเวียดนาม ซึ่งสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจใหญ่ตัดสินใจเข้ามามีบทบาทโดยตรง ด้วยความเชื่อในทางอุดมการณ์ว่า จะต้องหยุดการขยายตัวของคอมมิวนิสต์เวียดนามให้ได้ เท่าๆ กับที่จะต้องปิดล้อมการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในลาวและกัมพูชาด้วย และเชื่ออย่างมั่นใจว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งไทยและประเทศในภูมิภาคมีความปลอดภัยจากการคุกคามของลัทธิ
คอมมิวนิสต์

Advertisement

สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักของบรรดาผู้นำปีกขวาในภูมิภาค ซึ่งก็รวมถึงผู้นำไทยด้วย ยุทธศาสตร์นี้มีทรรศนะที่ชัดเจนว่า “คอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลัก” ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐ อันส่งผลให้สหรัฐมีสถานะเป็น “ผู้นำพันธมิตรตะวันตก” ในสงครามเย็น ในเงื่อนไขเช่นนี้ ผู้นำฝ่ายขวาทั้งหลายจึงพยายามที่จะควบคุมการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในบ้านของตัวเองให้ได้ โดยเฉพาะการใช้มาตรการทางทหาร เพราะชัยชนะของคอมมิวนิสต์ในประเทศหนึ่งย่อมส่งผลทางการเมืองโดยตรงต่อประเทศข้างเคียง หรือหากประเทศหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศในภูมิภาคจะเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วย

ดังนั้น สำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาที่กรุงเทพฯ พวกเขาจึงไม่เพียงเผชิญหน้ากับกระแสความตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ภายในสังคมไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีกระแสความผันผวนทางการเมืองและสงครามในภูมิภาคอีกด้วย สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การเติบโตของขบวนนิสิตนักศึกษาหลังปี 2516 กับปัญหาสงครามคอมมิวนิสต์ทั้งในบ้านและนอกบ้านกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกัน จนกลายเป็นปัญหาความมั่นคงอย่างมีนัยสำคัญต่อบรรดาชนชั้นนำและผู้นำฝ่ายขวา โดยเฉพาะผู้นำทหาร

ความท้าทายด้านความมั่นคงในภาวะเช่นนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวล อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในอินโดจีน เมื่อเวียดนามและกัมพูชา “แตก” หมายถึงระบอบการปกครองเดิมของประเทศทั้งสองล้มลง พร้อมกับชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนเมษายน 2518 และต่อมาในช่วงปลายปี ระบอบการปกครองเก่าของลาวก็สิ้นสุดตามไป จนเปรียบเทียบได้กับ “โดมิโนสามตัว” ที่ล้มตามกันในอินโดจีน

Advertisement

การล้มลงของรัฐบาลฝ่ายขวาในอินโดจีนทำให้เกิดคำถามอย่างมีนัยสำคัญถึงความอยู่รอดของไทย กล่าวคือ เมื่อโดมิโนกัมพูชาล้ม… ตามมาด้วยเวียดนามล้ม… ต่อมาด้วยลาวล้ม ถ้าเช่นนั้นแล้ว โดมิโนไทยจะล้มตามไปด้วยหรือไม่?

เมื่อโดมิโนทั้งสามตัวล้มตามกันในอินโดจีนแล้ว โดมิโนตัวที่สี่ที่กรุงเทพฯจะต้องล้มตามกันไปด้วย ดังเช่นที่ทฤษฎีของสหรัฐอธิบายไว้ แต่ไม่ว่าการล้มของโดมิโนไทยจะเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในกลุ่มปีกขวาทั้งหลายก็คือ การก่อตัวของความกลัวทางการเมืองที่เพิ่มมากขึ้นไม่หยุด

