ภาพเก่าเล่าตำนาน : เนเธอร์แลนด์ นักสู้ ผู้พิชิตน้ำท่วมโดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์…ใช้พลังสมองสร้างโครงการ Delta Works เพื่อมนุษย์จะ “ใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ” ไม่ยอมให้น้ำมา “คุกคาม” ชีวิตความเป็นอยู่ …ไม่ขอยอมแพ้พลังธรรมชาติ

โครงการนี้…ได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกสมัยใหม่ด้านวิศวกรรมโยธา

“ฮอลแลนด์” เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการในภาษาอังกฤษ เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นมณฑลหนึ่งทางตะวันตกของประเทศ “เนเธอร์แลนด์” ชาวยุโรปเองก็เรียกแบบสลับไป-มา แต่ก็เข้าใจ

ในอดีตเมื่อราว 400 กว่าปีมาแล้วนักแล่นเรือจากฮอลแลนด์ (ชาวสยามเรียกว่า “ชาวฮอลันดา”) คือ มหาอำนาจทางทะเล เก่งฉกาจในการเดินเรือข้ามมหาสมุทร ก้าวหน้า ล้ำยุคกว่าใครในทางศิลปะ วิทยาการ กำลังทหาร และอาวุธ

Advertisement

ฝรั่งฮอลันดา ตั้งใจแล่นเรือข้ามโลกมาค้าขาย และยังมี “เรือปืน” มาเป็น “กำปั่นเหล็ก” เบ่งกล้ามโชว์…ทุกนครรัฐหวั่นเกรง….

ไม่น่าเชื่อ..แต่ต้องเชื่อ…แผ่นดินอยุธยา ในปลายสมัยสมเด็จพระพระนเรศวรมหาราช และแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ มีการติดต่อสัมพันธ์กับฮอลันดา

พ.ศ.2147 เรือสินค้า และทูตฮอลันดาเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกใน โดยมาถึงเมืองปัตตานี…แล่นเรือต่อมาถึงอยุธยา

Advertisement

จุดมุ่งหมายสำคัญของฮอลันดา คือต้องการแล่นเรือไปซื้อสินค้าจากจีนและหาช่องทางเข้าไปค้าขายในประเทศจีน

อยุธยามี ของป่าและธัญญาหาร เช่น ไม้ยาง ไม้กฤษณา ดีบุก หนังสัตว์ น้ำมันมะพร้าว และข้าว ชาวฮอลันดาจึงเห็นประโยชน์จากการเข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา

พ.ศ.2151-2308 ตั้งสถานีการค้าที่กรุงศรีอยุธยา

ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดากับราชสำนักอยุธยารุ่งเรืองมาก

พ.ศ.2151 คณะทูตไทยเดินทางไปกรุงเฮก ถวายพระราชสาส์นแด่กษัตริย์ฮอลันดา นับเป็นคณะทูตไทยชุดแรกที่เดินทางไปถึงทวีปยุโรป

ชาวฮอลันดา แล่นเรือสำเภาข้ามโลก มาค้าขายในเอเชียแข่งกับชาวยุโรปชาติอื่นๆ

บทพิสูจน์ คือ ฮอลันดา ตั้งสถานีการค้าใหญ่โต เลยเถิดไปถึงการยึดดินแดน “ชวา” ปัจจุบัน คือ อินโดนีเซีย

คนทั่วโลก เรียก “คน” ในดินแดนตรงนี้ว่า ชาวดัตช์

เกริ่นนำด้วยประวัติศาสตร์เพื่อบอกความเก่ง กล้า ของชาวดัตช์

ประเด็นหลักที่จะขอชวนพูดคุยคือ …“ชาวดัตช์” คือ ชนชาติที่ “บริการ-จัดการน้ำ” ได้เย้ยฟ้า ท้าน้ำ แบบชาวโลกยกย่อง

ประเทศเนเธอร์แลนด์ อยู่บนทะเลเหนือที่ปากแม่น้ำไรน์และมิวส์ มีแม่น้ำและทะเลสาบ พื้นที่ต่ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ เหมือนใยแมงมุม

ดินแดนตรงนี้อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จุดต่ำสุดในเนเธอร์แลนด์ คือ ที่ลุ่มใกล้กับเมืองรอตเตอร์ดัม ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 7 เมตร

ชาวดัตช์คือ ชนเผ่าที่สู้ เผชิญกับภัยพิบัติจากน้ำมาหลายร้อยปี

นี่เป็นเหตุผลที่ ชาวดัตช์ ผลิต “กังหันลม” นับหมื่น นับแสนทั่วพื้นที่เพื่อการระบายน้ำ ไล่น้ำไปให้พ้น

กังหันลมจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของฮอลแลนด์

(อันที่จริง..หลายพื้นที่ในโลกนี้ มนุษย์ก็ตั้งใจจะเผชิญและขอใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ..บรรพบุรุษไทย ก็อยู่กับน้ำมาตั้งแต่โบราณกาล อยุธยา คือ “สมรภูมิรบ” ที่พม่าต้องขยาดเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ชาวยุโรปที่แล่นเรือสำเภาเข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็บันทึกว่า ชาวสยามจำนวนมหาศาล…ใช้ชีวิต-ครอบครัวอยู่บนแพ )