ถ้าเช่นนั้น คำถามกลับขมวดปมอย่างท้าทายว่า ถ้าจะไม่ให้ “โดมิโนไทย” ล้ม… ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และพวกผู้นำปีกขวาทั้งหลายของไทย จะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในข้างต้น ซึ่งสำหรับรัฐบาลฝ่ายขวาแล้ว คำตอบมีเพียงประการเดียว คือการ “ปราบ”… ด้วยความเชื่อแบบ “การทหารนำ” ว่า การใช้กำลังเป็นเครื่องมือของการควบคุมสถานการณ์ และเชื่อเสมอว่า ใช้กำลังปราบมากเท่าใด ก็ยิ่งคุมสถานการณ์ได้มากเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่งจะพบว่า หลังจากสามโดมิโนล้มในอินโดจีนในปี 2518 แล้ว สังคมไทยมีความหวาดกลัวทางการเมืองอย่างมาก ขบวนนิสิตนักศึกษาที่เริ่มเอียงซ้ายไปกับกระแส “ต่อต้านอเมริกา” จากผลพวงของสงครามเวียดนาม และขยับไปสู่กระแส “โปรจีน” ในเวทีโลก ทิศทางของขบวนนิสิตนักศึกษาจึงถูกมองผ่าน “แว่นตาความมั่นคงของฝ่ายขวาจัด” ว่าเป็นภัยคุกคาม และที่สำคัญมองว่าขบวนนักศึกษาอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้โดมิโนล้มที่กรุงเทพฯ ฉะนั้น เมื่อโดมิโนอินโดจีนล้มแล้ว คำตอบในหมู่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกับบรรดากลุ่มขวาทั้งหลาย มีความเห็นร่วมกันในการจัดการปัญหาความมั่นคงไทย ซึ่งคำตอบเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ ถึงเวลาที่จะต้องยุติบทบาทของขบวนนิสิตนักศึกษา แม้จะต้องใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือก็ตาม

สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเมืองจึงถูกแปลงให้เป็นปฏิบัติการต่อต้านขบวนนิสิตนักศึกษาโดยตรง และการต่อต้านเช่นนี้ไม่มีอะไรง่ายเท่ากับการใส่ร้ายป้ายสีในรูปแบบต่างๆ ผลจากปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่การ “แบ่งขั้ว-แยกข้าง” ในสังคมอย่างเด่นชัด และยิ่งปลุกระดมมากเท่าใด สังคมไทยก็ยิ่งแตกแยกมากเท่านั้น แต่สำหรับฝ่ายขวาและผู้นำทหารแล้ว การปลุกระดมโฆษณาทางการเมืองเป็นหนทางสำคัญในการสร้าง “มวลชนฝ่ายขวา” และหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการจากฐานมวลชนปีกขวาจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และระบอบเผด็จการจะเป็นหลักประกันของความสำเร็จในการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์

ฝ่ายขวาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการเช่นที่กล่าวในข้างต้นจะเป็นวิธีการป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ดีที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การล้อมปราบนักศึกษาด้วยกำลังอาวุธของฝั่งรัฐและฝ่ายขวาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทางยุทธการ

การปราบปรามด้วยการ “สังหารกลางเมือง” ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การเผา การแขวนคอ การล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดรวมถึงการทำร้ายในรูปแบบต่างๆ ล้วนเกิดในแบบที่ผู้นำไทยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศหรือไม่ เพราะพวกเขาถือเอาการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เป็นทิศทางหลัก และขณะเดียวกันก็ต้องการแสดงให้เวทีโลกเห็นถึงการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในบ้านอย่างเอาจริงเอาจัง

แต่ผลที่เกิดไม่เป็นดังความคาดหวัง… การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม พลิกเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ที่ทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยขยายตัวมากขึ้น จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า สงครามนี้อาจจะจบลงด้วยการที่ไทยกลายเป็น “โดมิโนตัวที่ 4”… สงครามคอมมิวนิสต์ในชนบททวีความรุนแรงมากขึ้น และเริ่มส่งสัญญาณถึงการที่รัฐไทยกำลังก้าวสู่สถานการณ์ “สงครามกลางเมือง”

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผู้นำไทยจะทำอย่างไร… จะเลือกหนทางใดที่ไทยจะไม่ล้มตามไปกับรัฐบาลอินโดจีน?

ถ้าสู้ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการที่ใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” ด้วยทิศทางมุ่งปราบปรามเป็นหลักเช่นในแบบปี 2519 แล้ว โดมิโนมีโอกาสล้มที่กรุงเทพฯแน่นอน และอาจไม่แตกต่างจากกรณีของเวียดนามใต้

แต่ถ้าต้องคิดด้วยการแสวงหาแนวทางยุทธศาสตร์ใหม่ คำตอบที่ท้าทายคือ การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย และมีนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” อันจะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการล้มตามกันได้ แต่การที่จะเปลี่ยนการเมืองไปสู่ทิศทางใหม่ได้ ก็จะต้องเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลให้ได้เสียก่อน

แล้วในที่สุดรัฐประหารตุลาคม 2520 ก็เกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนของ “กลุ่มทหารหนุ่ม” หรือ “กลุ่มยังเติร์ก” เพื่อเอารัฐบาลปีกขวาของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ออกจากอำนาจ อันส่งผลให้เกิดการปรับทิศทางยุทธศาสตร์ของรัฐไทย โดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และตัดสินใจครั้งสำคัญในทางการเมืองคือ การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษาในคดี 6 ตุลาคม 2519 และรวมถึงผู้เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวทั้งหมด แม้กลุ่มปีกขวาจะไม่พอใจต่อการนิรโทษกรรม แต่ต้องยอมรับว่า การตัดสินใจครั้งนี้คือ จุดเริ่มต้นอย่างมีนัยสำคัญกับการสร้างความปรองดองเพื่อรองรับการสิ้นสุดของสงครามอุดมการณ์ในสังคมไทย

ผลสืบเนื่องจากการคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งหลังจากการประกาศนิรโทษกรรมคือ การที่รัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศ “ยุทธศาสตร์ใหม่” ด้วยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับที่ 66/2523 และตามมาด้วยฉบับที่ 65/2525 การประกาศเช่นนี้ส่งผลโดยตรงต่อการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของรัฐในการทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ และยังมีนัยที่สำคัญถึงการยอมรับว่า “ระบอบประชาธิปไตย” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้รัฐไทยชนะสงครามคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยอมรับว่า การสร้างความแตกแยกด้วยการสร้างความเกลียดชังในสังคมไทยไม่ใช่หนทางของการแก้ปัญหา มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น

ในที่สุดแล้ว สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็เริ่มลดระดับความรุนแรงลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2526 รัฐบาลกรุงเทพฯก็ประกาศชัยชนะในสงครามนี้

หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ในอดีต จะเห็นได้ว่าสงครามคอมมิวนิสต์ที่มีแนวโน้มขยายตัวเป็น “สงครามกลางเมือง” ในยุคหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้นำไทยยอมรับการปรับตัว และยอมรับว่า การสร้างประชาธิปไตยเป็นปัจจัยของการพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง และทั้งหมดนี้ดำเนินการเพื่อไม่ให้ไทยกลายเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไปนานพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในบ้าน แต่บทเรียนของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลา ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สังคมไทยหวนคืนสู่วังวนของความขัดแย้งอีกครั้งไม่แตกต่างจากยุคสงครามคอมมิวนิสต์ และยังหาทางออกไม่ได้ แต่ดูเหมือนผู้นำไทยปัจจุบันไม่ต้องกังวลมาก เพราะไม่มีสงครามเป็นเงื่อนไขบังคับ ไม่ต้องกลัวการล้มของโดมิโนเช่นในอดีต การดำเนินนโยบายแบบขวาจัด รวมถึงการใช้มาตรการเชิงกำลังจึงเห็นได้อีกครั้งในการตอบโต้การชุมนุมประท้วงของฝ่ายตรงข้าม พร้อมกับมีการขยายบทบาททางการเมืองของทหารมากขึ้น จนเป็นดังการกลับมาของนโยบาย “การทหารนำการเมือง” ของยุคปัจจุบัน ซึ่งเสมือนกับสังคมไทยเดินย้อนเวลากลับสู่ยุคปี 2519 อีกครั้ง

45 ปีหลัง “6 ตุลาฯ 19” ผู้นำปีกขวาไทยหวนกลับมาเชื่ออีกครั้งว่า การปราบปรามคือชัยชนะ และพวกเขาสามารถพาสังคมไปขวาสุดทางได้ตามใจปรารถนา จนดูเหมือนพวกเขาละเลยบทเรียนสำคัญของปี 2519 ว่า รัฐไทยชนะด้วย “การเมืองนำการทหาร” และถือเอา “การสร้างประชาธิปไตย” เป็นหนทางหลักในการต่อสู้เพื่อไทยจะไม่เป็นโดมิโนตัวที่สี่ของภูมิภาค!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image