เนเธอร์แลนด์ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และมีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 4 ของประเทศ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ถ้าไม่มีการป้องกันจะถูกน้ำท่วมจากทะเล แม่น้ำ และทะเลสาบ ในพื้นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจะมีความเสี่ยงกับน้ำท่วม

สภาพภูมิอากาศ น้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้น และการขยายตัวของประชากร พื้นสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของเนเธอร์แลนด์มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นนั้น จึงต้องมีการออกแบบการจัดการน้ำ เพื่อป้องกันและเตรียมรับมือกับน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซาก

พ.ศ.2496 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในทะเลเหนือ เป็นหายนะของประเทศ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างและคร่าชีวิตผู้คนไป 1,835 คนทั่วประเทศ

ในเมืองอัมสเตอร์ดัม… อาคารหลายแห่งในเมืองเก่า สร้างบนฐานของกองไม้ที่ฝังลึกลงไปในดิน เนื่องจากดินพรุไม่แข็งพอในตัวเอง เมื่อดินแห้งมากขึ้นในช่วงเดือนที่อากาศอบอุ่น ไม้ก็เริ่มพังทลาย

หลังจากฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง อาคารในเมืองทรุดตัว

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ “ขอยืนหยัดต่อสู้” เพื่อปกป้องมาตุภูมิ

พ.ศ.2536 และ 2538 น้ำท่วมในแม่น้ำไรน์และแม่น้ำมิวส์ทำให้มีผู้อพยพออกจากบ้านมากกว่า 200,000 คน

นี่คือ การกระตุ้นให้มีการก่อสร้าง Delta Works ซึ่งเป็นระบบป้องกันน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ

หายนะที่เจ็บปวด…ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อการ “ป้องกัน” ภัยพิบัติ และในไม่ช้าก็ปูทางสำหรับโครงการ “ที่อยู่ของน้ำ” (Room for the River คนไทยเข้าใจดีว่า..คือ แก้มลิง)

นักวิชาการ รัฐบาล เห็นตรงกันว่า Room for the River คือ หัวใจในการทำงาน และ ได้ผลจริง

ตรงนี้สำคัญที่สุดนะครับ… เมื่อจะทำโครงการขนาดยักษ์ เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน ถ้าเริ่มจากการโกงกิน แบ่งเปอร์เซ็นต์ หาเงิน…ก็ต้องจมน้ำกันต่อไปทั้งชาติ

งานวิชาการ…ไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันเสมอไป…แต่ต้องไม่เตะตัดขา ไม่ลอบกัด ไม่ทรยศต่อหลักการ

ชาวดัตช์ ตั้งใจจะใช้ชีวิตตรงนี้ ขออยู่แบบ “สู้กับน้ำ” ทั้งชีวิต

ทุกอย่าง..มีจุดเริ่มต้น

วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2546 ได้มีการเปิดตัวแคมเปญโดยมีสโลแกนว่า ‘Nederland leeft met Water’ ซึ่งแปลได้คร่าวๆ ว่า ‘ชาวดัตช์อาศัยอยู่ร่วมกับน้ำ’ หรือ ‘ชาวดัตช์พึ่งพาน้ำ’ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ความสัมพันธ์ระหว่างชาวดัตช์กับน้ำกำลังถูกจัดการ

กลางปี 2551 ผู้คนต่างให้ความสนใจกับคำถามว่าจะจัดการกับน้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างไรในอนาคต ผ่านทางการโฆษณาทางวิทยุและโทรทัศน์ ป้ายโฆษณา และอินเตอร์เน็ต

มีการศึกษา สำรวจ นักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องกันว่า …ไม่สามารถเอาชนะธรรมชาติได้.. แต่จะป้องกันได้

ชาวดัตช์ ขอคิดเอง ขอทำเอง

ภัยพิบัติ พายุที่กระหน่ำมานานนับร้อยปี ทำให้เกิดน้ำท่วมในฤดูหนาวมัน คือ ความตายของชาวดัตช์ที่แสนทรมาน

รัฐบาลตัดสินใจทุ่มงบประมาณ 2.4 แสนล้านบาท สร้าง Delta Work หลักๆ คือมี “พนังกั้นน้ำ” ที่สามารถสกัดคลื่นสูงถึง 40 ฟุต จากระดับน้ำทะเลยาวถึง 600 กิโลเมตร

ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ ภาคประชาสังคม และหน่วยงานจากทุกระดับของรัฐมารวมกันทำงาน

Delta Work เป็นโครงการพัฒนาระบบจัดการน้ำ และควบคุมผลกระทบจากภัยพิบัติทางน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นโครงการทางวิศวกรรมขนาดยักษ์ เกิดสิ่งก่อสร้างทางวิศวกรรมที่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวได้ยั่งยืน

เริ่มแรก… โครงการนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง “ทะเลสาบน้ำจืดขนาดยักษ์” ซึ่งสิ่งนี้…จะทำให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ด้วยการสูญเสียระบบนิเวศของน้ำเค็มทั้งหมดและมีผลกระทบต่อการประมงในทุกรูปแบบ

ปิดปากแม่น้ำ Rhine, Maas และ Schelde

เกิดการคัดค้าน จากนักสิ่งแวดล้อมและชาวประมง มีการถกเถียงในรัฐสภาให้แก้ไขรูปแบบ แทนที่จะสร้างเขื่อนกั้นปากแม่น้ำ

รัฐบาลยอมปรับแผน….โดยขอสร้าง “แนวป้องกันคลื่นพายุ” โดยพื้นฐานแล้วนี่คือวาล์วปิด-เปิดน้ำทะเล ขนาดมโหฬารที่สามารถปิดได้เมื่อพายุกระหน่ำ

แนวป้องกันคลื่นพายุ จะปิดก็ต่อเมื่อคาดว่าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ภายใต้สภาวะปกติ ปากน้ำจะเปิดออก และน้ำเค็มก็ไหลเข้าและออกตามกระแสน้ำ ผลจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิด จำเป็นต้องเสริมกำลังเขื่อนกว่า 200 กม.

แนวคิดที่ปรับใหม่ ทำให้กระทบต่อเส้นทางคมนาคม เนื่องจากการใช้งานเครื่องกีดขวางมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การประมง และระบบบริหารจัดการน้ำ แต่ก็มีทางออก…

การตัดสินใจในการเปิดหรือปิดประตูจึงได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ความปลอดภัยของคันกั้นน้ำโดยรอบได้รับผลกระทบจากการดำเนินการกีดขวาง

ในทางเทคนิค และ ทางสภาพระบบนิเวศ ถือว่า ลงตัว

นักวางผังเมืองและสถาปนิกรุ่นใหม่ที่มีความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ เห็นพ้องในโครงการ โดยเฉพาะที่ตั้งเมืองและที่พักอาศัยที่ต้องสอดคล้อง…จะปลอดภัยจากน้ำท่วม

การก่อสร้างโครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังเป็นการป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจของเมืองรอตเตอร์ดัมและมืองแอนต์เวิร์ป อันเป็นเมืองท่าที่สำคัญของยุโรปด้วย

ในระบบงานย่อย สร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากอ่าว เพื่อควบคุมน้ำทะเลไม่ให้ทะลักเข้าแม่น้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน

ชาวดัตช์ สร้างเรือดูดทรายขนาดยักษ์ ดูดทรายจากท้องน้ำ ท้องทะเล แล้วพ่นไปในอากาศ ไปถมพื้นที่ใหม่ เหมือนการย้ายพื้นที่บก สร้างทะเลแบบอัศจรรย์…นักวิชาการทั่วโลกขอไปดูงาน

ปรับพื้นที่โดยการสูบน้ำออกจากทะเลสาบและทางน้ำต่างๆ เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ เช่นสามารถสร้างเขื่อน ทางระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำจำนวนมาก เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ ประสบสภาวะน้ำท่วม

โครงการอัจฉริยะเพื่ออยู่ และ สู้กับน้ำระดับโลก เสร็จเมื่อ พ.ศ.2540 ชาวโลกประจักษ์ต่อสายตา ว่าเนเธอร์แลนด์ มีสิ่งก่อสร้างด้านวิศวกรรมการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

กำแพงกั้นคลื่นทะเล ซึ่งทำหน้าที่กั้นบริเวณปากแม่น้ำและตลอดลำน้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นทั้งแบบที่กั้นถาวรและแบบที่สามารถเปิด-ปิดให้สัญจรทางน้ำได้ รวมทั้งหมด 14 แห่ง ประกอบ
ด้วย

หลักการทำงานของ Delta Works คือ ทำหน้าที่กั้นน้ำทะเลและแม่น้ำออกจากกัน

ประตูปิด-เปิดน้ำทะเลขนาดยักษ์ 1 เดียวของโลก ในเนเธอร์แลนด์แดนกังหันลม ยังส่งผลดีต่อตัวชายฝั่ง ไม่เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง พื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนไม่หายไปไหน ส่วนที่อยู่ด้านในเขื่อนก็ยังคงเป็นน้ำจืดไม่มีน้ำเค็มจากทะเลเข้ามาปนเปื้อน สามารถนำมาใช้ในการเกษตรได้ โดยที่ประตูระบายน้ำไม่ได้ทำหน้าที่ปิดกั้นน้ำทะเลอย่างถาวร แต่จะปิดเฉพาะเวลาที่มีคลื่นลมแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำทะเลทะลักเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนได้

ปลายกรกฎาคม 2564 น้ำท่วมหนักในเยอรมนีและเบลเยียม มีผู้เสียชีวิต เนเธอร์แลนด์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย

นี่มิใช่ปาฏิหาริย์ แต่คือ พลังสมอง ของชาวดัตช์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image